xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ญี่ปุ่นเซ็น MOU พรุ่งนี้ ปลดล็อกการบินช่วงสงกรานต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประจิน”ไฟเขียว บพ.ลงนาม MOU กับกรมการบินของญี่ปุ่น (JCAB) แก้ปัญหาการบินช่วง 2 เดือน บพ.นัด JCAB ลงนามวันที่ 2 เม.ย.นี้ ซึ่งมีผลทันที พร้อมเดินหน้ามาตรการแก้ปัญหามาตรฐานบพ.ตามข้อท้วงติง ICAO เสร็จใน 3 เดือน



พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ในช่วงสายวันนี้ (1 เม.ย.) ได้ประชุมร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ,นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม,นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคมและนายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เพื่อพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจ (MOU) ซึ่งทางกรมการบินเรือนของประเทศญี่ปุ่นหรือ Japan Civil Aviation Bureau (JCAB) ได้ส่งมาเมื่อวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบร่าง MOU ดังกล่าว ซึ่งจะมีการลงนามร่วมกัน ระหว่าง บพ.และ JCAB ในด้านความร่วมมือเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และสอดคล้องกับข้อตกลงที่เคยทำไว้เมื่อ พ.ย. 2555 โดยภายใน 14.00น.วันนี้ (1 เม.ย.) ทางบพ.จะส่งอีเมล์ไปถึง JCAB เพื่อตอบรับและนายอาคิอิโก๊ะ ทามูรุ (Mr. Akihiko Tamura ) ผู้อำนวยการ JCAB จะเดินทางมาลงนามใน MOU ร่วมกับนายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน ในวันที่ 2 เม.ย.ช่วงบ่าย ที่กรมการบินพลเรือน

ทั้งนี้ JCAB ได้กำหนดรายละเอียดใน MOU เน้นการปลดล็อคข้อบกพร่องที่มีนัยต่อความปลอดภัย (SSC) ตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในระยะสั้น และจะทำให้สายการบินที่ได้ขอทำการบินในช่วง 1เม.ย.-31 พ.ค. 2558 รวม 60 วัน

สำหรับเนื้อหาใน MOU ประกอบด้วย 1. JCAB มีความกังวลกรณีที่ ICAO มีข้อท้วงติงด้าน SSC ของบพ. ซึ่งมี 2 ประเด็นคือ กระบวนการออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC Certification) ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และอำนาจในการอนุญาตให้มีการขนส่งสินค้าอันตรายยังไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด

2. ต้องเร่งรัดกระบวนการแก้ไขเพื่อนำไปสู่การยกเลิก SSC ของ ICAO โดย 2.1 JCABเสนอเข้ามาร่วมดำเนินการ และให้เกิดความต่อเนื่องในการแก้ไขข้อบกพร่อง ,2.2 ร่วมมือและสนับสนุนรายละเอียดของข้อมูลให้ JCAB อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้อมูลของสายการบินของไทยที่บินไปและกลับ ญี่ปุ่น 2.3 ให้มีการประชุม 2 ฝ่ายเป็นประจำ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

3.มาตรการเบื้องต้นที่ JCAB จะทบทวนการตรวจสอบสายการบินที่จะออกใบอนุญาตและส่งผลให้ JCAB รับทราบ ซึ่งขณะนี้ทางบพ.ได้ดำเนินการทบทวนใบอนุญาตสายการบิน เพิ่มเติมแล้ว 3 สายการบินคือ ไทยสมายล์ เจทเอเชีย และไทยเวียดเจ็ท แล้ว และจะต้องส่งแผนปฎิบัติการ ให้กับ JCAB กรณีที่มีการบินเข้าออกญี่ปุ่นก่อนล่วงหน้า โดยแผนนั้นจะต้องไม่มีกรณีปัญหาด้านความปลอดภัย เช่น ใบอนุญาตนักบินขาดอายุเป็นต้น และให้ทุกสายการบินต้องรายงานการเกิดอุบัติเหตุทุกกรณี ระหว่างทำการบินเข้าออกญี่ปุ่นให้ทราบและต้องยินยอมให้ JCAB ตรวจเครื่องบิน ในทุกด้านอย่างเข้มงวด

