xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ใช้ม.44 กู้วิกฤตการบิน หวั่นเสียหาย 4 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บริษัททัวร์หัวทิ่มวุ่นแก้ปัญหาหลังญี่ปุ่นสั่งห้ามเช่าเหมาลำเพิ่มเที่ยวบิน ยอมเข้าเนื้อโอนไปสายการบินปกติ คนในวงการจี้เร่งดำเนินการแก้ไข “กรมการบินพลเรือน” ก่อน ICAO ลงดาบ ลามไปสู่สายการบินปกติ ไม่งั้นสูญเงินแสนล้านจากผู้โดยสาร หากเลวร้ายสุดทั้งอุตสาหกรรมกว่า 4 แสนล้านบาทพินาศ ชี้งานนี้มีคนได้-เสีย แถมกระทบต่อแผนฟื้นฟูการบินไทย ดับฝันเป้าฮับการบินในภูมิภาค “ประยุทธ์” ใช้ ม.44 แก้ปัญหาเร่งด่วน

เต้นกันทั้งประเทศหลังจากที่ญี่ปุ่นส่งหนังสือถึงกรมการบินพลเรือนของไทย แจ้งให้ทราบว่าทางญี่ปุ่นไม่อนุญาตคำขอของสายการบินเช่าเหมาลำจากประเทศไทยไปยังญี่ปุ่น 3 สายการบิน ประกอบด้วย สายการบินไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ ไม่ได้รับอนุญาตให้เพิ่มสนามบินที่จะทำการบินไปในเส้นทางฮอกไกโด สายการบินนก สกู๊ต ไม่ได้รับอนุญาตให้บินเช่าเหมาลำรับขนในช่วงสงกรานต์ ไปยังเมืองเกียวโต และโอซากา สายการบิน เอเชีย แอตแลนติก ไม่ได้รับอนุญาตให้บินเช่าเหมาลำในช่วงเทศกาลสงกรานต์

ด้วยเหตุผลได้รับทราบผลการตรวจสอบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program; USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) พบว่า ประเทศไทยมีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) เกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ

ทั้งนี้กรมการบินพลเรือนของไทยต้องปรับปรุงตามข้อแนะนำของ ICAO ใน 3 ข้อ ได้แก่ รูปแบบขององค์กร จำนวนบุคลากรที่เชี่ยวชาญไม่เพียงพอ และค่าตอบแทนบุคลากรที่ต่ำ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุง

ร้อนถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขพร้อมทั้งหารือกับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่น พร้อมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาที่กรมการบินพลเรือนเป็นการเร่งด่วน

โดยก่อนหน้าที่กรมการบินพลเรือนจะเผยแพร่การไม่อนุมัติให้สายการบินเช่าเหมาลำของไทยเพิ่มเส้นทางไปญี่ปุ่นนั้น ในโลกออนไลน์ได้วิพากษ์วิจารณ์กรณีของสายการบินนก สกู๊ต ที่ยกเลิกเส้นทางบินไปกรุงโซลของเกาหลีใต้ก่อนหน้าไม่กี่วัน โดยไม่มีคำชี้แจงออกมาและเพิ่งมาแจ้งให้ทราบในภายหลัง ด้วยเหตุผลเดียวกันคือทางเกาหลีใต้ไม่อนุมัติเส้นทางบินอันเนื่องมาจากผลการตรวจสอบของ ICAO

ตามมาด้วยจีนที่มีคำสั่งห้ามเครื่องบินเช่าเหมาลำจากไทยไปจีนเช่นเดียวกัน โดยเป็นที่จับตาว่าจากนี้ไปประเทศใดจะมีคำสั่งห้ามสายการบินจากประเทศไทยอีก

