“ประจิน” เผยญี่ปุ่นส่งสัญญาณดี เชื่อ 1-2 วันนี้ปัญหาระงับเพิ่มเที่ยวบินและเช่าเหมาลำของไทยช่วง เม.ย.คลี่คลายแน่นอน บพ.จับมือแอร์ไลน์ตั้งทีมไทยแลนด์ร่วมหนุนแก้ปัญหามาตรฐานการบิน
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีที่กรมการบินพลเรือนของประเทศญี่ปุ่น หรือ Japan Civil Aviation Bureau (JCAB) ไม่อนุมัติให้ สายการบินสัญชาติไทยเพิ่มความถี่, เพิ่มเส้นทางบินใหม่, เที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และการเปลี่ยนขนาดของอากาศยาน เข้าประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม ซึ่งเป็นผลจากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานกรมการบินพลเรือน (บพ.) ของประเทศไทยและพบข้อบกพร่องที่มีนัยต่อความปลอดภัย (SSC) นั้น ล่าสุดสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดีภายใน 1-2 วันนี้ โดยเมื่อเวลา 16.45 น. ทาง JCAB ได้แจ้งมายัง บพ.ว่าได้พิจารณาและคลี่คลายปัญหาให้ระดับหนึ่ง สายการบินที่ทาง JCAB มีคำสั่งระงับหรือไม่อนุมัติการบินในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.จะเริ่มทำการบินได้ ซึ่งเป็นผลมาจากที่ได้พูดคุยร่วมกับ นายฮิโรชิ มูโตะ รองปลัดกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT) ที่เดินทางมาหารือเรื่องความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่นที่กระทรวงคมนาคมวันนี้ (31 มี.ค.) เพื่อขอให้ช่วยอธิบายและขอความเห็นใจ ทางนายฮิโรชิ มูโตะ ได้โทร.ไปรายงานรัฐมนตรีกระทรวง MLIT ของญี่ปุ่น ประกอบกับ รมช.กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ประสานไปยังสถานทูตญี่ปุ่น และทีมงานกรมการบินพลเรือน (บพ.) ได้เดินทางไปหารือกับ JCAB เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นผลจากการช่วยกันในหลายๆ ทาง
ซึ่งในวันที่ 1 เม.ย.จะประชุมคณะกรรมการอำนวยการที่มีตนเป็นประธานเพื่อดูรายละเอียดแนวทางของ JCAB ว่าจะมีเรื่องใดที่จะต้องเจรจาต่อรองหรือไม่ ซึ่งจะเร่งให้สรุปผลทันทีเพื่อให้สายการบินทำการให้บริการผู้โดยสารและลูกทัวร์ที่ซื้อตั๋วไปแล้วได้ ส่วนในระยะยาวนั้นจะอยู่ในขั้นตอนการแก้ไขด้านมาตรฐานของ บพ.ที่จะเร่งรัดดำเนินการและรายงานต่อ ICAO ต่อไป
7 สายการบินพบ บพ.ตั้งทีมงานร่วม
นายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน กล่าวภายหลังผู้บริหารสายการบินของไทย 7 ราย เช่น การบินไทย นกสกู๊ต ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ และเจ็ทเอเชีย เป็นต้น เข้าพบว่า สายการบินและ บพ.จะตั้งทีมไทยแลนด์ขึ้นมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยทั้ง 7 สายการบินจะคอยสนับสนุนนโยบายต่างๆ ที่ออกมาจากหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมและกรมการบินพลเรือน รวมถึงจะช่วยประสานงาน ICAO ให้เข้ามาตรวจสอบความปลอดภัยของแต่ละสายการบินโดยไม่ต้องรอการแก้ไขในส่วนของกรมการบินพลเรือน ทั้งนี้ หากไทยยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาตามที่ ICAO ต้องการภายในระยะเวลา 8 เดือนจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารที่เดินทางด้วยสายการบินแบบเช่าเหมาลำ เส้นทางญี่ปุ่นมากกว่า 1.2 แสนคน โดยในช่วงเดือน เม.ย.มีประมาณ 7 หมื่นคน และช่วง พ.ค.ประมาณ 5 หมื่นคน