ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ยันเปิดบินกรุงเทพฯ-ซัปโปโร 1 พ.ค.ตามแผน ญี่ปุ่นอนุมัติตารางบินฤดูร้อน 60 วันแล้ว และจะไม่ยุติขายตั๋วล่วงหน้า เชื่อแนวโน้มปัญหามาตรฐานของกรมการบินพลเรือนไทยจะแก้ไขได้ ด้าน “ธรรศพลฐ์” ยันจีนไม่กระทบ ชี้กลุ่มไทยแอร์เอเชียไม่มีเที่ยวบินเช่าเหมาลำ และพร้อมช่วยเหลือ บพ.ทั้งเงินและคนเพื่อแก้ปัญหา ฟุ้ง Q1/58 Load Factor เฉลี่ย 83% ดีกว่าปีก่อน
นายนัดดา บุรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมการบินพลเรือนของประเทศญี่ปุ่น หรือ Japan Civil Aviation Bureau (JCAB) ประกาศไม่อนุมัติเพิ่มความถี่, เส้นทางบินใหม่, เที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) และการเปลี่ยนขนาดของอากาศยาน สัญชาติไทยเข้าประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม ซึ่งเป็นผลจากที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานกรมการบินพลเรือน (บพ.) ของประเทศไทยนั้น หมายความว่าช่วงฤดูร้อนหากจะมีการขอทำการบินที่ต่างไปจากการบินที่ได้รับอนุมัติไว้แล้วจะไม่ได้ ซึ่ง ข่าวที่ออกมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง โดยประกาศนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ซึ่งเป็นสายการบินที่มีเส้นทางบินประจำ (Schedule Flight) ไม่ใช่เช่าเหมาลำ โดยได้รับอนุมัติเส้นทางแล้ว คือ กรุงเทพฯ-นาริตะ 2 เที่ยวบินต่อวัน กรุงเทพฯ-โอซากา 1 เที่ยวบินต่อวัน กรุงเทพฯ-อินชอน 1 เที่ยวบินต่อวัน ยังคงทำการบินได้ตามปกติ
ส่วนเส้นทางที่จะได้รับผลกระทบ คือ กรุงเทพฯ-ซัปโปโร ซึ่งจะเปิดบินตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ โดยบริษัทได้รับอนุญาตจาก JCAB ให้เปิดจำหน่ายบัตรโดยสาร ตามเอกสาร NO. 5470/5471 ลงวันที่ 15 มกราคม 2558 ซึ่งได้จองตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเส้นทางบินใหม่ในช่วงฤดูร้อน แต่เนื่องจากบริษัทได้ดำเนินการตามหลักการถูกต้อง ซึ่ง JCAB เข้าใจปัญหาที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น บริษัทจึงสามารถเปิดทำการบินเส้นทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโร ในช่วง 1 พ.ค.-30 มิ.ย. ได้ตามปกติรวม 60 วัน ทั้งนี้ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วล่วงหน้าไปแล้วและกำหนดเดินทางหลังวันที่ 30 มิ.ย. กรณีที่ผู้โดยสารไม่สะดวกที่จะเดินทาง บริษัทมีมาตรการดูแลผู้โดยสารโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีทางเลือก 4 ข้อ คือ 1. เปลี่ยนแปลงการเดินทางให้เร็วขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย. 2. เปลี่ยนเส้นทางบินไป-กลับ 1 ครั้ง เดินทาง 1 พ.ค. 58- 31 พ.ค. 59 3. เก็บยอดวงเงินไว้สำหรับการสำรองที่นั่งครั้งต่อไป ระยะเวลา 90 วัน (Credit Shell) โดยสามารถใช้ในการชำระสินค้าและบริการอื่นของบริษัทได้ 4. คืนเงินได้เต็มจำนวน (Full Refund)
