xs
xsm
sm
md
lg

การบินไทยหั่นเป้ารายได้เหลือ 1.7 แสนล้าน โละเครื่องเก่า-ยกเลิก 20 เส้นทางลดขาดทุนปี 58

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
การบินไทยลุยขายเครื่องเก่าล็อตใหญ่รวม 42 ลำ โดยขายไปแล้ว 10 ลำ พร้อมทยอยยกเลิก 15-20 เส้นทาง ลดขาดทุน ปรับเป้ารายได้ปี 58 เหลือ 1.7 แสนล้าน “จรัมพร” เร่งเพิ่มศักยภาพฝ่ายขายและลดต้นทุนเพื่อแข่งขันช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดจากสายการบินคู่แข่งได้

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การบินไทยที่มีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และรักษาการประธานบอร์ดการบินไทยเป็นประธาน วันที่ 23 ก.พ. มีมติอนุมัติให้การบินไทยปลดระวางเครื่องบินจำนวน 14 ลำ ประกอบด้วยเครื่องบินแอร์ A330-300 จำนวน 6 ลำ, แอร์บัส A 340-600 โบอิ้ง B 747-400 จำนวน 2 ลำ โดยจะเร่งดำเนินการขายในกลางปีนี้ และในเดือนมิถุนายนนี้จะเสนอบอร์ดขออนุมัติปลดระวางเครื่องบินโบอิ้ง B 747-400 ที่เหลืออีก 8 ลำเพื่อเร่งขายในสิ้นปี 2558 โดยรวมแล้วการบินไทยจะปลดระวางเครื่องบินทั้งสิ้น 42 ลำ โดยก่อนหน้านี้บอร์ดอนุมัติไปแล้ว 20 ลำ ทยอยขายไปแล้วเหลือ 10 ลำ ซึ่งหลังปลดระวางได้ตามแผนจะทำให้ฝูงบินมีจำนวน 77 ลำ บวกกับเครื่องบินในส่วนของไทยสมายล์ 20 ลำ โดยมีอายุเฉลี่ยที่ 7.8 ปี และมีเครื่องบินประมาณ 6 แบบ โดยปีนี้จะทยอยรับมอบปี58 รวม 6 ลำ ประกอบด้วย B777 / 2 ลำ (รับมอบแล้ว), B787 / 2 ลำ และ A320 / 2 ลำ (รอรับมอบ) ซึ่งข้อดีของการมีแบบเครื่องบินน้อยลงและอายุเฉลี่ยน้อยจะช่วยเรื่องความรู้สึกของผู้โดยสาร และจะมีต้นทุนต่ำกว่าเมื่อเปรียบกับสายการบินที่มีเครื่องบินหลายแบบ ประมาณ 6% ซึ่งถือว่ามากทีเดียว

นอกจากนี้ การบินไทยยังทยอยยกเลิกเส้นทางบินที่ขาดทุนซึ่งมีประมาณ 15-20 เส้นทาง โดยยกเลิกแล้ว 10 เส้นทาง (9.7% ของกำลังการผลิต) เช่น มอสโก ประเทศรัสเซีย ซึ่งขาดทุนติดต่อกัน 9 ปี ปีละประมาณ 300 ล้านบาท, มาดริด ประเทศสเปน เริ่มหยุดบิน 6 กันยายน 58, โจฮันเนสเบิร์ก เป็นต้น และลดความถี่เส้นทางแฟรงก์เฟิร์ต และลอนดอนลง โดยใช้แอร์บัส A380 บินแทน B747, B 340 เริ่มเดือนกรกำาคมนี้ ในขณะเดียวกันจะเพิ่มเที่ยวบินในเส้นทางที่มีศักยภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเส้นทางในภูมิภาค

ทั้งนี้ การยกเลิกเส้นทางใดนั้นมีหลักพิจารณา 6 ข้อ เช่น ขนาดของตลาดใหญ่หรือไม่ มีศักยภาพเติบโตหรือไม่, ขนาดเครื่องบินเหมาะสมหรือไม่, บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกของเครื่องบินเหมาะกับลูกค้าเป้าหมายหรือไม่, ต้นทุนต่ำพอที่จะแข่งหรือไม่, ทำการตลาดเก่งหรือไม่, ฐานลูกค้ามากพอที่จะได้ส่วนแบ่งหรือไม่ ต้องเก่งทั้ง 6 ด้านจึงจะได้กำไร

นายจรัมพรกล่าวว่า การยกเลิกเส้นทางขาดทุนเป็นการลดกำลังการผลิต ซึ่งทำให้ต้องปรับลดเป้าหมายรายได้ในปี 58 มาอยู่ที่ 1.7 แสนล้านบาท จากเป้าเดิม 1.85 แสนล้านบาท ส่วนขาดทุนจะลดลงแน่นอนแต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะมีกำไรหรือไม่ เพราะขาดทุนลดลงจะมีหลายปัจจัย ทั้งการยกเลิกเส้นทางขาดทุน การทยอยขายเครื่องบินและราคาน้ำมันที่ลดลง

เชื่อว่าผลประกอบการในเดือนช่วงท้ายปีจะมีกำไร และผลประกอบการทั้งปีเข้าสู่ภาวะขาดทุนลดลง และเมื่อการบินไทยเข้มแข็งเส้นทางที่ปิดก็สามารถกลับมาเปิดใหม่ได้ แต่ตอนนี้บริษัทต้องปฏิรูปทุกด้าน และหยุดภาวะเลือดไหลให้ได้ก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น