xs
xsm
sm
md
lg

"แอร์ไลน์"เตรียมเฮ ปัญหาญี่ปุ่นใกล้คลี่คลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ประจิน”เผยญี่ปุ่นส่งสัญญาณดี เชื่อ 1-2 วันนี้ ปัญหาระงับเพิ่มเที่ยวบินและเช่าเหมาลำของไทย ช่วงเม.ย.คลี่คลายแน่ บพ.จับมือแอร์ไลน์ตั้งทีมไทยแลนด์ร่วมหนุนแก้ปัญหามาตรฐานการบิน ด้าน ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์โล่ง ญี่ปุ่นผ่อนปรนเปิดบินกรุงเทพ-ซัปโปโร 1 พ.ค.-30 มิ.ย. ได้ตามแผน มั่นใจสถานการณ์จะแก้ไขได้ ยืนยันไม่หยุดขายตั๋วล่วงหน้าซัปโปโร ด้าน"นายกฯ"ชี้ใช้ ม.44 แก้ปัญหา"ไอซีเอโอ" ภายใน1 เดือน แจงแบ่งเป็น 2 ระยะ เตรียมตั้งองค์กรอิสระกำกับการบิน "กอบกาญจน์" แจง "เกาหลีใต้-จีน" ยังไม่ยกเลิกเที่ยวบินไทย ชี้ยกเลิกกฎอัยการศึก ทำให้ต่างชาติมาประชุมที่ไทยเพิ่ม

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่กรมการบินเรือนของประเทศญี่ปุ่นหรือ Japan Civil Aviation Bureau (JCAB) ไม่อนุมัติให้ สายการบินสัญชาติไทย เพิ่มความถี่ ,เพิ่มเส้นทางบินใหม่ ,เที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และการเปลี่ยนขนาดของอากาศยาน เข้าประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม ซึ่งเป็นผลจากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานกรมการบินพลเรือน (บพ.) ของประเทศไทยและพบข้อบกพร่องที่มีนัยต่อความปลอดภัย (SSC) นั้น ล่าสุดสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดีภายใน 1-2 วันนี้ โดยเมื่อเวลา 16.45 น. ทาง JCAB ได้แจ้งมายังบพ.ว่า ได้พิจารณาและคลี่คลายปัญหาให้ระดับหนึ่ง สายการบินที่ทาง JCABมีคำสั่งระงับหรือไม่อนุมัติการบินในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.จะเริ่มทำการบินได้

ซึ่งเป็นผลมาจากที่ได้พูดคุยร่วมกับ นายฮิโรชิ มูโตะ รองปลัดกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT) ที่เดินทางมาหารือเรื่องความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่นที่กระทรวงคมนาคมวานนี้ (31 มี.ค.) เพื่อขอให้ช่วยอธิบายและขอความเห็นใจ ทางนายฮิโรชิ มูโตะ ได้โทรไปรายงานรัฐมนตรีกระทรวง MLIT ของญี่ปุ่นประกอบกับทางรมช.กระทรวงต่างประเทศของไทยได้ประสานไปยังสถานทูตญี่ปุ่น และทีมงานกรมการบินพลเรือน (บพ.) ได้เดินทางไปหารือกับ JCAB เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นผลจากการช่วยกันในหลายๆทาง

ซึ่งในวันนี้ (1 เม.ย.) จะประชุมคณะกรรมการอำนวยการ ที่มีตนเป็นประธานเพื่อดูรายละเอียดแนวทางของ JCAB ว่าจะมีเรื่องใดที่จะต้องเจรจาต่อรองหรือไม่ ซึ่งจะเร่งให้สรุปผลทันที เพื่อให้สายการบินทำการให้บริการผู้โดยสารและลูกทัวร์ที่ซื้อตั๋วไปแล้วได้ ส่วนในระยะยาวนั้น จะอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขด้านมาตรฐานของบพ.ที่จะเร่งรัดดำเนินการและรายงานต่อ ICAO ต่อไป