4. JCAB จะอนุญาตให้สายการบินของไทยทำการบินได้ ก็ต่อเมื่อ เป็นเครื่องบินของสายการบินประเทศไทย ที่เป็นเที่ยวบินประจำ และเช่าเหมาลำที่บินในเส้นทางไป-กลับประเทศญี่ปุ่น ไม่เกี่ยวกับประเทศอื่น โดยเช่าเหมาลำจะให้เฉพาะที่เคยให้บริการอยู่เดิมและต้องทำการบินในเส้นทางที่เคยให้บริการเดิม,ทำการบินด้วยอากาศยานที่เคยให้บริการเดิม, ช่วงเวลาที่ดำเนินการตั้งแต่ 1เม.ย.-31 พ.ค. 2558 รวม 60 วัน

5.แผนระยะกลางและระยะยาว นั้น JCAB และบพ.จัดคณะทำงานประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยผู้มีอำนาจเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาตามแผนปฎิบัติที่เสนอไว้เพื่อให้เกิดผลและปลดล็อค SSC อย่างเป็นรูปธรรม และเกิดมาตรฐานด้านการบินและความปลอดภัยอย่างยั่งยืน

“ทุกอย่างจะมีผลบังคับหลังมีลงนามใน MOU ร่วมกัน แล้วซึ่งปกติเมื่อเครื่องบินลงจอดที่สนามบินญี่ปุ่น จะมีการสุ่มตรวจอยู่แล้วแต่สายการบินสัญชาติไทยจะถูกตรวจถี่มากขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะเป็นประเทศใดที่ต้องการสุ่มตรวจสายการบินของประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ ไม่มีปัญหา เพราะสายการบินมีความพร้อมให้ตรวจสอบเนื่องจากมีมาตรฐานความปลอดภัยอยู่แล้ว”

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า การแก้ไขผลกระทบตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล ของ ICAO ซึ่งพบประเด็นสำคัญ 2 ประเด็นคือ การออกใบรับรองอนุญาต (AOC) ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน และอำนาจในการอนุญาตให้มีการขนส่งสินค้าอันตรายยังไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในกรณีของการบินบนพื้นน้ำและกรณีที่เกิดสภาพอากาศนั้น จะดำเนินการอย่างรอบคอบและเต็มที่ โดยสรุปแผนแก้ไขฉบับใหม่รายงานต่อ ICAO ในวันที่ 6 เม.ย.นี้ และหวังว่าทาง ICAO จะสบายใจมากขึ้น และเชื่อมั่นว่า กรณีที่ไทยจะใช้มาตรการพิเศษ โดยใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 มาช่วยเร่งรัดกระบวนการทั้งการจัดตั้งองค์กร การปรับโครงสร้าง การแก้ไขบทบาทหน้าที่ การบรรจุกำลังคน การแก้ไขกฎหมาย เพื่อปลดล็อค SSC โดยเร็ว

ทั้งนี้ ทางบพ.จะเดินทางไปเกาหลีใต้ ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ จากนั้นจะไปจีนในวันที่ 8 เม.ย.และสัปดาห์ต่อไป จะเดินทางไป ออสเตรเลีย เยอรมนี เพื่อทำความเข้าใจก่อนที่ประเทศเหล่านี้จะมีปฎิกิริยาในทางที่เป็นผลลบ และส่งผลกระทบเหมือนกรณี JCAB และให้สถานการณ์คลี่คลายลง ซึ่งขณะนี้ทั้งเกาหลีใต้และ จีน ยังไม่มีการดำเนินการใดต่อสายการบินของไทย ส่วนกรณีที่จีนไม่ให้เพิ่มเช่าเหมาลำของไทยนั้น เป็นเรื่องที่จีนมีเที่ยวบินจำนวนมากในช่วงเม.ย. และไม่ให้เพิ่มกับสายการบินในหลายประเทศไม่ใช่สายการบินของไทยอย่างเดียว

