xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง “ไฟใต้” โหมเปลว “ไฟฟ้าถ่านหินเทพา” / ไชยยงค์ มณีพิลึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากอินเทอร์เน็ต
 
คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์  มณีพิลึก
 
“จุดคบไฟใต้ งวดนี้ผู้เขียนมีรายการออกนอกเส้นทางไปดูงานเรื่องของความมั่นคงเสียหลายวัน ทำให้ส่งต้นฉบับไม่ทันตามกำหนด จึงตั้งใจว่าจะงดเขียนถึงสถานการณ์ในความรุนแรง หรือความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หนึ่งงวด เพื่อที่จะตรวจสอบ “สัญณาณ” บางอย่างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
 
วันนี้จึงหยิบจับเอาเรื่องที่อาจจะเป็นไฟใต้ในอีกรูปแบบหนึ่งใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งก็มีสัญณาณบางอย่างที่ทำให้มองเช่นนั้นได้!!
 
นั่นคือ การที่รัฐบาลชุดนี้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. กำลังที่จะผลักดันให้เกิด “โครงการไฟฟ้าถ่านหินเทพา” หรือที่จะเรียกให้โก้ๆ ว่า “โรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดซึ่งมีการกำหนดพื้นที่ไว้แล้วว่าจะมีการก่อสร้างที่ อ.เทพา จ.สงขลา
 
เป็นโครงการที่มีด้วยกัน 2 ส่วน คือ ส่วนของท่าเทียบเรือสำหรับการขนส่งถ่านหิน และอื่นๆ กับส่วนของโรงงานผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีจำนวน 2 โรงด้วยกัน ส่วนแต่ละโรงจะมีกำลังการผลิตเท่าไหร่ ผู้เขียนไม่เขียนถึง เพราะเห็นเหล่านักวิชาการหลายรายให้รายละเอียดมามากแล้ว ผู้ที่สนใจหาอ่านได้ในเว็บของ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” นี้แหละ
 
ในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้ บริษัทที่ปรึกษาที่ทำการศึกษาโครงการจะเปิดเวที ค.1 เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ ทั้งในเรื่องของท่าเทียบเรือขนถ่านหิน และของโรงไฟฟ้าถ่านหิน
 
ข้อที่เป็นห่วงแรกคือ ประชาชนผู้ที่ถูกกำหนดว่าเป็น “ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียในพื้นที่ “มีความรู้ความเข้าใจ” ในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดแค่ไหน
 
แม้ว่าก่อนหน้านี้ กฟผ.จะได้นำมวลชนจำนวนหนึ่งไปดูงานเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ประเทศมาเลเซีย และอื่นๆ มาบ้างแล้วก็จริง
 
แต่จากการพูดคุยกับผู้ที่ไปดูงาน รวมทั้ง สื่อบางกลุ่ม ซึ่งเป็น “สื่อโชว์พบว่า เป็นการ “ไปเที่ยวมากกว่าการไป “รับความรู้ในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหิน?!
 
ข้อเป็นห่วงข้อที่สองคือ ทุกโครงการที่เป็นเรื่องของ “พลังงานไม่ว่าเป็นเรื่องของไฟฟ้า เรื่องของก๊าซและน้ำมันในประเทศนี้ จะมี “ความจริงเกิดขึ้น 2 ชุดเสมอมา
 
นั่นคือ ชุดความจริงจากเจ้าของโครงการ คือ กฟผ. หรือกรมพลังงาน หรือฝ่ายของรัฐบาล ซึ่งมักถูกกล่าวหาว่าเป็นชุดความจริงที่ “เท็จคือถูก “บิดเบือนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของโครงการ
 
กับชุดความจริงของฝ่ายต่อต้าน นั่นคือ กลุ่มขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ รวมถึงบรรดานักวิชาการที่มีความรู้ในเรื่องของพลังงานที่มีความเห็นต่าง ซึ่งชุดความจริงของคนเหล่านี้จะ “เห็นต่าง” โดยสิ้นเชิงจากชุดความจริงของเจ้าของโครงการ และรัฐบาล
 
ที่ผ่านมา เมื่อมีความขัดแย้งและมีความเห็นต่างเกิดขึ้นในเรื่องของพลังงาน จึงไม่เคยเห็นความจริง “ชุดที่สามเกิดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือก หรือเป็นทางออกให้ประชาชนสามารถที่ตัดสินใจได้ว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ใช่มาจากคู่ขัดแย้งในเรื่องดังกล่าว
 
การเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา จ.สงขลา ย่อมไม่ราบรื่น และคงเป็นเช่นเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อื่นๆ หรือท่าเทียบเรือขนถ่านถ่านหินที่ จ.กระบี่ ที่มีผู้เห็นด้วย และเห็นต่างที่ปรากฏเป็นข่าวเป็นระยะๆ เกิดขึ้นให้เห็นมาโดยตลอด
 
แต่โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.เทพา นั้น พลังการต่อต้านจะมากกว่าที่อื่นๆ เพราะในอดีตประชาชนในพื้นที่เหล่านี้เคยต่อต้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย หรือที่วันนี้เรียกกันสั้นๆ ว่า บริษัททีทีเอ็มมาแล้ว ถึงขนาดการใช้วาทกรรมว่า “มึงสร้าง กูเผารวมทั้งการต่อต้านโรงไฟฟ้าจะนะมาแล้ว
 
แม้ว่าสุดท้าย พลังของประชาชนผู้เห็นต่างจะต้องพ่ายแพ้ แต่ประชาชนก็สามารถสรุป “บทเรียนที่เกิดขึ้นได้อย่างดี?!
 
มีโรงแยกก๊าซแล้วได้อะไร มีโรงไฟฟ้าแล้วได้อะไร คนในพื้นที่ได้อะไร มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจริงไหม ทำไมไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดเมื่อปีก่อน ทั้งที่ในพื้นที่มีโรงไฟฟ้าตั้งอยู่ ทำไมคนที่อยู่กับท่อก๊าซ และโรงแยกก๊าซจึงต้องใช้ก๊าซราคาเดียวกับคนภาคอื่นๆ...ฯลฯ”
 
เหล่านี้คือคำถามที่คนในพื้นที่สามารถมีคำตอบให้แก่คนในพื้นที่ใกล้เคียงให้ได้รับรู้ รับทราบ!!
 
แน่นอนว่าทุกคนรับรู้เรื่องความมั่นคงของพลังงาน และภาคใต้ก็ถูกอ้างว่าไม่มีความมั่นคงทางพลังงาน ที่จำเป็นต้องสร้างพลังงานให้เพียงพอ เหมือนกับที่บิ๊กบอสพลังงานอย่าง ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กล่าวไว้ว่า จำเป็นที่จะเปิดสัมปทานพลังครั้งใหม่ 29 แปลง (อย่างตาลีตาเหลือก) เพราะเกรงพม่าจะหยุดการจ่ายก๊าซให้
 
เพียงแต่พลังงานที่จะเกิดขึ้นต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการมีส่วนร่วมแบบหลอกๆ และรู้บ้างไม่รู้บ้าง หรือการแยกส่วนคนในพื้นที่ด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งอาจหมายถึงผลประโยชน์ที่แอบแฝงในรูปแบบต่างๆ
 
ผู้เขียนเชื่อว่า คนไทยทุกคนไม่ขัดขวางในเรื่องของความจำเป็นของพลังงาน เพราะรู้ว่าความมั่นคงทางพลังงานเป็นความจำเป็น ทั้งในวันนี้ และในวันหน้า โดยเฉพาะกับพื้นที่ของภาคใต้ที่จะต้องมีความเสถียรของพลังงาน
 
แต่พลังงานที่จะนำมาใช้ หรือที่จะก่อสร้างในพื้นที่ต้องมีความแน่นอน และชัดเจนว่า ไม่เป็นพลังงานที่มีการ “แพร่พิษให้แก่ประชาชนในภายหลัง
 
เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาที่ กฟผ.จะต้องให้ข้อเท็จจริงทั้งหมดแก่ประชาชนอย่างครบถ้วน และจะต้องตอบคำถามในข้อขัดแย้งที่เห็นต่าง ทั้งด้านวิชาการและความคิดของกลุ่มผู้ต่อต้าน ไม่ว่าจะเป็นเอ็นจีโอ หรือนักวิชาการ และประชาชนผู้ที่เห็นต่างในเรื่องของข้อมูลให้กระจ่างชัด
 
ขณะนี้ กฟผ.ยังไม่ได้ทำเวที ค.1 หรือรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ครั้งที่ 1 ก็มีกลุ่มผู้เห็นต่างเปิด “เวที ค.0 ภาคประชาชน” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากภาคเอกชนเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งกำลังจะมี “เวที ค.1 ภาคประชาชน” ตามมาอีกครั้งวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ก่อนเวที ค.1 ของ กฟผ.เพียงวันเดียว
 
ทำให้มองเห็นถึงการขับเคลื่อนของขบวนการการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาว่า จะมีปัญหาต่างๆ ติดตามมาอย่างแน่นอน?!
 