หลังจากที่สายการบินเช่าเหมาลำของไทยถูกหลายประเทศปฏิเสธ ด้วยเหตุผลของการเข้ามาตรวจสอบของ ICAO ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติ ทำหน้าที่กำหนดและตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ทางด้านการบินพลเรือน โดยประกาศผลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 พบว่า กรมการบินพลเรือนของไทยได้คะแนน 35.6% กัมพูชา 40.2% อินโดนีเซีย 45.1% ขณะที่บรูไน พม่าและลาวได้คะแนน 65% แม้กระทั่งมาเลเซีย ที่เครื่องบินหายหรือถูกยิงตกได้คะแนน 81% ส่วนสิงคโปร์ 98.9%

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่อปี 2548 ที่มีสายการบินจดทะเบียนเพียง 12 สาย แต่ปัจจุบันมีถึง 61 สายการบิน และทำการบินต่อเนื่องถึง 41 สายการบิน แต่มีบุคลากรเพียง 4 คน จึงจำเป็นต้องแก้ไขบทบาทหน้าที่ของกรมการบินพลเรือนให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยแยกงานด้านนโยบาย กำกับดูแล และปฏิบัติการ (Operator) ออกจากกันให้ชัดเจน และปรับปรุงกฎหมายทั้งหมดให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและเป็นสากลมากขึ้น

นับว่าการออกมาตรการจำกัดเส้นทางการบินของญี่ปุ่นในครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายได้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในกรมการบินพลเรือนมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะปัญหาที่ถูกละเลยมาเป็นเวลานานและไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากรัฐบาลจนกระทั่ง ICAO เข้ามาตรวจสอบ ซึ่งให้เวลากรมการบินพลเรือนของไทยแก้ไขมาเป็นเวลานาน
ตัวอย่างโปรแกรมทัวร์โดยสายการบินเช่าเหมาลำ
บริษัททัวร์หัวหมุน

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือบริษัททัวร์ที่ได้ขายโปรแกรมทัวร์ไปก่อนหน้านี้แล้ว ต้องมาวิ่งแก้ปัญหาให้กับลูกค้า

ปกติเส้นไปญี่ปุ่นจากประเทศไทย บริษัททัวร์มักจะเลือกเครื่องเช่าเหมาลำเป็นหลัก เพราะสามารถทำราคาได้ถูก กระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่าย หากไปใช้บริการของสายการบินปกติอย่างการบินไทยหรือเจแปนแอร์ไลน์ก็จะต้องจ่ายแพงกว่าเดิมกว่า 4 พันบาท

“ตอนนี้เราเร่งแก้ปัญหาให้กับลูกค้าที่จองทัวร์เพื่อเดินทางกับเรา 2 กรุ๊ป ให้เดินทางได้ตามกำหนดเดิมด้วยการเปลี่ยนไปใช้เครื่องของการบินไทยแทน” แหล่งข่าวจากบริษัททัวร์ที่ใช้สายการบิน เอเชีย แอตแลนติก เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงกรานต์กล่าว

เช่นเดียวกับบริษัททัวร์ค่ายอื่นๆ ที่ต้องเร่งแก้ปัญหาให้กับลูกทัวร์ทั้งเปลี่ยนสายการบินและจ่ายเงินคืนให้กับลูกค้า ซึ่งภาระในการเปลี่ยนสายการบินจากเครื่องเช่าเหมาลำไปยังสายการบินปกติจะมีส่วนต่างที่สูงขึ้น บริษัททัวร์จะต้องเป็นผู้รับภาระที่เกิดขึ้น นั่นคือต้นทุนที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้กรุ๊ปเดินทางในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีกำไรหรืออาจต้องยอมขาดทุน

มีคนเสีย-มีคนได้

แหล่งข่าวจากสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยโดยเฉพาะเครื่องเช่าเหมาลำ ซึ่งถือว่าไม่เท่าไหร่ หากไม่เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหา ประเทศปลายทางมีข้อห้ามในสายการบินปกติบินเข้าประเทศเขาจะเป็นเรื่องที่ใหญ่มากกว่านี้ เพราะนั่นหมายถึงเรื่องของความเชื่อมั่นที่มีต่อสายการบินจากประเทศไทย และจะกระทบไปยังภาคธุรกิจอื่นๆ อีกหลายด้านเป็นลูกโซ่ตามมา

