“รสนา” ฉงนสื่อตีข่าวเน้น ปตท.แก้ตัว โอดเสียดายเสวนา “ถาม-ตอบพลังงาน” ท้วงได้ไม่เต็มที่ ยัน ปตท.คืนท่อก๊าซไม่ครบ ยกกราฟเปรียบเทียบค่าเช่าท่อ ย้ำแม้ ปตท.จะคืนท่อก๊าซตามคำพิพากษาให้รัฐเพียง 30% แต่หากคำนวณตามสัดส่วนค่าเช่าท่อแล้ว รัฐควรได้ค่าเช่าย้อนหลังไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท ไม่ใช่ 1,597 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 ก.ย. เมื่อเวลาประมาณ 01.20 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล หัวข้อ “การปฏิรูปพลังงานอย่างยั่งยืน ต้องนำกิจการท่อก๊าซทั้งระบบกลับมาเป็นสมบัติของแผ่นดิน” ตามข้อความดังนี้ “รายการเสวนาถามตอบเรื่องพลังงานวันที่ 24 ก.ย. ที่สโมสรกองทัพบก ทางฝ่ายประชาชนได้เสนอข้อมูลที่สำคัญหลายประเด็น แม้จะถูกกีดกัน ตัดบท ไม่ให้เวลาในการอธิบายเพื่อให้ประชาชนคนฟังได้รับรู้ข้อมูลอย่างครบถ้วน หรือไม่ให้ทักท้วงเมื่อมีการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องจากอีกฝ่าย จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง
ยิ่งมาอ่านข่าวออนไลน์ในข่าวของสำนักข่าวต่างๆ ก็ยิ่งประหลาดใจที่พบว่ามีการรายงานเฉพาะเนื้อหาของฝ่าย ปตท.ฝ่ายเดียวอย่างชััดเจน บางฉบับถึงกับนำข้อมูลเก่าที่สัมภาษณ์ไปก่อนหน้านั้นที่ไม่ได้อยู่ในการเสวนามาลงขยายความให้อีกด้วย ราวกับมี บก.กำหนดแนวการเขียนข่าวและแจกข่าวไปยังทุกสำนักพิมพ์ ส่วนข้อมูลของฝ่ายประชาชน ไม่มีการรายงานในส่วนที่เป็นสาระหลักให้ครบถ้วนเลยแม้แต่เรื่องเดียว
“ยกตัวอย่างภาพกราฟิกที่ดิฉันนำมาแสดงในงานเสวนา ก็ไม่มีสำนักข่าวใดนำมารายงานข่าว ภาพดังกล่าวเป็นการคำนวณตัวเลขจากข้อมูลในรายงาน 56-1 ของ ปตท. ที่ส่งตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2544-2556 จึงขอนำมาลงให้เพื่อนมิตรดู ภาพกราฟิกนี้เป็นการเปรียบเทียบ การเก็บเงินค่าผ่านท่อของ ปตท.เทียบกับค่าเช่าท่อก๊าซที่ ปตท.จ่ายให้รัฐ จะเห็นความแตกต่างราวฟ้ากับเหว ท่อก๊าซที่สร้างจากภาษีของประชาชนเอาไว้ให้ ปตท.เช่าถูกๆ แต่การเก็บค่าผ่านท่อจากประชาชนสูงเมื่อเทียบกับค่าเช่าที่รัฐได้สูงกว่ากันมากกว่า 7,000% ทีเดียว
เมื่อศาลปกครองสูงสูงได้ตัดสินให้ผู้ถูกร้อง คือ คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน และ บมจ.ปตท.ไปแบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน ซึ่งประกอบด้วย ระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ อันรวมถึงระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติคืนให้รัฐ
แต่การคืนท่อก๊าซของ ปตท.คืนเพียงท่อบางส่วนบนบก ซึ่ง สตง.ตรวจสอบแล้วพบว่า ปตท.คืนท่อก๊าซเพียงประมาณ 30% ของท่อทั้งระบบที่สร้างก่อนปี 2544 และใช้เงินก่อสร้างจาก ปตท. (สมัยที่ยังเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นของรัฐ 100%) จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ จึงต้องคืนมาทั้งหมด โดยส่วนที่ยังไม่ได้คืนอีก 70% ประกอบด้วย ท่อในทะเลและท่อบนบก ซึ่ง ปตท.ยังไม่ได้คืนให้รัฐตามคำพิพากษา