7 สายการบินพบ บพ.ตั้งทีมงานร่วม

นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน กล่าวภายหลังผู้บริหารสายการบินของไทย 7 ราย ได้แก่ การบินไทย นกสกู๊ต ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และเจ็ทเอเชีย เข้าพบ ว่า สายการบินและบพ.จะตั้งทีมไทยแลนด์ ขึ้นมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยทั้ง 7 สายการบินจะคอยสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาจากหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมและกรมการบินพลเรือน รวมถึงจะช่วยประสานงาน ICAO ให้เข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยของแต่ละสายการบิน โดยไม่ต้องรอการแก้ไขในส่วนของกรมการบินพลเรือน ทั้งนี้ หากไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามที่ ICAO ต้องการภายในระยะเวลา 8 เดือนจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่เดินทางด้วยสายการแบบเช่าเหมาลำ เส้นทางญี่ปุ่น มากกว่า 1.2 แสนคน โดยในช่วงเดือนเม.ย.มีประมาณ 7 หมื่นคน และช่วงพ.ค.ประมาณ 5 หมื่นคน

ไทยแอร์เอเชียฯโล่งญี่ปุ่นเปิดบินซัปโปโรได้1 พ.ค.ตามแผน

นายนัดดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดเผยว่า ผลจากที่ICAO เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานกรมการบินพลเรือนของไทย ทำให้ การขอทำการบินช่วงฤดูร้อนที่ต่างไปจากการบินที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วทำไม่ได้ ซึ่งข่าวที่ออกมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เพราะไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเป็นสายการบินที่มีเส้นทางบินประจำ ( Schedule Flight) ไม่ใช่เช่าเหมาลำ โดยได้รับอนุมัติเส้นทางแล้ว คือ กรุงเทพฯ-นาริตะ 2 เที่ยวบินต่อวัน กรุงเทพฯ-โอซาก้า 1 เที่ยวบินต่อวัน กรุงเทพฯ-อินชอน 1 เที่ยวบินต่อวัน ยังคงทำการบินได้ตามปกติ

ส่วนเส้นทางที่จะได้รับผลกระทบ คือ กรุงเทพฯ-ซัปโปโร ซึ่งจะเปิดบินตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.นี้ โดย บริษัทได้รับอนุญาตจาก JCAB ให้เปิดจำหน่ายบัตรโดยสาร ตามเอกสาร NO. 5470/5471 ลงวันที่ 15 ม.ค. 2558 ซึ่งได้จองตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเส้นทางบินใหม่ในช่วงฤดูร้อน แต่เนื่องจากบริษัทได้ดำเนินการตามหลักการถูกต้อง ซึ่ง JCAB เข้าใจปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้น บริษัทจึงสามารถเปิดทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโร ในช่วง 1 พ.ค.-30 มิ.ย. ได้ตามปกติรวม 60 วัน ทั้งนี้ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วล่วงหน้าไปแล้วและกำหนดเดินทางหลังวันที่ 30 มิ.ย. กรณีที่ผู้โดยสารไม่สะดวกที่จะเกิดทาง บริษัทมีมาตรการดูแลผู้โดยสาร โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมีทางเลือก 4 ข้อ คือ 1.เปลี่ยนแปลงการเดินทางให้เร็วขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย. 2.เปลี่ยนเส้นทางบินไป-กลับ 1 ครั้ง เดินทาง 1พ.ค.58- 31 พ.ค. 59 ข้อ 3.เก็บยอดวงเงินไว้สำหรับการสำรองที่นั่งครั้งต่อไป ระยะเวลา 90 วัน (Credit Shell) โดยสามารถใช้ในการชำระสินค้าและบริการอื่นของบริษัทได้ 4. คืนเงินได้เต็มจำนวน (Full Refund)