“จากมาตรการในการปรับปรุงมาตรฐานของ บพ. และการทำงานร่วม JCAB ทำให้เชื่อมั่นว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข ตอนนี้ยังถือว่ายังไม่กระทบ จำนวนผู้โดยสารจองแล้วประมาณ 80% จึงไม่ยกเลิกการจองตั๋วหลัง 30 มิ.ย. และจะเปิดจองปกติไปถึงปี 59 และเชื่อว่าทาง JCAB จะดูที่มาตรฐานของสายการบินด้วย” นายนัดดากล่าว
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ข่าวที่ออกมาได้สร้างความสับสนแก่ผู้โดยสารที่ซื้อตั๋วไว้แล้ว ซึ่งขอยืนยันสายการบินไทยแอร์เอเชีย และไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ไม่มีเที่ยวบินเช่าเหมาลำ โดยเส้นทางกรุงเทพฯ-ซัปโปโร ได้รับอนุมัติให้ทำการบินช่วงฤดูร้อน รวม 60 วัน ในช่วง 1 พ.ค.-30 มิ.ย. ซึ่งผู้โดยสารได้รับการตอบรับอย่างดี ยอดจองสูงมาก และเชื่อว่าเร็วๆ นี้ก่อนครบ 60 วันจะแก้ไขปัญหาได้แน่นอน แต่กรณีที่ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ต้องมีมาตรการแก้ไขแน่นอน ซึ่งบริษัทยืนยันว่าจะดูแลผู้โดยสารที่จองตั๋วเดินทางไปซัปโปโรหลังวันที่ 30 มิ.ย.อย่างดี โดยขณะนี้มีแนวทางไว้แล้ว 3-4 ข้อ
สำหรับไทยแอร์เอเชียที่มีเส้นทางไปจีนนั้น ยืนยันว่ากรณี ICAO ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเส้นทางไปจีน โดยไทยแอร์เอเชียบินไป 10 เมืองในจีน รวม 21 เที่ยวบินต่อวัน เป็นเส้นทางบินประจำ (Schedule Flight) ทั้งหมดไม่มีเช่าเหมาลำ ส่วนแผนเปิดจุดบินเพิ่มช่วง ต.ค.-พ.ย.นี้ ยังมีเวลาและเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้แล้ว ส่วนเครื่องบินที่รับมอบมาช่วงต้นปี 2 ลำ ได้นำมาบินเส้นทางในประเทศ 4 จุดบินใหม่ คือ น่าน เลย บุรีรัมย์ และร้อยเอ็ด และเพิ่มความถี่ กระบี่-กว่างโจว
โดยผลประกอบการของไทยแอร์เอเชียในช่วงไตรมาส 1/ 2558 นั้นมีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ย 80% ดีกว่าปีที่แล้ว และประเมินทั้งปีที่ 83% หรือ 14.5 ล้านคน โดยเส้นทางไปจีนนั้น Load Factor ดีมากประมาณ 86-87%
อย่างไรก็ตาม ICAO ตรวจสอบกรมการบินพลเรือนว่าได้มาตรฐานหรือไม่ เพราะ ICAO ไม่มีกำลังที่จะตรวจสอบทุกสายการบินที่ให้บริการอยู่ทั่วโลกได้ ดังนั้น หากกรมการบินพลเรือนแข็งแรงจะสามารถไปตรวจสอบสายการบินให้มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุดได้ แต่ทั้งนี้ ICAO ไม่มีอำนาจในการลดหรือห้ามสายการบิน แต่ประเทศคู่สัญญาที่สายการบินได้ทำการบินเข้าไปจะสามารถออกกฎระเบียบในการลด เพิ่ม หรือห้ามได้ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีการปฏิบัติที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ สายการบินของไทยได้หารือกันและพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับ บพ.ในการแก้ปัญหา รวมถึงให้ความช่วยเหลือทั้งด้านกำลังทุนและกำลังคน ซึ่งสายการบินมีบุคลากรที่มีศักยภาพ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติเพราะเป็นวิกฤตที่มีผลกระทบสูง