xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“การเมือง-ข้าราชการ” ตัวการแช่แข็งปัญหา “ICAO”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กรณีองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานของกรมการบินพลเรือน (บพ.) ของประเทศไทยตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (Universal Safety Oversight Audit Program; USOAP) เมื่อวันที่ 19-30 ม.ค. 2558 และพบว่าไทยมีข้อบกพร่องที่มีนัยต่อความปลอดภัย ( SigniFicant Safety Concerns : SSC) เกี่ยวกับกระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ ซึ่งบพ.ได้ทำแผนการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan : CAP) ส่งให้ ICAO วันที่ 2 มี.ค.2558 ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจการบินของไทยเป็นอย่างยิ่ง

ที่สำคัญคือ หลัง ICAO ได้นำกรณี SSC เผยแพร่ในเว็บไซต์ของ ICAO และปรากฏว่าทาง กรมการบินเรือนของประเทศญี่ปุ่นหรือ Japan Civil Aviation Bureau (JCAB) มีหนังสือถึง บพ. จะไม่อนุมัติให้มีการขยายหรือเปลี่ยนบริการขนส่งทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มท่าอากาศยานหรือเปลี่ยนแบบอากาศยานที่จะให้บริการไปยังประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม ซึ่งกระทบโดยตรงกับเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) ที่มีโปรแกรมทัวร์ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งมีคนไทยจำนวนมากได้เสียเงินซื้อตั๋วกันไปแล้ว

เรื่องดังกล่าวได้กลายเป็นปัญหาระดับประเทศ และรัฐบาลต้องยกเป็นวาระแห่งชาติ โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงกับประกาศว่า จะใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 ในการเร่งรัดกระบวนการแก้ปัญหานี้

สำหรับข้อบกพร่องที่มีนัยต่อความปลอดภัย (SSC) ที่ ICAO ระบุ คือ 1. กระบวนการรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC Certification) และการออกข้อกำหนดการปฏิบัติการ (Operation Specification) ซึ่งรวมถึงการรับรองการปฏิบัติการบินแบบพิเศษและการรับรองย่อยต่างๆ โดยพบว่า

-กฎระเบียบ หลักเกณฑ์ ขั้นตอนกระบวนการและแนวทางปฏิบัติ มีไม่ครบถ้วนและทันสมัยตามข้อกำหนดในภาคผนวกแห่งอนุสัญญา

- มีเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคไม่เพียงพอ สำหรับการกำกับดูแลผู้ดำเนินการเดินอากาศทั้งหมดและไม่เพียงพอต่อการพิจารณาตรวจสอบ ผู้ขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่

-เจ้าหน้าที่มีระยะเวลาไม่เพียงพอต่อการพิจารณาตรวจสอบด้านเทคนิคอย่างถูกต้องครบถ้วนและมีประสิทธิผล

-การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ด้านเทคนิคมีไม่ครบถ้วย ทำให้ขาดประสบการณ์และความรู้ที่จำเป็นและทันสมัยเพียงพอที่จะสามารถปฏิบัติงานได้มาตรฐานตามข้อกำหนด

-มีเครื่องมืออุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพ

-ขาดระบบในการบันทึกติดตามความคืบหน้าในการตรวจสอบและการแก้ไขข้อบกพร้องที่สมบูรณ์และบันทึกประวัติกระบวนการรับรองรวมถึงกระบวนการย่อยต่างๆ อย่างเป็นระบบ

2.การรับรองการขนส่งสินค้าอันตราย (Dangerous Goods) ของไทยยังไม่มีการกำหนดนโยบายและหลักเกณฑ์ที่แน่ชัด

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ICAO ได้เข้ามาตรวจสอบ บพ.ตั้งแต่ปี 48 และขอให้ปรับปรุงการบริหารงานและบุคลากรใหม่ และเมื่อ ICAO มาตรวจอีกครั้ง กลับพบว่ายังไม่มีการปรับปรุงใดๆ จึงกลายเป็นเรื่องใหญ่

คำถามคือ 10 ปีที่ผ่านมาทำไมไม่คิดจะแก้ไข ทั้งๆที่ ในอาเซียน 10 ประเทศ บพ.ของไทยจัดอยู่ใน เกรดเอ เป็นรองก็แค่สิงคโปร์เท่านั้น

ทั้งนี้ หากย้อนกลับหลายปีก่อน กรณีการแยกโครงสร้าง ด้านนโยบาย (Policy) การออกใบอนุญาต การอนุมัติเส้นทาง และนโยบายเปิดน่านฟ้าเสรี (Open Sky) งานด้านกำกับดูแล (Regulator) พวกมาตรฐานเครื่องบิน มาตรฐานนักบิน ,งานด้านสอบสวนอุบัติเหตุอากาศยาน และด้านปฏิบัติการ (Operator) การบริหารสนามบินภูมิภาค 28 แห่งออกจากกัน เพื่อให้เกิดความอิสระ และคานอำนาจในการทำงานตามหลักสากลนั้นมีความพยายามกันมาโดยตลอด แล้วติดขัดตรงไหน ทำไมถึงไม่ทำ...

