“ประจิน” ขีดเส้น กทม.เร่งสรุปรายละเอียดรับโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ ไปดูแลใน มิ.ย.นี้ ยันต้องรับหนี้ค่าก่อสร้าง 1.9 หมื่นล้าน ไม่รับข้อเสนอผ่อนจ่าย ยอมรับเจรจาตรง BTS ทำยาก ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หวั่นครหาไม่ประมูล ไม่โปร่งใส
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างการเจรจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ให้ กทม.รับไปดูแล ซึ่งขณะนี้มี 3 ประเด็นที่ทาง กทม.จะต้องหาข้อสรุปภายในเดือนมิถุนายนนี้ คือ ประสานกับกระทรวงการคลังกรณีให้ กทม.รับภาระค่าใช้จ่ายค่างานโยธา วงเงิน 19,000 ล้านบาท แทน รฟม. เนื่องจากก่อนหน้านี้ กทม.ได้เสนอขอผ่อนชำระค่าก่อสร้างให้ รฟม.เป็นระยะเวลา 10 ปี แต่กระทรวงคมนาคมเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่สามารถรับได้เพราะนานเกินไป และต้องการตัดภาระหนี้ส่วนนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันให้ รฟม.ออกไปทั้งหมด
นอกจากนี้ กทม.ต้องประสานกับจังหวัดสมุทรปราการกรณีที่ต้องเดินรถออกนอกพื้นที่ กทม. ซึ่ง กทม.แจ้งว่าได้ประสานในขั้นต้นแล้วไม่มีปัญหา โดยจะทำหนังสือเป็นทางการระหว่าง กทม.กับท้องถิ่น และประเด็นการเดินรถต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนจะต้องได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการ และค่าโดยสารต้องไม่เป็นภาระแก่ประชาชน ซึ่ง กทม.ขอเวลาไปกำหนดรายละเอียดและแผนการโอนค่าใช้จ่ายให้ รฟม.
“รฟม.ได้เจรจากับ กทม.มาประมาณเดือนครึ่งแล้ว ซึ่งทาง กทม.อยากให้ช่วยเรื่องการโอนค่าใช้จ่ายโดยขอผ่อน 10 ปี ซึ่งนานเกินไป จึงแนะให้ กทม.ไปเจรจากับกระทรวงการคลังเอง รายละเอียดการเจรจาต้องสรุปชัดเจนภายใน มิ.ย.นี้ เพราะต้องการให้สอดคล้องกับระยะเวลาในการจัดหารถไฟฟ้า ซึ่งทราบว่าทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS มีแผนจัดซื้อรถใหม่ หากซื้อรวมเป็นล็อตเดียวกันจะทำให้ได้ราคาถูก และจะส่งผลให้กำหนดค่าโดยสารได้ถูกไปด้วย” พล.อ.อ.ประจินกล่าว
พล.อ.อ.ประจินกล่าวยืนยันว่า ขณะนี้การเจรจาเพื่อโอนโครงการสายสีเขียวใต้ให้ กทม.รับไปเป็นเจ้าของและจ้าง BTS เดินรถเป็นแนวทางแรกที่มีเหตุผลเหมาะสมที่สุด เนื่องจากหาก รฟม.จะเจรจาตรงกับ BTS จะต้องเข้ากระบวนการร่วมทุน ซึ่งต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 เนื่องจากเกิดหลังปี 2556 ซึ่งการปฏิบัติทำได้ 2 แนวทาง คือ เปิดประกวดราคา หรือเจรจา ซึ่งหาก รฟม.เลือกเปิดประกวดราคาต้องเริ่มต้นและใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน หรือหากเลือกวิธีเจรจาตรงกับ BTS อาจจะมีคำถามว่าทำไมไม่เปิดประกวดราคา อาจทำให้งานเดินรถล่าช้ายิ่งขึ้น ในขณะที่การก่อสร้างงานโยธามีความคืบหน้าไปมากแล้ว เกรงว่าจะไม่ทัน และเห็นว่า กทม.มีสัญญากับ BTS อยู่แล้ว และหาก รฟม.สามารถโอนงานให้ กทม.ไปได้ก็จะเดินรถได้รวดเร็ว เพราะทางบีทีเอสจะสามารถวางแผนซื้อรถได้ทันที ในขณะเดียวกันทาง รฟม.ได้ศึกษาทีโออาร์กรณีประกวดราคาไว้เป็นแผนสำรอง หากการเจรจาโอนให้ กทม.ไม่ประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะมาพบเพื่อหารือความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคตนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเจรจากับ BTS เดินรถต่ออีกหรือไม่ เพราะต้องรอความชัดเจนแนวทางในสายสีเขียวใต้ก่อน และยังมีเวลาพิจารณาไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ เนื่องจากการก่อสร้างงานโยธายังไม่ได้เริ่ม และ รฟม.สามารถดูแลการเดินรถได้เอง
ก่อนหน้านี้ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร BTS เปิดเผยว่า BTS มีความพร้อมอย่างเต็มที่ต่อการรับงานเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจาก กทม.และกระทรวงคมนาคมเท่านั้น ขณะที่ BTS มีแผนจัดซื้อรถจำนวน 10 ขบวน (ขบวนละ 4 ตู้) วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อมารองรับการให้บริการในสายทางดังกล่าว ซึ่งสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยศึกษาไว้ว่าในปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารที่ 1.4 แสนคนต่อวัน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้โดยสารเก่าแต่โดยสารไกลขึ้น
ขณะเดียวกัน ในปีนี้ BTS ยังมีแผนจัดซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 7 ขบวน วงเงิน 2,000 ล้านบาทเพื่อมาวิ่งบริการในสายทางปัจจุบัน ดังนั้นรวมแล้ว BTS จะต้องจัดหารถเพิ่มอีกประมาณ 20 ขบวน และจะเริ่มการจัดซื้อช่วงปลายปี 2558 ด้านเงินลงทุนนั้น BTS มีเพียงพอโดยไม่ต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่ม เพราะปัจจุบัน BTS มีเงินสดที่นำฝากไว้ในธนาคารจำนวน 30,000 ล้านบาท