xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กตู่นำร่องใช้ม.44 แก้วิกฤตการบิน จีน-เกาหลีแบนตามยุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกฯ จ่อใช้อำนาจมาตรา 44 ลัดขั้นตอนแก้ กม.แก้ปัญหา ICAO ลดเกรดการบินประเทศ แฉปัญหาหมักหมม นักการเมืองไม่แก้ไข พร้อมเร่งเยียวยาลูกทัวร์คนไทยซื้อตั๋วล่วงหน้า ด้านคมนาคมขยับตั้ง กก.เร่งรัดแก้ปัญหาตามเกณฑ์ ICAO ปรับลดขั้นตอนจาก 1-2.5 ปีเหลือ 2-8 เดือน ขณะที่จีน -เกาหลีใต้แจ้งตรงสายการบินประเภทเช่าเหมาลำ เม.ย.ยังไม่อนุมัติเส้นทางบิน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ต้องเร่งแก้ปัญหามาตรฐานกรมการบินพลเรือน (บพ.) ของประเทศไทย ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาตรวจนานแล้ว จากเดิมที่มี 300,000 เที่ยวบินต่อปี ตอนนี้เพิ่มเป็น 600,000 เที่ยวบินต่อปี แต่คนดูแลเรื่องนี้มี 12 คน ถามว่าเกิดอะไรขึ้น อธิบดีกรมการบินพลเรือน ชี้แจงว่าได้เสนอขอปรับโครงสร้าง แก้กฎหมาย เพิ่มกำลังคน เพิ่มงบประมาณ แต่ไม่ได้รับการเอาใจใส่ จึงเป็นแบบนี้ พอรัฐบาลนี้เข้ามาได้เดินหน้าแก้ปัญหา ซึ่ง ICAO ให้เวลาแก้ไข ดังนั้นต้องให้ความเป็นธรรมกับผมและอธิบดีกรมการบินพลเรือนด้วย เพราะเสนอให้แก้ปัญหามาตลอดแต่ทางฝ่ายการเมืองไม่แก้ปัญหาให้

โดยตนจะใช้มาตรา 44 ในการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหากรณี ICAO หรือปรับโครงสร้างต่างๆ เพราะตามกระบวนการปกติ จะต้องใช้เวลาแก้พ.ร.บ.ก่อน ต้องเข้าครม. เสนอ สนช. แต่ตอนนี้ต้องเร็วที่สุด ซึ่งในวันที่ 30. มี.ค.กระทรวงคมนาคม จะประชุมหารือ ตั้งกรรมการที่จะแก้ปัญหา โดยมาตรา 44 ให้อำนาจตนสามารถทำในสิ่งที่เกิดความสงบเรียบร้อยภายในประเทศได้เลยโดยไม่ต้องอาศัยอำนาจทั้ง 3 ขั้นตอน ซึ่งตนจะใช้อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้งานรวดเร็วขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า กรณีญี่ปุ่นห้ามสายการบินสัญชาติไทยเพิ่มเที่ยวบินหรือเปิดเส้นทางบินใหม่ช่วงนี้ ได้พูดคุยกับนายชินโซ อะเบะ นายกรัฐมนตรี ของประเทศญี่ปุ่นแล้ว ซึ่งท่านจะพิจารณาให้ เท่าที่พูดคุยกับญี่ปุ่น ก็บอกว่าค่อนข้างมีปัญหานักท่องเที่ยวมีจำนวนมากต้องจัดระเบียบ พอทางเราพลาดก็เป็นเหตุเป็นผล เพราะทางการเมืองกำลังจะเลือกตั้งด้วย

อยากให้รอฟังผลอีกที คงเห็นถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันบ้าง แต่สิ่งสำคัญหากบินไปแล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา ไทยต้องรับผิดชอบเต็มๆ ดังนั้นอย่ามองเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวเมื่อจำเป็น ต้องทำตามกติกาเพื่อให้ยอมรับว่า เราไม่ได้ฝืนกฎสากล และเมื่อวันที่ 29 มี.ค. ได้พบกับนายกฯ เกาหลีรวมถึงหลายประเทศทั้งอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ก็ยังไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนนักท่องเที่ยวคนไทยที่ซื้อตั๋วไปแล้วก็ต้องหาทางเยียวยาแก้ไข เรื่องนี้ ยอมรับว่า มีผลเสียคือ ช่วงสงกรานต์ คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นได้น้อยลง คนญี่ปุ่นมาไทยได้น้อยลง ก็มาเที่ยวในประเทศกัน แต่วันข้างหน้าเมื่อแก้ปัญหาได้ จะกลับมาเหมือนเดิม