โดยเฉพาะ อ.เทพา คือ 1 ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่มีปัญหาความมั่นคง และเกี่ยวข้องกับวิกฤตไฟใต้โดยตรง
 
แม้ว่ากากรก่อเหตุรายวันจะไม่รุนแรงเช่นที่ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส แต่ใน 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งประกอบด้วย อ.เทพา อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี และ อ.จะนะ นั้น ถือว่า อ.เทพาและ อ.สะบ้าย้อย อันมีพื้นที่ติดกันเป็นพื้นที่ที่มวลชนของฝ่ายขบวนการก่อการร้ายมีความเข้มแข็ง และเป็นพื้นที่หลบซ่อนของขบวนการฯ ก่อนที่จะไปก่อเหตุและหลังก่อเหตุใน 3 จังหวัดข้างต้นด้วย
 
ซึ่งเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นในการต่อต้านโครงการท่าเทียบเรือขนถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อาจจะเป็นโอกาสของขบวนการฯ ในการขยายพื้นที่ไฟใต้ให้เกิดความรุนแรงทวีความเข้มข้นขึ้น
 
จากข้อสังเกตที่ผ่านๆ มา ทั้งเกี่ยวกับการต่อต้านโรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียหรือทีทีเอ็มก็ดี โรงไฟฟ้าจะนะก็ดี หรือโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานในพื้นที่อื่นๆ ที่เกิดขึ้น กล่าวคือ จะไม่เห็นบทบาทของนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นระดับท้องถิ่น หรือระดับชาติในพื้นที่แสดงความคิดเห็นที่ชัดเจน หรือการยืนเคียงข้างกับความถูกต้อง
 
แต่จะเห็นบทบาทของผู้ที่ต้องการที่จะเป็นผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และผู้ที่ต้องการเป็นนักการเมืองในอนาคต ซึ่งเข้าไปยืนอยู่กับประชาชนที่เป็นกลุ่มไม่เห็นด้วย จนสุดท้ายกลายเป็นความขัดแย้งที่ขยายตัวจากเรื่องของพลังงาน จนกลายเป็นความแตกแยกของชุมชนในเรื่องของการเมืองไปโดยปริยาย
 
ทำอย่างไรที่ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องที่ ผู้นำต้องถิ่น และนักการเมืองจะสามารถเป็นเสาหลักในการยืนอยู่บนความถูกต้อง ยืนข้างผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ทำอย่างไรที่จะมีข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เป็นข้อมูลของเจ้าของโครงการและผู้ที่เห็นต่าง เพื่อป้องกันความแตกแยกของสังคม หรือของคนในพื้นที่
 
เพราะเชื่ออย่างแน่นอนว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาจะเป็นอีก “ความแตกแยกที่จะต้องเกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สงขลา และครั้งนี้จะรุนแรงกว่าที่เคยเกิดขึ้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา มาก่อนหน้านี้ด้วย
 
จึงหวัง และอยากเห็นความจริงใจของเจ้าของโครงการในการให้ความจริงแก่คนในพื้นที่ อยากเห็นข้อมูลทั้ง 2 ด้านของกลุ่มผู้ต่อต้านที่เปิดให้แก่ประชาชนได้ใช้เป็นการตัดสินใจว่า ควรจะเอาหรือไม่เอาสิ่งที่ถูก “หยิบยื่นมาให้โดยไม่ได้ร้องขอ
 
เพราะถ้าโรงไฟฟ้าถ่านหินคือ มฤตยูคนสงขลาทั้งจังหวัดต้องบอกว่าไม่เอาแน่นอน!!
 
แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อคนสงขลา และประเทศชาติจริง ใครที่ออกมาต่อต้านโครงการนี้ก็ต้องถูกลงโทษในฐานะที่ขัดขวางความเจริญของประเทศชาติ
 
และสุดท้ายหวังว่าการ “เห็นด้วยและ “เห็นต่างของผู้คนในพื้นที่ และต่างพื้นที่ในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาคงจะเป็นไปโดย“สันติคงจะไม่มีป้าย “มึงสร้าง กูเผาให้เห็นเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นที่ลานหอยเสียบใน อ.จะนะ เป็นคำรบสอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น