บพ.ได้เคยจ้างบริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ เอฟเอเอส จำกัด ศึกษาแนวทางการจัดการสนามบินภูมิภาค ในขณะที่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (สายการบินบางกอกแอร์เวย์) สนใจที่จะรับบริหาร 28 สนามบินภูมิภาค แต่ติดขัด กฎหมาย 2 ฉบับคือ พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เนื่องจากที่ดินในสนามบินทั้งหมดมีมูลค่าเกิน 1,000ล้านบาท กม.ฉบับที่ 2 คือพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง) ที่ห้ามสายการบินใดมาเป็นเจ้าของหรือถือหุ้นใหญ่สนามบินนานาชาติ

“ประเด็นนี้ฝ่ายการเมืองไม่กล้า เพราะถูกกระแส ติติงแน่นอน ว่าเอาสมบัติของชาติไปให้เอกชน เรื่องจึงเงียบหาย”

ส่วนการแยกบทบาทหน้าที่ต่างๆ จะต้องเสนอระดับนโยบายและรัฐสภา และต้องยอมรับว่า ผู้บริหารบพ. เองไม่มีการชงเรื่องเพราะเสียประโยชน์ โดยหากแยกองค์กร แยกอำนาจ “ระดับ” หรือ “ซี” จะหายไป ส่วนการเพิ่มเจ้าหน้าที่ วิศวกร ติดระบบราชการที่บรรจุและใช้บัญชีของสำนักงานก.พ. อัตราเงินเดือนเริ่มต้น 20,000 บาท ค่าวิชาชีพ 10,000 บาท ขั้นวิ่งตามระบบราชการ มีหลักสูตรฝึกอบรมทั้งแคนนาดา อเมริกา ฯลฯ แต่มักจะถูกตัดงบประมาณ

ด้วยเหตุผล “ประเทศมีเรื่องอื่นๆ ที่ต้องทำมากกว่า พอฝึกบุคลากรขึ้นมาจนเชี่ยวชาญ เก่งแล้ว สายการบินเอกชนก็มาเสนอซื้อตัวในค่าจ้างแพงๆ ยอมใช้คืนทุนภาครัฐให้ จะมีใครอยู่กัดก้อนเกลือกิน ทำงานราชการ”

วันนี้ ครม.อนุมัติงบ 23.5 ล้านบาทในการว่าจ้างบุคลากรเพิ่ม และอนุมัติงบประมาณ 80 ล้านบาทสำหรับยกเครื่องปรับปรุงระบบ ดาต้าเบส โดยแผนงานจะดำเนินการเสร็จใน 3 เดือน ตามที่ ICAO ขีดเส้นไว้ ทำให้การดึงข้อมูลต่างๆ รวดเร็วมากขึ้น โดยสิ่งที่ บพ.จะต้องทำคือ เมื่อทำกระบวนการเสร็จแล้วต้องมีการตรวจสอบข้อมูลของสายการบิน จำนวน 28 สายที่ให้บริการเส้นทางระหว่างประเทศ ให้สมบูรณ์ทั้งกระบวนการ

บทเรียนที่ ICAO ติงมาตรฐานการบินของไทย จะเป็นโอกาสที่ทำให้ได้เห็นแง่มุมดีๆ ของมาตรา 44 ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะใช้อำนาจ แยกส่วนกรมการบินพลเรือน ตั้ง”สถาบันการบินพลเรือนแห่งชาติ” เป็นหน่วยงานอิสระ คล้าย “กสทช.” ตั้งกรมควบคุมการขนส่งทางอากาศ เป็นหน่วยปฏิบัติ ได้อย่างรวดเร็ว หลังจาก ผ่านมา 10 ปี ทำไม่ได้ เพราะฝ่ายการเมืองไม่กล้าข้าราชการประจำ กลัว “ซี” หาย และ คงไม่มีเสียงคัดค้าน .... และจะสำเร็จใน 8 เดือน และเป็นที่พอใจของ ICAO

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในเรื่องอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยวนั้นต้องยอมรับว่ามีผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะเครื่องบินที่ไปรับและส่งผู้โดยสารนั้น มีผลกระทบโดยตรงในเรื่องผลประกอบการ แต่ที่สำคัญคือจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยนั้น ต้องกลับลดและหดหายไป ยิ่งทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวยิ่งตกต่ำยิ่งขึ้น เพราะขณะนี้ธุรกิจท่องเที่ยวที่ต้องการเงินตราจากต่างประเทศเป็น เพียงอุตสาหกรรมเดียวที่จะสามารถฟื้นตัวและมีเงินสดสะพัดอย่างทั่วถึงและใช้จ่ายได้อย่างเห็นได้ชัด จึงนับว่าเป็นผลกระทบระดับชาติทีเดียว

ที่ผ่านมาต้องยอมรับหน่วยงานของ บพ. เป็นผู้ที่รับรู้และทราบปัญหาที่เกิดขึ้นมาตลอด เพราะตั้งแต่ปี 2548 นั้น ICAO เองมีหนังสือให้ตอบข้อซักถามในด้านเทคนิคต่าง ๆ แต่กลับเพิกเฉย จนในที่สุดต้องใช้ไม้แข็งจนทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจการบินต้องได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการเหล่านี้ก็ได้ปฏิบัติตามกฎของ บพ. แต่กลับได้รับผลกระทบโดยตรง

งานนี้ผู้รับผิดชอบโดยตรง คงหนีไม่พ้น บพ. นี่เป็นบทเรียนที่กระทรวงคมนาคมปล่อยปละละเลยมานานหมักหมมจนกลายเป็นปัญหาระดับประเทศ และกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหนักในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว




กำลังโหลดความคิดเห็น