"ตอนนี้แก้ไขเต็มที่แล้ว ได้เท่านี้ ก็ต้องไปถามทำไมไม่ทำ ไม่แก้ปัญหา ปล่อยให้ถึงวันนี้ แก้ตัวกันอยู่ได้ แล้วมาลงที่ผม เรื่องนี้เกิดมานานแล้ว ทั้งเรื่องประมง แรงงานต่างด้าว การค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุกรัฐบาลต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมให้ได้ ต้องชัดเจน ในเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เพราะมีการเตือนมาแล้ว ต้องมีมาตรการเผชิญความเสี่ยงเหล่านี้" นายกรัฐมนตรีกล่าว

***คมนาคมเพิ่งตื่นตั้ง กก.แก้ปัญหา

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคมกล่าวว่า ได้ลงนามในฐานะรมว.คมนาคม แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ 1. คณะกรรมการอำนวยการ แก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือน ของ ICAO มีรมว.คมนาคมเป็นประธาน รมช.คมนาคม เป็นรองประธาน โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้เชี่ยวชาญด้านการบินเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ดูภาพรวมทั้งหมด พร้อมทั้งรายงานต่อนายกรัฐมนตรีทราบทุกสัปดาห์และรายงานผลต่อ ICAO ทุก 15 วัน พร้อมทั้งส่งข้อมูลไปยังสถานทูตทั่วโลกที่มีสายการบินของประเทศไทยทำการบินไป เพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศร่วมเป็นเครือข่ายในการชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่ควบคุมด้านการบินของแต่ละประเทศ เพื่อช่วยผ่อนคลายและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ พร้อมกันนี้ จะส่งทีมงานของกระทรวงคมนาคม บพ. และสายการบินต่างๆ เดินทางไปยังประเทศต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจ โดยได้ไปชี้แจงที่ประเทศญี่ปุ่นแล้วเมื่อวันที่ 27 มี.ค. และต่อไปจะไปที่เกาหลีใต้ จีน ออสเตรเลียและเยอรมนี

2. คณะกรรมการดำเนินงาน แก้ไขปัญหาผลกระทบจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือน ของ ICAO มีนายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ทำหน้าที่วางแผนการดำเนินงาน ประสานงานในทุกด้านที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ICAO ทั้งการปรับโครงสร้างใหม่ โดยแยกด้านนโยบาย (Policy) มาอยู่ที่กระทรวงคมนาคม แยกหน่วยงานกำกับดูแล (Regulator) ออกมา ตั้งเป็นสถาบันการพลเรือนแห่งชาติ ส่วน บพ.จะตั้งกรมขนส่งทางอากาศ เพื่อแยกหน้าที่กันอย่างชัดเจน และดำเนินการแก้ไขกฎหมาย การบรรจุอัตรากำลังคน และงบประมาณ การฝึกอบรม และระบบดาต้าเบส ให้ทันสมัย ควบคู่ไปด้วย

“ วันที่ 1 เม.ย. คณะกรรมการจะเริ่มทำงาน เป็นการบูรณาการทำงานตามที่นายกฯ มอบหมาย ให้แผนงานแก้ปัญหาและรายงานต่อนายกฯ เพื่อให้ได้สั่งการแก้ปัญหาตามมาตรา 11 เพื่อให้ไม่ต้องเข้ากระบวนการระบบปกติ ที่ต้องใช้เวลาเป็นปี เหลือประมาณ 45 วัน - 60 วัน พร้อมกันนี้จะเร่งยกระดับ เป็นกรรมการระดับชาติซึ่งนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้งต่อไป ส่วนการปรับปรุงแผนใหม่นั้นจะรายงานความคืบหน้าต่อ ICAO ภายในวันที่ 5-7 เม.ย.นี้ ว่าไทยได้ดำเนินการอะไรบ้าง ปรับจากแผนเดิมอย่างไร ซึ่งบางหัวข้อเสร็จภายใน 2 สัปดาห์บ้าง ภายใน 6 เดือนบ้าง หรือเสร็จในปีครึ่ง เช่นการปรับโครงสร้าง และใน 2 ปีช้าสุด แต่แผนใหม่จะชัดเจนว่าขึ้นว่าจะแก้ไขเป็นรูปธรรมภายใน 2 เดือน และที่เหลือทุกกรณีจะต้องจบภายใน 8 เดือน”

