xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” หวั่นใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ทำเดินรถสีน้ำเงินต่อขยายล่าช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ประจิน” หวั่นมติ ครม.ศก.สั่งเปลี่ยนใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ทำเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายล่าช้า สั่ง “ปลัดคมนาคม” เร่งศึกษาข้อดี ข้อเสีย ก่อนสรุปเรื่องเสนอ ครม.ชุดใหญ่ 3 มี.ค. ยันปรับรูปแบบลงทุนจาก PPP-Gross Cost เป็น PPP-Net Cost กับเดินรถต่อเนื่อง ประชาชนได้ประโยชน์และรัฐประหยัดค่าลงทุน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ได้เห็นชอบในหลักการโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กม.ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยให้เป็นการเดินรถแบบต่อเนื่อง (Through Operation) และให้มีการศึกษาทบทวนรูปแบบการลงทุนแบบ PPP-Net Cost Concession
(เอกชนเป็นผู้จัดเก็บค่าโดยสาร โดยมีการกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำที่เอกชนจะได้รับ ซึ่งผลตอบแทนนี้จะครอบคลุมต้นทุนการดำเนินงานของเอกชน หากเอกชนมีผลขาดทุน รัฐอาจจะต้องจ่ายเงินชดเชย (Subsidy) และหากมีกำไรอาจจะต้องจ่ายคืนรัฐบาล ตามที่ได้ตกลงไว้) เป็นลำดับแรกก่อนในการเจรจาตรงกับผู้ประกอบการรายเดิม ซึ่งเป็นการยกเลิกมติ ครม.เดิมเมื่อปี 2553 ที่ให้ใช้รูปแบบ PPP-Gross CostConcession (สัมปทานสำหรับการลงทุนการจัดหาระบบรถไฟฟ้าการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษา รัฐจะเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บค่าโดยสารเองทั้งหมด และว่าจ้างให้เอกชนเข้าทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการเดินรถและซ่อมบำรุง โดยเอกชนจะได้รับค่าจ้างเดินรถจากรัฐตามมาตรฐานการดำเนินงานและอัตราค่าจ้างที่ตกลงกัน (Fixed Payment)

โดย ครม.ศก.ได้มีมติเพิ่มเติมว่า ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) จากเดิมที่ใช้พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 ซึ่งนอกเหนือจากที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เร่งศึกษาข้อดี ข้อเสีย หากเปลี่ยนจาก พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 เป็น พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ว่าทำได้แค่ไหน และจะส่งผลให้การดำเนินงานได้รวดเร็วตามที่คาดหวังไว้ว่าต้องการให้เปิดเดินรถให้บริการโดยจะต้องสอดคล้องกับที่งานโยธาเสร็จหรือไม่ โดย ครม.ศก.ให้กระทรวงคมนาคมสรุปเรื่องเพื่อนำเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาในวันที่ 3 มีนาคมต่อไป

“กระทรวงเสนอเรื่องใช้รูปแบบ PPP-Net Cost กับเดินรถต่อเนื่องเพราะเห็นชัดเจนว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและภาครัฐมากกว่า ไม่ได้เสนอใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 แทน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 จึงไม่สบายใจที่ ครม.ศก.มีมติเพิ่มเติม จึงต้องเร่งศึกษา ผมเป็นห่วงว่าอาจจะทำให้ล่าช้าหรือไม่ ซึ่งให้ปลัดกระทรวงคมนาคมหารือกับ รมช.คมนาคม นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ด้วย เพราะท่านเป็นเลขาฯ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ด้วยจะเข้าใจเรื่องข้อกฎหมายค่อนข้างดี” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีเจตนา 2 ข้อ คือใช้รูปแบบ PPP-Net Cost นั้นจะเป็นการร่วมกันดูแล โดย รฟม.กำกับดูแลและไม่ได้โอนความรับผิดชอบให้เอกชนทั้ง 100% โดยให้เอกชนดำเนินการเดินรถให้ ประเด็นที่ 2 คือการเดินรถแบบต่อเนื่อง ประชาชนสะดวกไม่ต้องลงจากอีกขบวนเพื่อมาขึ้นอีกขบวน สามารถใช้ระบบตั๋วเดียวกัน การบริหารเวลาจะดีและตรง ตลอดสายสีน้ำเงินส่วนที่รัฐได้ประโยชน์คือ ไม่ต้องลงทุนก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและระบบศูนย์ควบคุมการเดินรถเพิ่ม

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ในทางปฏิบัติ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 จะมีขั้นตอนการเพิ่มเติมมากกว่า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ใช้ในการพิจารณาเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เช่น มีคณะกรรมการนโยบาย PPP ขึ้นมา นอกจากนี้เท่ากับว่าขั้นตอนเดิมที่ใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ที่มีคณะกรรมการตามมาตรา 13 ซึ่งใกล้จะได้ข้อสรุปแล้วจะต้องยุติและกลับไปเริ่มต้นกระบวนการใหม่ตั้งแต่ตั้งคณะกรรมการตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ใหม่ ซึ่งการตั้ง กก.มาตรา 35 นี้แม้จะมีจำนวนองค์ประกอบน้อยลงแต่ผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องเลือกจากที่ขึ้นบัญชีไว้กับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งหากเป็น กก.ใหม่ก็จะต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันใหม่ ทั้งนี้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 นั้นมีบทเฉพาะกาลไว้ว่า โครงการใดที่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 อยู่ก็ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น มีมติ ครม.ตั้งแต่ปี 2553 ก่อนที่ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 จะมีผลบังคับใช้
กำลังโหลดความคิดเห็น