“จากมาตรการ ในการปรับปรุงมาตรฐานของบพ.และการทำงานร่วม JCAB ทำให้เชื่อมั่นว่า ปัญหาจะได้รับการแก้ไข ตอนนี้ยังถือว่ายังไม่กระทบ จำนวนผู้โดยจองแล้วประมาณ 80% จึงไม่ยกเลิกการจองตั๋วหลัง 30 มิ.ย. และจะเปิดจองปกติไปถึงปี59 และเชื่อว่าทาง JCAB จะดูที่มาตรฐานของสายการบินด้วย”นายนัดดากล่าว

นายกฯชี้ใช้ม.44แก้ปัญหาใน1เดือน

วานนี้ (31มี.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณ์ของICAO ว่า ตอนนี้ได้มีการสั่งการทบทวนว่า ภายใน 1 เดือน ต้องมีการแก้ปัญหาไปสู่ความยั่งยืน โดยเราต้องทำ 2 ระยะ เพราะเกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้าง อัตรากำลัง และต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องต่างๆ ของคนที่ทำงานตรงนี้

" ช่วงแรก 1 เดือน เราต้องแก้ด้วยการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 เพื่อให้ทำงานได้ โดยเป็นการปรับการทำงานในระยะแรก เพราะเรื่องนี้มีกฎหมายอยู่ และวันนี้ได้ให้สมาคมนักบินไทย เข้ามาช่วยด้วยเพราะเขาเป็นคนบิน ซึ่งตนได้ข่าวว่านักบินเขามั่นใจว่าปลอดภัย แต่ไปติดตรงระเบียบของ ICAO โดยในระยะแรกเราจะให้ องค์การอวกาศยุโรป (ESA) มาช่วยตรวจดู เราจะสร้างความมั่นใจให้เขา "

ตั้งองค์กรอิสระกำกับการบิน

ด้านพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม ครม. ถึงเรื่องนี้ว่า ขณะนี้ไทยยังไม่ได้ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือ เพียงแต่มีการแจ้งเตือนข้อบกพร่อง มาตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งยังไม่ได้แก้ไขตามที่ ICAO ต้องการ และแจ้งมาอีกครั้ง เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 58 ว่าไทยยังแก้ไขไม่ครบถ้วน ทันสมัย แต่จะไปโทษทาง ICAO ไม่ได้ เพราะประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้นำด้านมาตรฐานและเทคโนโลยีการบิน จึงมีความไวต่อการตอบสนองเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นของไทยที่ต้องแก้ไข

ทั้งนี้ ในการแก้ไขต้องปรับในหลายรูปแบบ เช่น ICAO ต้องการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านมาตรฐานการบิน เป็นหน่วยงานอิสระ จึงมีการวางแผนจะปรับให้เป็นสถาบันการบินพลเรือนแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระคล้ายกับ กสทช. และมีการตั้งกรมควบคุมการขนส่งทางอากาศเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติ โดยเป็นการแยกหน่วยควบคุม กำกับดูแล ออกจากหน่วยปฏิบัติ รวมทั้งจะมีการปรับโครงสร้างอัตรากำลังพล

" หากมีการดำเนินการดังกล่าว ตามขั้นตอนดังกล่าวตามปกติ ต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 1-1 ปีครึ่ง นายกฯ จึงตัดสินใจใช้อำนาจตามมาตรา 44 ถือเป็นการใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์ เพื่อลดขั้นตอนต่างๆ ลง ซึ่งไทยมีระยะเวลา 90 วัน ที่ต้องรายงานส่งให้ ICAO อีกครั้ง หากผ่านมาตรฐานได้ สิ่งต่างๆ ที่เป็นข้อกังวลจะหมดไป แต่หากไม่ผ่าน จะถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือลง ส่งผลต่อเที่ยวบินต่างๆ จำนวนมาก" พล.ต.สรรเสริญ ระบุ

เกาหลี-จีน ยังไม่ยกเลิกเที่ยวบิน

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่าทางเกาหลีใต้ยังไม่ได้มีแอกชันขึ้นมาจริงๆ และยังไม่มีข่าวโดยตรงออกมา เช่นเดียวกับของสาธารณรัฐประชาชนจีน ยังไม่มีแอกชันอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น