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ขณะนี้มี องค์การการบินของญี่ปุ่น หรือ Japan Civil Aviation Bureau (JCAB)ได้มีหนังสือแจ้งมายังกรมการบินเรือนไทย อย่างเป็นทางการว่า ได้รับแจ้งจาก ICAO ว่า บพ.ของไทยติดเรื่องข้อบกพร่องที่มีนัยต่อความปลอดภัย (SSC) จึงขอให้ระงับการบินเพิ่มหรือเปิดเส้นทางใหม่ เปลี่ยนแปลงเส้นทาง เปลี่ยนแปลงขนาดเครื่องบิน นับจากวันที่ 24 มี.ค. ส่วนเกาหลีใต้และจีนนั้น ยังไม่ได้มีการแจ้งเป็นทางการมาที่ บพ. แต่ติดต่อไปที่สายการบินที่ทำการขอเพิ่มเที่ยวบินหรือเปิดเส้นทางบิน ทั้งเช่าเหมาลำและแบบประจำ ว่าไม่อนุญาต ซึ่งจะต้องประสานไปในระดับกรมการบินของประเทศ ซึ่งต้องแก้ปัญหาเช่าเหมาที่มีการขายตั๋วไปแล้ว จะประสานงาน ทั้งการใช้เครื่องบินประจำ และเครื่องบินจากต่างประเทศ มาช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น
เราทำได้แค่ประสานงาน

***เกาหลีใต้-จีนไม่อนุมัติช่วง เม.ย.

นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือนกล่าวว่า สายการบินที่กระทบจากมาตรการของญี่ปุ่น คือ เที่ยวบินเช่าเหมาลำ 3 สายการบินช่วงเม.ย.รวมประมาณ 300 เที่ยวบิน คือ ไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ไม่ได้รับอนุญาต ให้ทำการบินไปในเส้นทางฮอกไกโดตลอดทั้งฤดู (มี.ค.-ก.ย.) ประมาณ 100 กว่าเที่ยวบิน ,สายการบินนกสกู๊ต ช่วงเม.ย. สายการบิน เอเชีย แอตแลนติก 27 เที่ยวบิน โดยได้พยายามโอนผู้โดยสารที่จองตั๋วแล้วไปสายการบินประจำ

ประเทศเกาหลีใต้ มีสายการบินเช่าเหมาลำ มี 2 สายการบินคือ สายการบินนกสกู๊ต และสายการบิน เอเชีย แอตแลนติก มี 35 เที่ยวบิน ประมาณ 7,000 คน ส่วนประเทศจีน มีสายการบินแบบเช่าเหมาลำ 3 สายการบินรวม ประมาณ 300 เที่ยวบิน คือ ไทยแอร์เอเชีย ,โอเรียนท์ไทยแอร์ไลน์, สกายวิวแอร์เวย์ โดยในวันที่ 3 เม.ย.นี้จะเดินทางไปเกาหลีใต้เพื่อชี้แจง

**บินไทยไม่เกี่ยวไปญี่ปุ่นตามปกติ

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรณีประเทศญี่ปุ่นห้ามเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำจากไทยเข้าประเทศ เนื่องจากได้รับทราบผลการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล ของ ICAO นั้น มิได้มีผลกระทบถึงผู้ขนส่งทางอากาศของประเทศไทยที่ทำการบินแบบประจำ ซึ่งยังคงสามารถให้บริการขนส่งทางอากาศได้ตามปกติ ในส่วนของการบินไทยขณะนี้ จึงยังไม่มีผลกระทบต่อเที่ยวบินประจำตามตารางการบินภาคฤดูร้อน 2015 (Summer TPI 2015) ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการบินได้ทุกประเทศแล้ว แต่มีผลกระทบต่อเที่ยวบินเช่าเหมาลำจำนวน 2 เที่ยวบิน ที่จะทำการบินไปเมืองโคมัตสุ และเมืองฮิโรชิมา ในช่วงวันที่ 11 และ15 เม.ย.นี้ เท่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น