“บีทีเอส กรุ๊ป” ตั้งเป้างบลงทุน 5 ปีนี้ 1.23 แสนล้านบาท หากได้รับงานบริหารเดินรถไฟฟ้าทั้ง 6 เส้นทางใหม่ ระยะทาง 118.5 กม. คาด หนุนรายได้จากการรับจ้างเดินรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแตะ 1 หมื่นล้านบาทในปี 2561
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษทย่อย BTS เปิดเผยแผนการลงทุน 5 ปีนี้ (2558-2562) ว่า บริษัทฯ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 1.23 แสนล้านบาท หากบริษัทฯ ได้งานรับจ้างบริหารเดินรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่ 6 เส้นทาง รวมระยะทาง 118.5 กม.
ประกอบด้วย 1. รถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กม. ซึ่งขณะนี้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างเจรจาโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้กับกรุงเทพมหานคร (กทม.) จากนั้นบริษัทจึงจะเจรจากับ กทม.ในการรับจ้างเดินรถต่อไป คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญารับจ้างบริหารเดินรถกับ กทม.ในไตรมาส 3/2558 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเดิมที่วางไว้ในไตรมาส 2/2558 คาดว่าเส้นทางรถไฟฟ้าสีเขียวใต้แบริ่ง-สมุทรปราการจะเปิดให้บริการได้ในปี 2561-2562 เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้โดยสารใหม่เข้าระบบ 20-30% จากจำนวนผู้โดยสารที่ กทม.คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงวันละ 1 แสนคน
ทั้งนี้ บริษัทฯ จะลงทุนซื้อรถไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นอีก 15 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ ใช้เงินลงทุน 9,000-10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับเส้นทางแบริ่ง-สมุทรปราการ หากบริษัทฯ สามารถเจรจากับ กทม.ได้ทันไตรมาส 3 ตามแผนที่วางไว้ก็จะนำการจัดซื้อรถไฟฟ้าดังกล่าวมารวมกับการสั่งซื้อรถไฟฟ้าอีก 7 ขบวนที่รองรับเส้นทางเดินรถในคราวเดียวกัน ทำให้การประมูลสั่งซื้อรถไฟฟ้าได้ต้นทุนที่ถูกลง ซึ่งปัจจุบันบีทีเอสมีรถไฟฟ้ารองรับอยู่ 52 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้
2. รถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิด-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 18.4 กม. คาดว่าจะได้ข้อสรุปและลงนามสัญญาการก่อสร้างโยธาภายในกลางปีนี้ และบริษัทฯ น่าจะมีโอกาสได้รับให้เป็นผู้บริหารการเดินรถส่วนต่อขยายเส้นทางนี้ มีแผนเปิดให้บริการในปี 2562 โดยบริษัทฯ จะต้องลงทุนซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 20-21 ขบวน รวมทั้งลงทุนระบบไฟฟ้า อาณัติสัญญาณ ระบบตั๋ว คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
3. ระบบรถไฟฟ้ารางคู่ขนาดเบา (LRT) จากบางนา-สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.3 กม. มูลค่าโครงการ 2.5 หมื่นล้านบาท บริษัทฯ คาดว่าจะมีการประมูลเส้นทางนี้ในปีนี้ ขณะนี้ผลศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเสร็จแล้วพร้อมกับการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เสร็จเรียบร้อยแล้ว รอนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าปลายปีนี้จะเริ่มงานก่อสร้าง และแล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2561
4. รถไฟฟ้ารางเดี่ยวสายสีเทา ช่วงวัชรพล- ทองหล่อ เป็นโครงการของ กทม.ที่จะลงทุนด้านงานโยธา มูลค่าโครงการ 2.4 หมื่นล้านบาท และบริษัทคาดว่าจะมีโอกาสได้งานรับจ้างบริหารการเดินรถจาก กทม. ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่าทำเสร็จปลายปีนี้
5. ส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงบางหว้า-บรมราชชนนี ระยะทาง 7 กม. คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2562 ขณะนี้ กทม.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการแล้ว คาดเสร็จสิ้นปีนี้ใกล้เคียงกับรถไฟฟ้าสายสีเทา โดยเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ตลิ่งชัน ซึ่ง BTS มีโอกาสได้เจรจาบริหารเดินรถ เพราะระยะทางเพียง 7 กม. ซึ่งใช้รถไฟฟ้าเพิ่มอีก 6 ขบวน
และ 6. รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี คาดว่าจะเปิดประมูลในปลายปีนี้ และจะเปิดให้บริการในปี 2563-64 ขณะนี้รอนำเสนอเข้า ครม.พิจารณาอนุมัติ ทั้งนี้ การเดินรถสายสีชมพูเป็นรถแบบโมโนเรล ซึ่งบริษัทจะเข้าประมูล
สำหรับแหล่งเงินลงทุนทั้ง 6 โครงการดังกล่าวข้างต้นบริษัทฯ มีความพร้อม โดยมีเงินสดในมือกว่า 3 หมื่นล้านบาท เงินจากการออกวอร์แรนต์ที่มีอายุ 3 ปี วงเงิน 4.8 หมื่นล้านบาท และมีความสามารถกู้ได้อีกราว 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ หากบริษัทได้รับเลือกให้เดินรถทั้ง 6 เส้นทางดังกล่าวข้างต้นจะทำให้มีผู้โดยสารเข้าระบบบีทีเอสเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน/วัน หนุนรายได้จากการรับจ้างเดินรถเพิ่มขึ้นมาเป็น 1 หมื่นล้านบาทในปี 2561 จากปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้ 1.7 พันล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2557/58 (เม.ย. 57-มี.ค. 58) คาดว่าจำนวนผู้โดยสารโตขึ้นจากปีก่อน 3% และรายได้จากการเดินรถโต 6% โดยยอมรับว่าจำนวนผู้โดยสารปีนี้โตต่ำกว่าเป้าที่วางไว้โต 5-8% แต่รายได้จากเดินรถเป็นไปตามเป้า
ส่วนการปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา หากจะปรับขึ้นก็จะมีผลในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ โดยจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วัน ปัจจุบันบริษัทเก็บค่าโดยสาร 15-42 บาท/เที่ยว ซึ่งเก็บต่ำกว่าสิทธิที่เก็บได้ในช่วง 20-60 บาท/เที่ยว