“ประจิน” เตรียมส่ง “อาคม และรองปลัดคมนาคม” พบประธาน ICAO ชี้แจงทำความเข้าใจเร่งปลด SSC บพ.ของไทย ส่วนเกาหลียอมผ่อนผันชาร์เตอร์ไฟลต์ไทย 1 สาย คือ เจ็ทเอเซีย แอร์เวย์ บินเข้าออกช่วงวันที่ 7-15 เม.ย. ที่เหลืออีก 2 สายยังไม่อนุญาต เผยผู้โดยสารชาร์เตอร์ไฟลต์ช่วง เม.ย.มีกว่า 2.2 หมื่นคน
พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่สถาบันการบินพลเรือนของสาธารณรัฐเกาหลีไม่อนุญาตให้สายการบินที่ทำการบินแบบประจำของไทยเพิ่มเส้นทางใหม่หรือเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน และไม่อนุญาตให้เที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) สัญชาติไทยบินเข้าเกาหลีใต้ตั้งแต่ 31 มี.ค. ซึ่งเป็นผลจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) เข้ามาตรวจสอบกรมการบินพลเรือน (บพ.) ของไทย และระบุว่ามีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) นั้น ล่าสุดเมื่อเวลา 11.00 น. ของวันที่ 7 เม.ย. ทางเกาหลีได้แจ้งผ่อนผันให้ชาร์เตอร์ไฟลต์ 1 สาย คือ สายการบิน เจ็ทเอเซีย แอร์เวย์ ทำการบินเข้า-ออกเกาหลีได้ ในระหว่างวันที่ 7-15 เม.ย. ซึ่งยังเหลือชาร์เตอร์ไฟลต์อีก 2 สายที่ยังไม่ได้รับอนุญาต คือ สายการบินเอเชีย แอตแลนติก แอร์ไลน์ โดยชาร์เตอร์ไฟลต์ทั้ง 3 สายการบินมีผู้โดยสารในช่วงเดือน เม.ย. รวมกันประมาณ 22,119 คน ส่วนสายการบินที่ทำการบินแบบประจำ ซึ่งมี 2 สาย คือ การบินไทย และไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์นั้น หากมีความต้องการขอเพิ่มเที่ยวบินประจำให้เสนอไปยังเกาหลีเพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเกาหลีเดินทางมาประเทศไทยมากกว่า 1.3 ล้านคนต่อปี และจะมีมากในช่วง เม.ย.-พ.ค. ดังนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งคนไทยและเกาหลี ซึ่งจากที่ทาง บพ.ได้เดินทางไปเกาหลีเมื่อวันที่ 3 เม.ย. ได้ให้ข้อมูล 2 ข้อ คือ 1. ขอให้ทางเกาหลีอนุญาตให้สายการบินของไทยซึ่งจดทะเบียนร่วมกับสายการบินต่างชาติบินเข้าเกาหลีได้ ซึ่งสายการบินนกสกู๊ตจดทะเบียนร่วมกับสายการบินสกู๊ตของสิงคโปร์ ส่วน ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ ร่วมกับแอร์เอเชีย มาเลเซีย ซึ่งทางเกาหลีรับไปพิจารณา และจะแจ้งกลับมาโดยเร็ว
2. ทางเกาหลีได้เสนอที่จะนำข้อมูลพร้อมเจ้าหน้าที่มาช่วย โดยนำบทเรียนกรณีที่เกาหลีได้รับการตรวจสอบความปลอดภัยจากองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐฯ (Federal Aviation Administration - FAA) เมื่อปี 2001 และถูกปรับลดจาก Category 1 เป็น Category 2 ทำให้ไม่สามารถทำการบินไปยังจุดใหม่ๆ ในสหรัฐอเมริกาหรือทำการบินโดยใช้ชื่อเที่ยวบินร่วมกัน (code-share) กับสายการบินต่างๆ ได้ โดยเกาหลีได้เร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงได้ภายใน 4 เดือน
