บีทีเอสลุ้นประมูลซื้อรถไฟฟ้ารวดเดียว 20 ขบวนในปีนี้หากได้ข้อสรุปให้เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ในกลางปีนี้ ย้ำมีเงินตุนเพียบ เผย 9 เดือนมีรายได้จากค่าโดยสารโตตามเป้า 6% เซ็นเอ็มโอยูร่วมกับอิออนทำบัตร “อิออน-แรบบิท”
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ตามที่มีแผนเปิดประมูลซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ มูลค่ารวม 2 พันล้านบาทอย่างช้าในปลายปีนี้ เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารในปี 2562 หากได้ข้อสรุปให้บริษัทเป็นผู้เดินรถสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ภายในปีนี้ ก็จำเป็นต้องซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 13 ขบวน ก็จะดำเนินการประมูลซื้อรถไฟฟ้าไปพร้อมกันทีเดียว 20 ขบวน รวมมูลค่าทั้งสิ้น 6-7 พันล้านบาท
ซึ่งการเปิดประมูลสั่งซื้อรถไฟฟ้าจำนวนมากขึ้นจะทำให้บริษัทมีอำนาจในการเจรจาต่อรองด้านราคา และจำนวนผู้ที่ยื่นประมูลแข่งขันก็มากขึ้นจากเดิมที่มีเพียงซีเมนส์และจีน แต่หากยังไม่มีความคืบหน้าในการให้บริษัทเป็นผู้เดินรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการในปีนี้ ก็คงไม่รอ และจะเปิดประมูลเพียง 7 ขบวนไปก่อน
ส่วนแหล่งเงินทุนในการซื้อรถไฟฟ้าดังกล่าวนี้ไม่มีปัญหา เนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินในมือสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท และไม่มีการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าในต่างประเทศด้วย
ก่อนหน้านี้ รมว.คมนาคมได้มอบนโยบายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เจรจากับกรุงเทพมหานครและบีทีเอส เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันกรณีรูปแบบการเดินรถเชื่อมต่อเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งวิธีการเจรจากับบีทีเอสให้เป็นผู้รับจ้างเดินรถไฟฟ้าจะเป็นการลงทุนที่มีความคุ้มค่ามากกว่าเปิดประกวดราคา
นายสุรพงษ์กล่าวต่อไปว่า ยอดจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสในช่วง 9 เดือนแรกปี 2558/2559 (เม.ย-ธ.ค. 58) เพิ่มขึ้น 3% แต่รายได้จากค่าโดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6% ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คาดว่าทั้งปีจะโตได้กว่า 6% ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสเฉลี่ยวันละ 6 แสนเที่ยวคน/วัน
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการทบทวนการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส หลังจากได้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารมาเมื่อ มิ.ย. 2556 เนื่องจากแต่ละปีบริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 6%
วันนี้ (2 ก.พ.) มีการลงนามสัญญาในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ระหว่างบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกสมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (BSS) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยบีทีเอส และบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) (AEONTS) เพื่อความร่วมมือทางธุรกิจระยะยาวระหว่างบีทีเอสกับอิออน ซึ่งเป็นหนึ่งในการขยายพันธมิตรและธุรกิจด้านสมาร์ทการ์ดของบีทีเอสกรุ๊ปหรือบัตรแรบบิท
ปัจจุบันมีผู้ถือบัตรแรบบิทอยู่ประมาณ 3.5 ล้านใบ และโดยการเข้าร่วมโครงการนี้ BSSตั้งเป้าว่าจะสามารถเพิ่มยอดผู้ถือบัตรแรบบิทได้อีกประมาณ 7 แสนใบใน 5 ปีข้างหน้าภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ BSS และ AEONTS จะร่วมกันออกบัตรแรบบิทร่วม (the Co-Branded Rabbit) ซึ่งผลิตภัณฑ์แรกตามโครงการนี้คือบัตรสมาชิกอิออน-แรบบิท (AEON Rabbit Member Card) โดยผู้ถือบัตรนี้สามารถใช้บัตรเพื่อรับบริการสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคจาก AEONTS และใช้บัตรเพื่อเดินทางโดยสารในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส ตลอดจนใช้บัตรนี้ในการซื้อสินค้าหรือรับบริการจากร้านค้าต่างๆ ที่ร่วมรับบัตร
นอกจากนี้ บริษัท บีเอสเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ กำลังจะจัดตั้งขึ้น และ AEONTS จะร่วมกันจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อรับโอนสิทธิเรียกร้องในสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคที่เกิดจากการเบิกใช้สินเชื่อผ่านบัตรสมาชิกอิออน-แรบบิท เพื่อดำเนินโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) ตามพระราชกำหนดนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ พ.ศ. 2540 โดยโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์นี้มีอายุไม่เกิน 10 ปี และมีขนาดลงทุนของโครงการไม่เกิน 5,000 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะเข้าลงทุนในหุ้นกู้ที่จะออกโดยนิติบุคคลเฉพาะกิจนี้ในจำนวนไม่เกิน 4,500 ล้านบาท และ BSS Holdings และ AEONTS ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลเฉพาะกิจนี้ตามสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ คาดว่าจะดำเนินการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจนี้เสร็จในไตรมาส 1/2558
โดยนิติบุคคลเฉพาะกิจนี้จะนำเงินที่ระดมทุนได้จากหุ้นกู้และเงินกู้ยืมนี้ไปซื้อสิทธิเรียกร้องในสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคจาก AEONTS