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า กรณีที่มีกระแสข่าวว่า สาเหตุที่ทาง JCAB ผ่อนปรนนั้นมาจากการเจราพัฒนารถไฟทางคู่ 2 เส้นทางนั้น เรื่องนี้คนเขียนข่าวนี้ต้องอธิบาย ว่าทำไมถึงเขียนไปแบบนั้น เพราะ 2 เรื่องนี้จิตนาการอย่างไรก็ไม่เกี่ยวกัน ด้วยหลักเหตุผลจะเอามาเกี่ยวข้องกันไม่ได้แน่นอน เขียนไปโดยไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่คณะทำงานและตนเองได้พูดคุยกับทางญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการแถลงกับผู้สื่อข่าวหลายคน ถือเป็นเรื่องที่เข้าใจไปเองว่า MOU ที่ได้พูดคุยกันเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ระหว่างรมว.คมนาคมกับรองปลัดกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) เป็นการพัฒนาระบบราง แต่ MOU วันที่ 1 เม.ย. เป็นความร่วมมือระหว่าง บพ.กับ JCAB เรื่องการบิน แล้วไปเข้าใจกันเองตีความกันเอง

“คนเขียนก็ต้องเป็นคนแก้ และฝากสื่อมวลชนช่วยอธิบายกันด้วยว่าไม่เกี่ยวกัน โยงอย่างไรก็ไม่เกี่ยวกัน แค่ บังเอิญมี คำว่า MOU มีคำว่าไทย มีคำว่าญี่ปุ่น แต่เป็นคนละเรื่องกัน”รมว.คมนาคมกล่าว

นายวรเดช หาญประเสริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า การแก้ไขตามข้อท้วงติงของ ICAO กรณี สินค้าอันรายนั้นได้ออกกฎข้อบังคับ กบร.เพื่อให้การกำกับดูแลที่สอดคล้องกับมาตรฐาน ICAO ซึ่งไม่น่ามีปัญหา ส่วนการออกใบรับรองอนุญาต (AOC) นั้นมีหลายขั้นตอน โดยการตรวจสอบเบื้องต้นมี 60-70 เรื่องที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีการคัดกรองออกมาได้ในวันที่ 3 เม.ย.และจะเสนอขอแก้ไขต่อไป โดยจะพิจารณาว่าจะเสนอตามขั้นตอนปกติหรือเข้ามาตรา 44 ด้านบุคลากร บพ.ได้ทำแผนจ้างบุคลากร 13 คน วงเงิน 23 ล้านบาทเสร็จแล้ว จะเสนอรมว.คมนาคมเห็นชอบ ค่าจ้างมีตั้งแต่ 1 แสน -3 แสนบาทต่อคน ส่วนการอบรมจะต้องเสนอขอเพิ่มงบประมาณอีก 20 ล้านบาท จากเดิมที่มี 5-6 ล้านบาทเท่านั้น กรณีการปรับปรุงระบบเป็นดาต้าเบส วงเงิน 80 ล้านบาท ได้เลือกระบบแล้วโดยจะว่าจ้างทำระบบและเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 3 เดือนหรือใน 15 มิ.ย.58 ตามที่ ICAO ต้องการ ซึ่งจะต้องทบทวนข้อมูลของสายการบิน 64 สายการบิน ให้เสร็จใน 1 เดือน ซึ่งมี 28 สายการบินที่ทำการบินระหว่างประเทศ เมื่อทำกระบวนการเสร็จ จะเชิญ ICAO มาตรวจแผนปรับปรุงอีกครั้ง ถ้าสมบูรณ์ทาง ICAO จะปลด SSC ถ้าไม่สมบูรณ์ ICAO ไม่ปลดล็อค จะเกิดปัญหาแน่นอนเพราะจะกระทบไปถึงสายการบินประจำด้วย ส่วนการปรับโครงสร้าง บพ. นั้นจะต้องดำเนินการให้เสร็จใน 8 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น