xs
xsm
sm
md
lg

ประจินปัดข้อเสนอผ่อน10ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“ประจิน” ขีดเส้น กทม.เร่งสรุปรายละเอียดรับโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการไปดูแล ในมิ.ย.นี้ ยันต้องรับหนี้ค่าก่อสร้าง1.9 หมื่นล. ไม่รับข้อเสนอผ่อนจ่าย ยอมรับเจรจาตรง BTS ทำยาก ต้องเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หวั่นครหาไม่ประมูล ไม่โปร่งใส เผยเตรียมถกรถไฟ ไทย-จีน ครั้งที่ 3 ด้านรมช.กลาโหม พร้อมหนุนสำรวจออกแบบเสร็จใน 6 เดือน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อยู่ระหว่างการเจรจากับกรุงเทพมหานคร(กทม.) เพื่อโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ให้กทม.รับไปดูแล ซึ่งขณะนี้มี 3 ประเด็นที่ทางกทม.จะต้องหาข้อสรุป ภายในเดือนมิถุนายนนี้ คือ ประสานกับกระทรวงการคลังกรณีให้กทม.รับภาระค่าใช้จ่ายค่างานโยธา วงเงิน 19,000 ล้านบาท แทนรฟม.

เนื่องจากก่อนหน้านี้ กทม.ได้เสนอขอผ่อนชำระค่าก่อสร้างให้ รฟม. เป็นระยะเวลา 10 ปี แต่กระทรวงคมนาคมเห็นว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่สามารถรับได้ เพราะนานเกินไปและต้องการตัดภาระหนี้ส่วนนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันให้รฟม. ออกไปทั้งหมด

นอกจากนี้ กทม.ต้องประสานกับจังหวัดสมุทรปราการ กรณีที่ต้องเดินรถออกนอกพื้นที่ กทม. ซึ่งกทม.แจ้งว่าได้ประสานในขั้นต้นแล้วไม่มีปัญหา โดยจะทำหนังสือเป็นทางการระหว่างกทม.กับท้องถิ่น และ ประเด็น การเดินรถต่อเนื่อง เพื่อให้ ประชาชนจะต้องได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการ และค่าโดยสารต้องไม่เป็นภาระกับประชาชน ซึ่งกทม.ขอเวลาไปกำหนดรายละเอียดและแผนการโอนค่าใช้จ่ายให้รฟม.

"รฟม.ได้เจรจากับกทม.มาประมาณ เดือนครึ่งแล้ว ซึ่งทางกทม.อยากให้ช่วยเรื่องการโอนค่าใช้จ่ายโดย ขอผ่อน 10 ปี ซึ่งนานเกินไป จึงแนะให้กทม.ไปเจรจากับกระทรวงการคลังเอง รายละเอียดการเจรจาต้องสรุปชัดเจนภายในมิ.ย.นี้ เพราะต้องการให้สอดคล้องกับระยะเวลาในการจัดหารถไฟฟ้า ซึ่งทราบว่า ทางบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS มีแผนจัดซื้อรถใหม่ หากซื้อรวมเป็นล็อตเดียวกัน จะทำให้ได้ราคาถูก และจะส่งผลให้กำหนดค่าโดยสารได้ถูกไปด้วย" พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวยืนยันว่า ขณะนี้การเจรจาเพื่อโอนโครงการสายสีเขียวใต้ให้กทม.รับไปเป็นเจ้าของและจ้าง BTS เดินรถ เป็นแนวทางแรกที่มีเหตุผลเหมาะสมที่สุด เนื่องจาก หากรฟม.จะเจรจาตรงกับBTS จะต้องเข้ากระบวนการร่วมทุน ซึ่งต้องปฎิบัติตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ2556 เนื่องจากเกิดหลังปี 2556 ซึ่งการปฎิบัติทำได้ 2 แนวทาง คือ เปิดประกวดราคา หรือเจรจา ซึ่งหาก รฟม.เลือกเปิดประกวดราคา ต้องเริ่มต้นและใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน หรือหากเลือกวิธีเจรจาตรงกับ BTS อาจจะมีคำถามว่าทำไมไม่เปิดประกวดราคา อาจทำให้งานเดินรถล่าช้ายิ่งขึ้น ในขณะที่การก่อสร้างงานโยธามีความคืบหน้าไปมากแล้ว เกรงว่า จะไม่ทัน และเห็นว่า กทม.มีสัญญากับBTS อยู่แล้ว และหากรฟม.สามารถโอนงานให้กทม.ไปได้ก็จะเดินรถได้รวดเร็ว เพราะทางBTSจะสามารถวางแผนซื้อรถได้ทันที ในขณะเดียวกัน ทางรฟม.ได้ศึกษาทีโออาร์กรณีประกวดราคาไว้เป็นแผนสำรอง หากการเจรจาโอนให้กทม.ไม่ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม เร็วๆนี้ นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จะมาพบเพื่อหารือความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคตนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเจรจากับ BTS เดินรถต่ออีกหรือไม่ เพราะต้องรอความชัดเจนแนวทางในสายสีเขียวใต้ก่อน และยังมีเวลาพิจารณา ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ เนื่องจากการก่อสร้างงานโยธายังไม่ได้เริ่ม และรฟม.สามารถดูแลการเดินรถได้เอง

***เตรียมข้อมูลถกรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 3

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย (คบร.) กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการที่ปรึกษา ที่มีพล.อ. อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธานวานนี้ (5 มี.ค.) ว่า เป็นการเตรียมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟไทย-จีน เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย-มาบตาพุด และแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางรวม 873 กิโลเมตร เพื่อประชุมร่วมกับจีน ครั้งที่ 3 ในวันที่ 10 มี.ค.ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะสามารถสรุปรายละเอียดในการจัดทำบันทึกความร่วมมือเพื่อการทำงานร่วมกัน (Memorandum of Cooperation : MOC) รูปแบบการลงทุน เงื่อนไขทางการเงิน ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องของแต่ละประเทศ เป็นต้น ซึ่งคณะที่ปรึกษาฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อทำให้สามารถเริ่มการสำรวจและออกแบบทั้ง 4 ช่วงได้ในเดือนมีนาคมนี้

ทั้งนี้ กก. ในคณะอนุฯที่ปรึกษานั้น มีหลายกระทรวงเกี่ยวข้องเพื่อให้คำแนะนำทั้งด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินโครงการราบรื่นตั้งแต่เริ่มต้นสำรวจ ออกแบบ ก่อสร้าง และเดินรถ รวมถึงให้ข้อคิดเห็นในการทำ MOC ให้ชัดเจนและเป็นสากล สามารถปฎิบัติได้จริง โดยกระทรวงกลาโหม จะให้การสนับสนุนในเรื่องแผนที่ภาพถ่าย
อุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ในการสำรวจเส้นทางพร้อมกับล่ามและช่วยประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับประชาชนในรูปแบบต่างๆ ส่วนกระทรวงมหาดไทย จะประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาลและอบต. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ช่วยดูแลกระบวนการด้านสิ่งแวดล้มให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน กระทรวงการคลัง ช่วยในเรื่องรูปแบบลงทุนและเงื่อนไขทางการเงิน
เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น