เฉพาะตอนนี้เรื่องเครื่องเช่าเหมาลำจากไทยไปจีนคงไม่มากนัก ส่วนใหญ่เป็นเหมาลำมาจากจีน หรืออย่างญี่ปุ่นมีเครื่องเช่าเหมาลำมาประเทศไทยน้อยมาก แต่ที่อาจจะมีส่วนได้ส่วนเสียจากเหตุการณ์นี้คือเกาหลีใต้ เนื่องจากเครื่องเช่าเหมาลำจากเกาหลีใต้มาทำตลาดในเมืองไทยหลายเจ้า ตรงนี้ทำให้เกาหลีใต้ได้ประโยชน์จากส่วนนี้ไม่น้อย

ประการต่อมาเครื่องบินเช่าเหมาลำจากประเทศไทยที่ถูกผลกระทบดังกล่าว หากเป็นค่ายใหญ่คงไม่มีปัญหามากนัก แต่ถ้าเป็นค่ายเล็ก ต้องเช่าเครื่องบินมาให้บริการตรงนี้จะมีปัญหาทันที เพราะเครื่องบินที่เช่ามาไม่สามารถสร้างรายได้ได้

ในส่วนของบริษัททัวร์หากข้อห้ามดังกล่าวกินเวลานาน จากนี้ไปหากจัดโปรแกรมไปญี่ปุ่น ก็อาจต้องไปพึ่งสายการบินปกติ ตรงนี้ประโยชน์จะตกอยู่กับเจแปนแอร์ไลน์และการบินไทยที่มีเส้นทางบินปกติ

ตอนนี้เริ่มมีสายการบินต่างชาติที่สนใจ เริ่มหันกลับมาทำตลาดบินไปญี่ปุ่นในประเทศไทยอีกครั้ง อย่างเวียดนามแอร์ เดิมเคยร่วมกับทัวร์ในไทยบินไปญี่ปุ่น ต่อเครื่องที่เวียดนาม โดยทิ้งตลาดนี้ไปในปี 2557 เนื่องจากมีสายการบินเช่าเหมาลำในไทยแข่งขันกันมาก ตอนนี้เวียดนามแอร์ไลน์เริ่มเข้ามาหารือกับบริษัททัวร์ในประเทศไทยอีกครั้ง

ไม่เร่งแก้-เสียหายแสนล้าน

ภายใต้เรื่องเดียวกันนี้ยังกระทบไปยังแผนฟื้นฟูสถานะของบริษัทการบินไทยด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาการบินไทยได้สายการบินต้นทุนต่ำอย่างไทยสมายล์ และมีเช่าเหมาลำในนามการบินไทยในบางโอกาส แผนในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นของการบินไทยจึงประสบปัญหาตามไปด้วย ซึ่งในครั้งนี้การบินไทยที่เป็นเช่าเหมาลำกระทบ 2 เที่ยวบิน

“เราเชื่อว่าเหตุการณ์สำหรับประเทศไทยคงไม่เลวร้ายถึงขนาดที่ทุกประเทศห้ามสายการบินจากประเทศไทยเข้าประเทศของเขา แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทยคงมีไม่น้อยกว่า 4 แสนล้านบาท เพราะทุกปีอุตสาหกรรมนี้สร้างรายได้ให้กับประเทศไม่น้อยกว่าปีละ 1.28 แสนล้านบาท”

ต้องไม่ลืมว่าสายการบินทั้งเช่าเหมาลำหรือสายการบินปกติ เมื่อพาผู้โดยสายออกจากประเทศไทยแล้ว ขากลับต้องมีผู้โดยสารกลับเข้ามาด้วย นั่นคือนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย หากสายการบินของไทยไม่สามารถไปยังประเทศปลายทางได้ นักท่องเที่ยวที่จะมาเมืองไทยก็ต้องใช้บริการของสายการบินอื่นแทน ประโยชน์จึงไม่ตกอยู่กับสายการบินของไทย

