ปตท.เตรียมเจรจามูลนิธิฯ อภัยภูเบศร ยอมถอยหลังโคลนเทียมทะลักพื้นที่เพาะพันธุ์พืชสมุนไพรมูลนิธิฯ พร้อมเลี่ยงเส้นทางวางท่อก๊าซฯ เส้นที่ 4 มาเลาะตามตะเข็บพื้นที่ข้างเคียงแทน โดยผ่านพื้นที่เอกชนอื่นที่เป็น น.ส.3 ชี้หาก กกพ.อนุมัติประกาศเขตระบบฯ เพิ่มเติมโดยเร็วก็มั่นใจวางท่อก๊าซฯ เสร็จทันตามกำหนดเดิมไตรมาส 3 นี้ เพื่อรองรับ 5 โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะแล้วเสร็จในปลายปี 58
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารความยั่งยืนและวิศวกรรมโครงการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีการก่อสร้างโครงการวางท่อส่งก๊าซฯ เส้นที่ 4 (ระยอง-แก่งคอย) ของ ปตท. ทำให้เกิดโคลนเทียม (เบนทอไนต์)ทะลักไปในแปลงเพาะพันธุ์พืชสมุนไพรในพื้นที่ของมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ต.เนินหอม อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี ประมาณ 2 ไร่จากพื้นที่ 7 ไร่ ปตท.เสียใจในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของมูลนิธิฯ ซึ่ง ปตท.มิได้นิ่งนอนใจ ขอเข้าพื้นที่เพื่อควบคุมสถานการณ์และจำกัดผลกระทบเพื่อรักษาพันธุ์พืชสมุนไพรอันมีค่านับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ของมูลนิธิฯ แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ปตท.พร้อมที่จะเลี่ยงเส้นทางอื่นจากเดิมที่ต้องเจาะลอดผ่ากลางพื้นที่แปลงเพาะพันธุ์พืชสมุนไพรของมูลนิธิฯ เป็นการวางท่อก๊าซฯ เลี่ยงโดยเลาะตะเข็บพื้นที่ข้างเคียงโดยรอบแทนแต่อาจผ่านตะเข็บพื้นที่มูลนิธิฯ บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะผ่านพื้นที่เอกชนอื่นๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ น.ส.3 ซึ่งจะต้องมีการประกาศเขตระบบโครงข่ายพลังงานเพิ่มเติมจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก่อน ถ้าทำได้เร็วภายใน 30 วันก็เชื่อว่าโครงการวางท่อก๊าซฯ เส้นที่ 4 จะไม่เกิดความล่าช้าจากเดิมที่จะต้องแล้วเสร็จในปลายไตรมาส 3/2558 เพื่อให้ทันความต้องการใช้ก๊าซฯ ของ 5 โรงไฟฟ้าที่จะแล้วเสร็จในปลายปีนี้
“การวางท่อก๊าซฯ เลี่ยงตามแนวตะเข็บพื้นที่มันต้องผ่านตะเข็บพื้นที่ของมูลนิธิฯ ด้วย โดย ปตท.ก็พร้อมที่จะจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอยู่แล้ว ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ น.ส.3 ส่วนระยะทางจะเป็นเท่าไรก็คงต้องสำรวจใหม่ ซึ่งแนวทางนี้เป็นแนวทางหนึ่งที่ดีที่สุด และคงต้องหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 12 ก.พ.นี้”
นายอรรถพลกล่าวต่อไปว่า โคลนเทียมหรือเบนทอไนต์ที่ทะลักในพื้นที่ของมูลนิธิฯนั้นยืนยันว่าไม่ใช่สารเคมี แต่เป็นแร่ชนิดหนึ่งที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเพื่อให้ปุ๋ยชะลอการละลายได้ จึงไม่มีความเป็นอันตรายสารเคมี แต่ถ้ามีปริมาณมากเกินไปจะส่งผลกระทบต่อพืชเพราะจะบล็อกการดูดซึมน้ำของพืชได้ ทั้งนี้ เบนทอไนต์ที่ใช้ในการเจาะลอดนั้นเพื่อช่วยหล่อลื่นดูดซึมน้ำทำให้โพรงดินไม่ยุบตัว
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ปตท.ได้ประสานงานชี้แจงขอโอกาสเข้าทำงานในพื้นที่ของมูลนิธิฯ แต่ ปตท.ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าดำเนินการ ดังนั้นเพื่อลดผลกระทบระหว่างการก่อสร้าง จึงจำเป็นต้องใช้การวางท่อโดยวิธีดึงท่อลอดใต้ดิน หรือ Horizontal Directional Drilling (HDD) โดย ปตท.ได้ส่งหนังสือชี้แจงให้ทราบความจำเป็นและแสดงเจตนาขอรับผิดชอบหากเกิดผลกระทบใดๆ
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาที่เกิดขึ้นทางจังหวัดฯ ได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหา โดยแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาโครงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติเส้นที่ 4 ปตท.ยินดีให้ความร่วมมืออย่างดีที่สุดเพื่อให้สามารถร่วมสร้างชื่อของแหล่งสมุนไพรไทย ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ประเทศได้ตามแผนพลังงานของชาติ
โครงการวางท่อก๊าซฯ เส้นที่ 4 มีความยาว 300 กิโลเมตร มีปริมาณส่งก๊าซฯ ผ่านท่อ 1,300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยป้อนให้โรงไฟฟ้า 5 โรง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าวังน้อย ชุดที่ 4 กำลังผลิต 750 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากัลฟ์หนองแซง ชุดที่ 1 กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากัลฟ์หนองแซงชุดที่ 2 กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้ากัลฟ์อุทัย ชุดที่ 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้ากัลฟ์อุทัย ชุดที่ 2 กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์