ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือถึง คสช. จี้ คลัง พลังงาน ทบทวนคืนท่อก๊าซ ชี้ ปตท. แบ่งแยกทรัพย์สินตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดไม่ครบถ้วน แถมคลังยังทำเฉยไม่ส่งเรื่องกฤษฎีกาทบทวนข้อโต้แย้งการตีความ ส่อผิดวินัย แนะให้ สตง. ตรวจรับรองความถูกต้องทั้งบกและทะเล ส่วนแบ่งทรัพย์ 6.8 หมื่นล้าน ต้องรวมค่าตอบแทน และผลประโยชน์อื่นๆ พร้อมนำข้อมูลสู่การปฏิรูป
วันนี้ (10 ก.ย.) นายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ทำหนังสือลงวันที่ 4 ก.ย. 2557 ถึง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เสนอความเห็นให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทบทวนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินใหม่ โดยเห็นว่ากระบวนการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท. ให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 ยังไม่ครบถ้วน และระบุด้วยว่า พฤติการณ์ของกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ ปตท. เข้าข่ายผิดกฎหมายหลายฉบับ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตาม มติ ครม. 18 ธ.ค. 2550 ที่ให้ สตง. มีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการแบ่งแยกทรัพย์สิน แต่กลับมีการรายงานข้อมูลเท็จต่อศาลปกครองสูงสุดว่าการแบ่งแยกทรัพย์สินครบถ้วนแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องจาก สตง. ซึ่งเป็นพฤติการณ์ที่ไม่รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน โดยมีรายละเอียดสรุปดังนี้
ระบบท่อส่งก๊าซบนบกและในทะเลที่ยังไม่คืนให้กระทรวงการคลัง มีมูลค่า 32,613.45 ล้านบาท แต่บริษัท ปตท. กลับยื่นคำร้องรายงานสรุปการดำเนินการตามคำพิพากษา และมติ ครม. 18 ธ.ค. 2550 ต่อศาลว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลแล้ว ทั้งที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอน และลัดขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญในการแบ่งแยกทรัพย์สินจึงเป็นกรณีที่กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ ปตท. ไม่ปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องเป็นไปตามมติ ครม. แม้ต่อมา สตง. จะทำหนังสือแจ้งให้กระทรวงการคลังส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษา แต่ก็ไม่ดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติโดยรวม จึงถือว่าไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. อาจมีผลเป็นความผิดวินัยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 เป็นความรับผิดทางแพ่ง (ละเมิด) ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา หรือเป็นความผิดในคดีปกครองที่อาจถูกฟ้องต่อศาลปกครองให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามมติ ครม. ได้
นอกจากนี้ การรายงานผลการดำเนินการตามคำพิพากษาของ ปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2551 ที่อ้างว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ดำเนินการตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดครบถ้วนแล้ว เป็นการรายงานข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จต่อศาลปกครองสูงสุด เพราะไม่เป็นไปตามมติ ครม. วันที่ 18 ธ.ค. 2550 ที่ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง อีกทั้งการตีความว่า ระบบท่อก๊าซที่ไม่ได้คืนให้กระทรวงการคลังเป็นเพราะ ปตท. เป็นผู้จ่ายเงินค่าก่อสร้างทำให้ทรัพย์สินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายเพราะทรัพย์สินดังกล่าวได้มาและใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการก่อนที่จะมีการเปลี่ยนสภาพไปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ
ดังนั้น มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2544 มีมูลค่าสุทธิ 68,569.69 ล้านบาท ที่ต้องแบ่งแยกและคืนให้กับกระทรวงการคลังก่อนที่จะมีการแปรสภาพไปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในปี 2550 แต่ไม่ปรากฏว่ากระทรวงการคลัง และกระทรวงพลังงาน ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท. ให้กลับมาเป็นของแผ่นดินหรือกระทรวงการคลังอย่างครบถ้วนแต่อย่างใด จึงถือว่าพฤติการณ์ของกระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อันเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏบัติตามมาตรา 9 (2) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 จึงถือเป็นกรณีที่กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ ปตท. ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายโดยไม่เป็นธรรมตามมาตรา 13 (1) (ก) (ข) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552
ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงมีความเห็นและข้อเสนอต่อรองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ขอให้กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน และ ปตท. ดำเนินการดังต่อไปนี้
1. ทบทวนการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ด้วยการหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษา ตามความเห็นของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในประเด็นทรัพย์สินที่ยังไม่ได้แบ่งแยกเนื่องจากการใช้อำนาจมหาชนตาม พ.ร.บ.การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 และประเด็นเรื่องความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะของท่อก๊าซทั้งบนบกและในทะเล และให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินรับรองความถูกต้องการแบ่งแยกทรัพย์สินให้เป็นไปตามขั้นตอนของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ต่อไป
2. ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินและโอนทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศให้กระทรวงการคลังตามมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 จำนวน 68,569,690,569.82 บาท ทั้งจำนวน รวมทั้งค่าตอบแทน ผลประโยชน์อื่นใดจากการใช้ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศ ได้แก่ ที่ดิน อาคาร เครื่องจักร อุปกรณ์และทรัพย์สินอื่น และสิทธิหรือสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตนที่บริษัท ปตท. ได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการ พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้ครบถ้วนต่อไป
3. พิจารณานำข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียน ความเห็นและข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดินดังกล่าว ไปเป็นข้อมูลประกอบในการปฏิรูปพลังงานต่อไป
สำหรับข้อเสนอของ นายศรีราชา ครั้งนี้ เป็นไปตามข้อสรุปของคณะทำงานด้านพลังงานที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี พ.ท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี และคณะ ร้องเรียนข้อโต้แย้งของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ระบุว่า การส่งคืนระบบท่อก๊าซตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในปี 2550 ยังไม่ครบถ้วน