xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ส่งแก๊งกร่างกดดันฝ่ายเห็นต่างใน “เวที ค.0” โรงไฟฟ้าถ่านหินสงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กฟผ.ยังใช้วิชามารเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วใต้ไม่เลิก ล่าสุด ส่งแก๊งชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธปืนครบมือเข้ากดดัน “เวที ค.0” ที่จัดขึ้นที่ รพ.เทพา จ.สงขลา แต่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของภาคประชาชนก็สามารถดำเนินไปได้จนจบ
 
บ่ายวันนี้ (15 ต.ค.) ที่ห้องประชุมอาคารผู้สูงอายุ โรงพยาบาลเทพา อ.เทพา จ.สงขลา ภาคประชาสังคมในพื้นที่ได้ร่วมกันจัด “เวที ค.0 เรียนรู้โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลทางวิชาการแก่ผู้สนใจ และผู้มีส่วนได้เสียจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดเทพา อันจะเป็นประโยชน์ในการปูพื้นข้อมูล และความเข้าใจพื้นฐาน และนำไปสู่การตั้งคำถามที่เหมาะสมในเวทีรับฟังความคิดเห็น ค.1 ค.2 และ ค.3 ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังจะจัดขึ้นอย่างเป็นทางการ
 
ภายหลังที่ ทพ.ส่อแห๊ะ หมัดยูโส๊ะ ผอ.โรงพยาบาลเทพากล่าวเปิดเวทีเสวนา วิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านก็สลับกันขึ้นให้ข้อมูล ประกอบด้วย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์และ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา รศ.ดร.ปาริชาติ วิสุทธิสมาจาร ผอ.สถานวิจัยการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศพื้นที่ภาคใต้แบบบูรณาการ ม.อ.หาดใหญ่ ผศ.ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี โดยมี นพ.สุวัฒน์ วิริยวงศ์สุกิจ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็กพระบรมราชินีนาถ ณ อ.นาทวี จ.สงขลา เป็นผู้ดำเนินรายการ
 
เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ก่อนที่เวทีจะเริ่มได้มี “ครูคิ่น” หรือ นายธนวัฒน์ หงส์ประยูร ที่อ้างตัวเองว่าเป็นผู้ประสานงานประชาชนชาวเทพา ได้นำกลุ่มชายฉกรรจ์พกอาวุธปืนเข้าไปขอเจรจากับผู้จัดงาน มีการระบุชื่อไม่ให้ฝ่ายคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบางคนเข้าร่วมเวที รวมทั้งประกาศไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวการเสวนาครั้งนี้ด้วย โดยหากสื่อมวลชนต้องการทำข่าวให้ฝ่ายผู้จัดงานส่งตัวแทนไปร่วมแถลงกับตนได้เท่านั้น และในขณะเวทีเสวนาดำเนินการอยู่ “ครูคิ่น” ยังขอแทรกคิวพูดสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินด้วยเสียงอันดังฟังชัดก้องไปทั้งห้องประชุมอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เวทีก็สามารถดำเนินการไปได้ตั้งแต่ต้นจนจบ 
 
นพ.สุภัทร กล่าวว่า เหตุที่ภาคประชาชนใช้ชื่อเวที ค.0 ก็เพื่อให้ชาวเทพาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทุกเรื่องราวเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกอ้างว่าสะอาด ก่อนที่จะไปร่วมเวทีที่ กฟผ.จัดขึ้นเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ซึ่งกำหนดไว้แล้วในวันที่ 2 พ.ย.ที่จะถึงนี้ และต่อไปจะต้องมีการจัดเวที ค.2 และ ค.3 อันเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและ­สุขภาพ ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ (EHIA) ซึ่งทาง กฟผ.มีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบริเวณชายทะเล อ.เทพา 2 โรงรวมกำลังการผลิต 2,000 เมกะวัตต์
 
ผอ.โรงพยาบาลจะนะ บอกเล่าถึงผลกระทบที่คนจะนะได้รับจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่ดำเนินการไปแล้ว ประกอบด้วย โรงแยกก๊าซและท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย รวมถึงโรงไฟฟ้าจะนะ ที่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงอีก 2 แห่ง ซึ่งจะเป็นต้นธารให้แก่การเกิดขึ้นของแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ตามมา แม้ในวันนี้ยังไม่มีนิคมอุตสาหกรรม แต่คนในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบแล้วมากมาย โดยเฉพาะในด้านการดำเนินวิถีชีวิต และสุขภาพ
 
