ครม.เห็นชอบ รฟม.เดินรถสายสีน้ำเงินต่อขยายแบบต่อเนื่อง สั่งคมนาคมหารือ สศช.และกฤษฎีกาหาข้อสรุปใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ฉบับใหม่ หรือ พ.ร.บ.ปี 35 ตามเดิม ใน 2 สัปดาห์ “ประจิน” เผย พ.ร.บ.ร่วมทุน 56 เปิดกว้างเจรจาตรงได้ก่อนช่วยแก้ปัญหา กม.เดิมต้องประมูลก่อน หวั่นเป็นปัญหาเดินรถต่อเนื่องไม่ได้
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (3 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเรื่องการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กม. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ประกอบกับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกฤษฎีกาให้เป็นการเดินรถแบบต่อเนื่อง (Through Operation) และดำเนินการตามขั้นตอนการร่วมลงทุนรัฐกับเอกชน PPP-Net Cost คือรัฐบาลเป็นผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนเอกชนรับสัมปทาน เก็บค่าโดยสารและแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ เช่นเดียวกับสัญญาสัมปทานเดินรถสายเฉลิมรัชมงคล โดยให้กระทรวงคมนาคม สภาพัฒน์ฯ และกฤษฎีกาประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการใน 2 แนวทาง ระหว่างดำเนินการตามแนวทางเดิม คือ พระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) หรือแนวทางใหม่ ใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 โดยจะเร่งสรุปภายใน 2 สัปดาห์
ทั้งนี้ มีข้อสังเกตในประเด็นกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับรูปแบบการลงทุนระหว่างการใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 โดยทางกฤษฎีกาให้ความเห็นถึงความแตกต่างว่า หากใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 คณะกรรมการมาตรา 13 จะต้องเลือกวิธีการประมูลคัดเลือกเอกชนเป็นลำดับแรก ในขณะที่หากใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 จะมีความยืดหยุ่นมากกว่า เนื่องจากสามารถใช้วิธีเจรจากับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ผู้รับสัมปทานเดินรถรายเดิมได้ ซึ่งตรงกับแนวทางของกระทรวงคมนาคมที่เห็นว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการมากกว่าเพราะสามารถเดินรถต่อเนื่องได้ จึงต้องหารือกับสภาพัฒน์ฯ และกฤษฎีกาก่อนเพื่อสรุปรูปแบบ และไม่ให้การดำเนินการติดปัญหาข้อกฎหมาย แต่หลักการนั้นมีความเข้าใจตรงกันว่า เป้าหมายเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่ประชาชนและไม่เป็นภาระการลงทุนต่อภาครัฐและเอกชน และ หากได้ข้อสรุปอย่างไรไม่ต้องเสนอ ครม.แล้ว ให้เดินหน้าต่อทันที
“ของเดิมใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 รูปแบบ PPP-Gross Cost ตามข้อกฎหมายกำหนดให้ต้องใช้วิธีประมูลก่อน แต่หากต้องการเดินรถต่อเนื่องต้องพิจารณาใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 เพราะผ่อนปรนให้ใช้การเจรจาได้ ซึ่งกระทรวงต้องการปรับไปใช้รูปแบบ PPP- Net Cost อีกด้วย ซึ่งการเปลี่ยนไปใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 อาจจะต้องเริ่มต้นขั้นตอนตามกติกากันใหม่ซึ่งจะเสียเวลาอีก 1-2 เดือน
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินโครงการ เนื่องจากหากพิจารณาล่าช้าและทำให้การจัดหารถล่าช้าจะเกิดปัญหาค่าใช้จ่ายในการดูแลงานโครงสร้างและรางที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณกลางปี 2560 ระยะเวลาในการลงนามสัญญาและจัดหารถไฟฟ้า 2.5-3 ปี ซึ่งจะทำให้เปิดเดินรถได้ช่วงกลางปี-ปลายปี 2560 ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในเรื่องการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุง และจะทำให้การเดินรถของเอกชนที่เข้ามาเกิดความต่อเนื่องและมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่สูง เพราะจะส่งผลไปถึงการกำหนดอัตราค่าโดยสารเพื่อไม่ให้ผู้ใช้บริการเดือดร้อน โดยต้องให้ผู้ใช้บริการทุกวัย ทุกระดับ คนพิการ เข้าถึงบริการได้สะดวก
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า แม้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 จะทำให้ต้องเริ่มต้นกระบวนการพิจารณาเรื่องเดินรถกันใหม่ซึ่งคาดว่าจะเสียเวลา 1-2 เดือนเท่านั้น แต่จะสามารถเลือกวิธีการเจรจาตรงได้ทันที ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหากรณีที่คณะกรรมการมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 เดิมยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนมติจากวิธีประมูลเป็นการเจรจาตรงได้ และทำให้การเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายไม่สามารถหาข้อสรุปได้
นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศ วงเงิน 40,000 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างและซ่อมแซมถนนที่อยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบททั่วประเทศ แบ่งเป็นโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) 800 โครงการ วงเงิน 25,000 ล้านบาท และโครงการของทางหลวงชนบท (ทช.) 1,300 โครงการ วงเงิน 15,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงในพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่เขตเมืองเล็ก เมืองใหญ่ และพื้นที่เชื่อมไปยังเขตเศรษฐกิจชายแดน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในเรื่องเดินรถและความปลอดภัย โดยเป็นโครงการขนาดเล็กเพื่อให้บริษัทที่มีขนาดเล็กเข้าร่วมงานได้ และเป็นการกระจายเงินสู่ท้องถิ่น ขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างงานในพื้นที่ ระยะเวลาดำเนินงานประมาณ 8-10 เดือน คาดว่าปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายน จะเริ่มดำเนินงานได้และแล้วเสร็จภายในปี 2558