หลังคำพิพากษาของศาลฯ บมจ.ปตท.แบ่งแยกท่อก๊าซคืนมาประมาณ 30% และจ่ายเงินค่าเช่าย้อนหลัง 6 ปี (2544-2550) ให้รัฐเฉพาะท่อส่วนที่คืนรัฐเพียง 1,597ล้านบาท แต่เก็บเงินค่าผ่านท่อ 6 ปี ซึ่งรวมอยู่ในค่าก๊าซและค่าไฟฟ้าถึง 128,086 ล้านบาท สูงกว่าค่าเช่าท่อถึง 7,920%
ถ้าคำนวณว่าท่อก๊าซที่คืนมาให้รัฐ 30% ก็ควรได้ค่าเช่าในสัดส่วน 30% จากค่าผ่านท่อ 128,086 ล้านบาท ที่เก็บจากประชาชน จึงควรเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท แต่รัฐกลับได้ค่าเช่าย้อนหลังเพียง 1,597 ล้านบาท
หลังจากนั้น ปตท. จ่ายค่าเช่าให้รัฐสูงสุดเพียงปีละ 550 ล้านบาท แต่เก็บค่าผ่านท่อจากประชาชนปีละ 22,000-30,000 ล้านบาท รวม 12 ปี หลังการแปรรูป ปตท.เก็บเงินจากค่าผ่านท่อรวมแล้ว 295,074 ล้านบาท แต่รัฐได้รายได้ใน 12 ปี เพียง 4,897ล้านบาท
ท่อส่งก๊าซทั้งระบบเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ต้องคืนกลับมาเป็นของรัฐ เพราะเป็นทรัพย์สินที่ศาลปกครองสูงสุดระบุว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับคดี (คือถูกยึดทรัพย์ไม่ได้ตามกฎหมาย) จึงเป็นทรัพย์สินที่ต้องแบ่งแยกคืนให้รัฐ
การที่ บมจ.ปตท.อ้างว่าท่อในทะเลเป็นของ บมจ.ปตท.กลายเป็นว่าท่อก๊าซในทะเลเป็นทรัพย์สินที่ต้องถูกบังคับคดีได้ ใช่หรือไม่? ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง สมมติว่า บมจ.ปตท. เกิดล้มละลาย ท่อส่งก๊าซในทะเลก็สามารถถูกเจ้าหนี้ยึดทรัพย์ได้ ถ้าท่อในทะเลถูกยึดทรัพย์ได้ ท่อทั้งหมดบนบกก็เป็นอันใช้การไม่ได้ทั้งระบบ นี่จึงเป็นเหตุผลที่ศาลปกครองสูงสุดได้ใช้คำว่า “ระบบการขนส่งท่อส่งปิโตรเลียมทางท่อซึ่งรวมระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ” เป็นทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติ ไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับคดี ที่ต้องแบ่งแยกคืนให้กับรัฐทั้งระบบ
หากมีการปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเมื่อ 2 กรกฎาคม 2544 ก่อนการแปรรูปที่มีมติให้ ปตท.ในสมัยที่ยังเป็น “การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย” ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ไปแบ่งแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกมากิจการจัดหาและจัดจำหน่ายก่อน
การแปรรูป และให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ถือไว้ 100% หมายความว่าในเจตนาเดิมก่อนการแปรรูป ปตท. รัฐเห็นว่าโครงข่ายท่อส่งก๊าซเป็นทรัพย์สินที่ขาย หรือโอนให้เอกชนไม่ได้ เพราะเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงต้องให้แบ่งแยกกิจการท่อส่งก๊าซออกมา และให้เป็นของรัฐ 100% หากมีการปฏิบัติเช่นนั้นตั้งแต่ก่อนแปรรูป กิจการก๊าซก็จะไม่ใช่กิจการมุ่งหากำไรสูงสุดอย่างในปัจจุบัน
ค่าผ่านท่อจะถูกลงมากกว่านี้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงให้ราคาก๊าซและราคาค่าไฟถูกลง หรือถ้ารัฐเก็บในอัตราเท่าที่ บมจ.ปตท.เก็บ รายได้เกือบ 3 แสนล้านบาทก็จะเป็นรายได้ของแผ่นดินทั้งหมด สามารถนำไปใช้เพื่อการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ ให้กับประชาชน”