“เรื่องนี้ผมยืนยันได้เพราะร่วมกับคณะจัดทำโครงการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงไฟฟ้าจะนะ ซึ่งผลการศึกษาเราพบว่า มีผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว แต่ยังเป็นระดับแสดงอาการ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรค อาจเนื่องจากโรงไฟฟ้าจะนะตั้งมาได้เพียงยังไม่กี่ปี แต่ถ้าในระยะยาวแล้วผลจะเป็นอย่างไร มีโต๊ะอิหม่ามในพื้นที่บอกแก่ผมว่า คนเรามีจมูกเพียง 2 รู แต่ปล่องที่ปล่อยควันของโรงงานแค่โรงเดียวก็ยังมีหลายปล่อง เรื่องนี้เราต้องช่วยกันคิด”
 
นอกจากนี้ นพ.สุภัทร ยังได้หยิบยกข้อมูลจากเอกสารโครงการก่อสร้างท่าเรือขนถ่านหิน และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพามาทำความเข้าใจกับผู้ร่วมเสวนา โดยชี้ให้เห็นว่าข้อมูลยังมีความพิกลพิการอยู่มาก มีหลายเรื่องที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง หรือเป็นการบอกข้อมูลไม่หมด เช่น มลพิษนานาชนิดที่จะเกิดขึ้นตามมา ไม่ว่าจะเป็นสารหนู ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม โลหะหนัก ขี้เถ้า ฯลฯ ผลกระทบต่อชุมชน การทำประมง และสิ่งที่นับว่าสำคัญยิ่งคือก ารระบุขอบเขตศึกษาผลกระทบที่กำหนดไว้เพียงพื้นที่รอบรัศมีที่ของโครงการแค่ 5 กิโลเมตรเท่านั้น
 
รศ.ดร.ปาริชาติ ได้ให้รายละเอียดต่อวงเสวนาในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆ ของ อ.เทพา รวมถึงความสามารถในการเชื่อมต่อเส้นทางการท่องเที่ยวในภาพรวมของ จ.สงขลาด้วย เช่น ในพื้นที่ อ.เทพา มีชายหาดยาวถึง 43 กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่รองรับคนจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในทะเลมีเกาะขาม มีวัดพระสามองค์ที่ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ชุมชนสถานีรถไปเทพา มีอายุเก่าแก่นับร้อยปี ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องอาหาร คือ ข้าวแกงไก่ทอด เป็นต้น เหล่านี้ต้องมีการศึกษาว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.อย่างไร
 
ด้าน ผศ.ดร.สมพร กล่าวว่า ตนเริ่มจากการศึกษาอย่างจริงจังในเรื่องภัยพิบัติ ต่อมาก็ได้ขยายเข้าสู่แหล่งผลิตอาหาร รวมถึงพลังงานทดแทนด้วย เพราะเห็นว่าแท้ที่จริงก็เป็นเรื่องเดียวกัน ในเรื่องของผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่นั้นไม่มีพรมแดนขีดกั้น อย่างฟ้าบนเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ยังส่งผลกระทบถึงคนเทพาได้เลย ดังนั้น การกำหนดศึกษาผลกระทบแค่รัศมีรอบๆ ที่ตั้งโครงการ 5 กิโลเมตรจึงเป็นเรื่องที่น่าวิตกสุดๆ และที่สำคัญโครงการตั้งอยู่ชายทะเลจะส่งผลกระทบต่อการกัดเซาะชายฝั่งทะเลมหาศาลด้วย
 
เป็นที่น่าสังเกตถึงช่วงที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมเวทีได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ แม้จะมีการจัดการของฝ่ายสนับสนุนที่นำประชาชนผู้เคยถูกเกณฑ์ให้ไปดูงานกับโครงการของ กฟผ.เข้ามาเพื่อให้พูด และแสดงการสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา แต่ปรากฏว่า เสียงในเวทีเสวนากลับออกไปในทางหวั่นวิตกถึงผลกระทบที่จะตามมามากที่สุด










 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น