ยิ่งไปกว่านั้นหากมาตรฐานทางการบินของประเทศไทยถูกจัดให้ต่ำกว่ามาตรฐาน ย่อมกระทบต่อยุทธศาสตร์ของประเทศที่วางให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีคู่แข่งหลักทั้งสิงคโปร์และฮ่องกง
องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ICAO ที่เข้ามาตรวจสอบกรมการบินพลเรือนของไทย
เร่งใช้ ม.44 แก้ปัญหา

ขณะเดียวกันในเรื่องนี้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษ นอกเหนือจากการสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปเร่งหาทางแก้ไขแล้ว โดยก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงการใช้มาตรา 44 เข้ามาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกรมการบินพลเรือน โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหากรณี ICAO หรือปรับโครงสร้างต่างๆ เพราะตามปกติจะต้องแก้พระราชบัญญัติ มีการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องใช้เวลานาน

ดังนั้นการใช้มาตราดังกล่าวเข้ามาเร่งแก้ปัญหาดังกล่าว นับเป็นการสิ่งที่สะท้อนได้ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพื่อต้องการแก้ไขปัญหานี้อย่างรวดเร็ว เพราะหากปล่อยไว้จนเกิดวิกฤติลามไปยังประเทศต่าง ๆ ออกกฎเกณฑ์ห้ามสายการบินของไทยจะส่งผลเสียหายต่ออุตสาหกรรมการบินในประเทศ และด้านการท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของไทย

ทั้งนี้ในวันที่ 31 มีนาคม 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ทำเรื่องทูลเกล้ายกเลิกกฎอัยการศึก และใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาบังคับใช้แทน

บินในประเทศ-ดีเลย์ประจำ

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ต้องกลับไปเร่งแก้ปัญหาที่กรมการบินพลเรือน เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติสายการบินเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังอนุมัติเส้นทางการบินให้กับสายการบินในประเทศอีกหลายเส้นทาง ทำให้เกิดปัญหาตามมากับผู้ใช้บริการเช่นกัน อย่างนกแอร์ตอนนี้มีเส้นทางการบินมากขึ้น ก็เกิดปัญหาที่เครื่องบินดีเลย์หลายครั้งจนผู้โดยสารบ่นกันตลอด

ปัญหานี้เกิดขึ้นจากการอนุมัติเส้นทางบินก่อน ซึ่งทางนกแอร์อยู่ระหว่างการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ที่เพิ่งสั่งซื้อไปเมื่อปลายปี 2557 มาให้บริการ ดังนั้นในระหว่างนี้จึงต้องหมุนเวียนเครื่องบินที่มีอยู่เพื่อให้บริการกับลูกค้าตามเส้นทางต่างๆ จึงเกิดปัญหาเรื่องการดีเลย์มาโดยตลอด

ส่วนหนึ่งเพราะคนที่บินในประเทศมักเลือกนกแอร์เพราะสามารถนำกระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่องได้ฟรี ขณะที่แอร์เอเชียต้องเสียเงินเพิ่ม ทำให้คนส่วนใหญ่เลือกเดินทางด้วยนกแอร์มากกว่า เมื่อเครื่องบินใหม่ยังไม่มาก็ต้องใช้เครื่องที่มีอยู่ให้บริการ บางครั้งก็มีปัญหาทั้งตัวเครื่องและความล่าช้าจากเครื่องที่บินมาทดแทน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลานี้เกิดขึ้นจากกรมการบินพลเรือนของไทยที่ไม่ดำเนินการปรับปรุงตามที่ ICAO แนะนำ ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากรัฐบาลใด แม้รัฐบาลชุดนี้จะไม่เกี่ยวข้อง แต่ก็ต้องเข้ามาเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น มิเช่นนั้นจะเกิดผลเสียกับประเทศไทยอย่างมหาศาล ไม่ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้จะเป็นผลมาจากการทำงานของกรมการบินพลเรือนที่ผ่านมา หรือมีมิติทางการเมืองระหว่างประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง

กำลังโหลดความคิดเห็น