บอร์ด ปตท.ติงแผนลงทุนขยายโรงแยกก๊าซฯมูลค่า 3,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตแอลพีจี ลดการนำเข้าได้ปีละ 5-6 หมื่นตัน หวั่นไม่คุ้มทุน เหตุรัฐยังตรึงแอลพีจีหน้าโรงแยกก๊าซฯ ที่ 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน และอนุมัติโครงการขยายอายุท่อส่งก๊าซฯ บนบกเส้น 1
นายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ปตท.เห็นชอบในหลักการแผนการปรับปรุงและขยายกำลังการผลิตโรงแยกก๊าซธรรมชาติ เพื่อนำปริมาณก๊าซฯ ที่ยังเหลืออยู่ไม่ได้ผ่านกระบวนการโรงแยกก๊าซฯ จำนวน 300-600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มาเข้าสู่โรงแยกก๊าซฯ เพื่อให้ได้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี)เ พิ่มขึ้น ช่วยลดการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ บอร์ด ปตท.ได้ให้ความเห็นเรื่องความคุ้มค่าของการลงทุนที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากรัฐมีการควบคุมราคาแอลพีจีที่หน้าโรงแยกก๊าซที่ 333เ หรียญสหรัฐต่อตัน ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะที่ราคาแอลพีจีตลาดโลกอยู่ที่ระดับ 500 เหรียญสหรัฐ/ตัน ปรับเปลี่ยนขึ้นลงตามทิศทางราคาน้ำมัน
ดังนั้น หากรัฐยังตรึงราคาแอลพีจีของโรงแยกก๊าซฯ อยู่ที่ 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน ก็คงไม่มีการลงทุนเพิ่มเติมเพราะขาดทุน แต่หากมีการปรับขึ้นราคาขึ้นไปอยู่ระดับสะท้อนต้นทุนการผลิต ก็จะมีการลงทุนเพิ่มเติม โดยจะขยายกำลังการผลิตในพื้นที่ของโรงแยกก๊าซฯ ทั้ง 5 แห่ง ระหว่างนี้จะดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการออกแบบด้านเทคนิคไปก่อน ส่วนจะเริ่มก่อสร้างได้เมื่อไรยังไม่สามารถกำหนดได้ขึ้นกับนโยบายราคาแอลพีจีของภาครัฐ
“ปตท.อยากขยายกำลังการผลิตโรงแยกก๊าซฯ เพื่อนำก๊าซฯ ที่ไม่ได้ผ่านโรงแยกก๊าซฯ จำนวน 300-600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน มาแยกให้ได้แอลพีจี ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และได้อีเทนบางส่วนก็จะป้อนให้โรงงานปิโตรเคมีได้ สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น หากไม่ลงทุนก๊าซส่วนที่เหลือดังกล่าวจะถูกนำไปเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า”
นอกจากนี้ บอร์ด ปตท.อนุมัติให้ ปตท.ดำเนินการโครงการขยายอายุท่อส่งก๊าซฯ บนบกเส้นที่ 1 เนื่องจากมีการใช้งานมานาน 30 ปี ทำให้ฉนวนหุ้มท่อก๊าซฯ มีการเสื่อมสภาพไปบ้าง ทำให้ต้องมีการลอก และหุ้มฉนวนใหม่ หากไม่ดำเนินการอายุท่อก๊าซฯ จะสิ้นสุดลงใช้งานไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ปตท.ได้มีการเริ่มซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซฯ บนบกเส้นที่ 1 ไปแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จ 5 ปี โดยการซ่อมบำรุงท่อดังกล่าวได้วางแผนงานไว้จะไม่ต้องหยุดส่งก๊าซฯ แต่อาจจะลดปริมาณการส่งก๊าซฯ บ้างเพื่อความปลอดภัย
ด้าน นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนการขยายกำลังการผลิตโรงแยกก๊าซฯ ครั้งนี้จะเป็นในลักษณะของการโมดิฟายของโรงแยกก๊าซฯ ทั้ง 5 แห่ง เพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เหลือ จะใช้งบลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท ทำให้ได้แอลพีจี 5-6 หมื่นตัน/ปี
การขยายกำลังการผลิตโรงแยกก๊าซฯ ดังกล่าวนี้จะใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก คืนทุนเร็วภายใน 2 ปี ใช้งานได้นาน 4-5 ปี เพื่อให้สอดคล้องต่อปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่จะเริ่มลดลง หากสร้างโรงแยกก๊าซฯ ขนาดใหญ่จะไม่คุ้มการลงทุน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้โรงแยกก๊าซฯแห่งที่ 7 เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะไม่มีความแน่นอนในเรื่องการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยที่จะหมดลง
ส่วนประเด็นราคาแอลพีจีที่ถูกตรึงไว้ที่ 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน ทำให้ไม่คุ้มการลงทุน รัฐอาจเข้ามารับซื้อในราคาที่บวกเพิ่มขึ้นบ้างก็ยังดีกว่าการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศ และยังเป็นการช่วยลดภาระในการนำเข้าของ ปตท.ด้วย
โครงการขยายกำลังการผลิตโรงแยกก๊าซฯ นี้จะเน้นผลิตแอลพีจีเพิ่มขึ้นเป็นหลัก ส่วนอีเทนที่ได้เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีนั้นจะได้ไม่มาก และผลิตได้ไม่นาน จึงไม่มีความจำเป็นที่บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จะต้องลงทุนขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติม
ส่วนโครงการขยายอายุท่อส่งก๊าซฯ บนบกเส้นที่ 1 จะใช้เวลาดำเนินการ 5 ปี เงินลงทุนหมื่นล้านบาท โดยโครงการซ่อมบำรุงจะมีความยุ่งยากซับซ้อนมากกว่าการวางท่อก๊าซฯ ใหม่ เนื่องจากชุมชนเข้ามาอยู่ใกล้แนวท่อมากขึ้น ทำให้การซ่อมบำรุงต้องทำด้วยความปลอดภัย และบางช่วงอาจต้อง Re-route New Pipeline สอดคล้องต่อแผนการขยายถนนของกรมทางหลวงด้วย ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ปตท.ต้องเร่งโครงการวางท่อก๊าซฯ เส้นที่ 5