ส่วนการแก้ไขเพื่อเร่งปลด SSC ของ ICAO ซึ่งเหลือเวลาอีก 60 วันนั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า จะต้องเร่งทำแผนการแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan) ฉบับใหม่ส่งให้ ICAO โดยปรับปรุงจากแผนเดิมที่จะทำเป็นหัวข้อรวมระยะเวลาแก้ไขประมาณ 2 ปี โดยฉบับที่ 2 จะระบุรายละเอียดการปรับปรุงในแต่ละเดือนอย่างชัดเจน คือ เดือน เม.ย.ปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง ส่วนเดือน พ.ค.จะเป็นการปรับใหญ่ โดยใช้อำนาจพิเศษใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 44 มาช่วยเร่งรัดกระบวนการ ทั้งการจัดตั้งองค์กร การแก้ไขบทบาทหน้าที่ การบรรจุกำลังคน การใช้งบประมาณจ้างบุคลากร การติดตั้งระบบ การฝึกอบรม การแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อก SSC โดยเร็ว โดยจะให้เสร็จก่อนสงกรานต์ โดยจะนำมาตรฐานสากลมาเปรียบเทียบ เช่น มาตรฐานของสิงคโปร์ หรือ JCAB ของญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่จะขอยกเว้นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง ข้อกฎหมายและการใช้งบประมาณ
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 8-9 เม.ย.นี้ อธิบดี บพ.จะเป็นหัวหน้าคณะของไทยเดินทางไปจีนเพื่อพูดคุยกับทาง บพ.ของจีน ในรูปแบบเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลี แม้ว่าทางจีนจะยังไม่มีมาตรการออกมาจากกรณีที่ ICAO ตรวจสอบ บพ. เนื่องจากเที่ยวบินและผู้โดยสารระหว่างไทย-จีนมีจำนวนมาก จากนั้นวันที่ 20-22 เม.ย. ทางนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม จะเป็นหัวหน้าคณะพร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงคมนาคมและผู้เกี่ยวข้อง เดินทางไปพบกับประธาน ICAO ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจถึงมาตรการที่ บพ.ได้เร่งปรับปรุงแก้ไขในแต่ละเรื่องภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลไทย เพื่อให้ทาง ICA เชื่อมั่น และหวังว่าจะได้รับข่าวดี
นายวรเดช หาญประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า แผนการแก้ไขข้อบกพร่องฉบับแรก กำหนดระยะเวลาในการแก้ไขนานเกินไป ดังนั้นจึงได้ปรับลดระยะเวลาลง ซึ่งจะประชุมคณะทำงานในวันที่ 8 เม.ย. ในประเด็นการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับปรุงระบบฐานข้อมูล แผนการอบรมเจ้าหน้าที่ บพ. เพื่อมุ่งปลด SSC ซึ่งหากมีความชัดเจนจะทยอยส่งแผนแก้ไขข้อบกพร่องให้ ICAO ได้ทันที พร้อมกับส่งให้ทาง JCAB และทุกประเทศที่จะเดินทางไปเจรจาด้วย ส่วนการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าสมัยมีประมาณ 25-30 ฉบับ ซึ่งจะส่งเรื่องเพื่อเร่งใช้มาตรา 44 ดำเนินการ
สำหรับข้อตกลงทางการบินระหว่างไทย-เกาหลีนั้น เป็นข้อตกลงแบบเปิดไม่จำกัดจำนวนเที่ยวบิน ไม่จำกัดเส้นทางบิน บินได้เต็มความจุ ความถี่ แต่เมื่อมีปัญหา SSC ของ ICAO จึงกระทบต่อกฎหมายของเกาหลีที่จะไม่ให้สายการบินประจำซึ่งมีสายการบินไทยและไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์นั้นเพิ่ม แม้จะมีข้อตกลงเดิมแต่ถือว่าขัดกฎหมายภายในเกาหลี