xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเภสัชฯบุกอย.ค้านพ.ร.บ.ยา ส่งตัวแทนหารือแก้ไขใน 2 สัปดาห์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายเภสัชกรทั่วประเทศกว่า 300 คน ตบเท้ายื่นแถลงการณ์ค้านร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ห่วง 7 ประเด็นหลัก ทำประชาชนได้รับอันตราย ความเสี่ยงจากการใช้ยา กระทบต่อความมั่นคงทางยาและการแข่งขัน ด้าน อย.เผยผลประชุมร่วมให้ตัวแทนวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง 25 คนร่วมหารือให้เสร็จใน 2 สัปดาห์ ขณะที่กลุ่มนักวิชาการ นศ.เภสัชฯ ภาคเหนือ ร่วมชูป้ายค้านร่างร่าง พ.ร.บ.ยา"ฉบับลักไก่"

วานนี้ (9 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายเภสัชกรทั่วประเทศกว่า 300 คน นำโดย ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม และ ภก.บรรเจิด เดชาศิลปะชัยกุล ประธานชมรมเภสัชกรสาธารณสุขจังหวัดแห่งประเทศไทย เดินทางมายื่นแถลงการณ์คัดค้าน พ.ร.บ.ยาฉบับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต่อ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมรายชื่อผู้คัดค้าน ร่างพ.ร.บ.ยาฉบับดังกล่าว 7,600 รายชื่อ โดยหลังยื่นแถลงการณ์เสร็จได้เข้าห้องประชุมเพื่อพูดคุยหารือถึงประเด็นต่างๆ โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยทางเครือข่ายฯ ยืนยันว่าหากร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไข จะก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงทางยา ประชาชนมีความเสี่ยงได้รับอันตรายจากการใช้ยา เสี่ยงได้รับอาหารที่มีสารปนเปื้อนยาและสารเคมี และสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านอุตสาหกรรมยาและอุตสาหกรรมอาหารกับต่างประเทศ

ทั้งนี้ แถลงการณ์เห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่มีข้อบกพร่อง 7 ประเด็น คือ 1.การแบ่งประเภทยาไม่เป็นไปตามหลักสากล คือไม่แยกบทบาทหน้าที่ผู้สั่งยา ผู้จ่ายยา ทำให้ไม่เกิดการตรวจสอบ 2.การยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพหลายสาขา ไม่ต้องขออนุญาตผลิต ขาย และนำเข้า 3.การอนุญาตให้ผู้ที่ไม่เชี่ยวชาญด้านยา เป็นผู้ดำเนินการและปฏิบัติหน้าที่ จัดการควบคุมการผลิต ขาย นำเข้ายา 4.การอนุญาตให้ต่ออายุทะเบียนตำรับยา โดยไม่มีการทบทวนทะเบียนตำรับยา และมีข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพผสมยาได้ โดยไม่ต้องขึ้นทะเบียนตำรับยา 5.การอนุญาตให้โฆษณายาทุกประเภทและโฆษณารักษาโรคที่ร้ายแรงได้ และไม่มีการควบคุมการส่งเสริมการขาย 6.ไม่มีข้อห้ามการผลิตและการขายยาชุด และ 7.ไม่มีบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด รวมทั้งบทลงโทษที่ไม่เป็นธรรม และไม่มีโทษทางปกครอง

ด้าน นพ.บุญชัย กล่าวว่า จากการหารือได้ข้อสรุปว่าจะมีการตั้งตัวแทนจากทุกภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง 25 คน เข้ามาพูดคุยหารือรายละเอียดประเด็นที่มีการคัดค้านรายมาตรา ภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์หลังจากนี้ จากนั้นจึงรวบรวมข้อมูลทั้งหมดส่งให้กับ รมว.สาธารณสุข เพื่อตอบกลับไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ภายใน 30 วัน โดยเฉพาะประเด็นหลักๆ ที่มีการค้านคือ 1.การยกเว้นให้กลุ่มวิชาชีพอื่นสามารถจ่ายยาบางประเภทได้ และ 2.การแบ่งประเภทยาใหม่ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้มีความเกี่ยวข้องกัน เนื่องจากมีการออก พ.ร.บ.วิชาชีพ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบวิชาชีพทำเองได้ ดังนั้น พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ จึงต้องมีการปรับประเภทยาใหม่ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วิชาชีพ โดยเฉพาะยาอันตรายที่กฎหมายเดิมกำหนดให้เฉพาะแพทย์และเภสัชกรเป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการคัดค้านอย่างหนัก จึงต้องพูดคุยทำความเข้าใจจากทุกฝ่ายอย่างละเอียดรอบครอบ ซึ่งไม่ง่ายนัก

ภก.กิตติ กล่าวว่า ขณะนี้ได้กำหนดวันชัดเจนแล้วในการส่งตัวแทนวิชาชีพจำนวน 25 คนเข้าไปร่วมหารือปรับปรุงแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ คือวันที่ 13-14 ต.ค. และ 21-22 ต.ค. โดยส่วนของเภสัชกรยังยืนยันให้มีการแก้ไขในประเด็นปัญหาที่ยื่นไป หรือจะแก้ไขอย่างไรเพื่อให้เป็นการคุ้มครองประชาชนอย่างแท้จริง โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ต้องหารือนั้น เครือข่ายฯจะมาหารือเพื่อร่างแก้ไขประเด็นที่เป็นปัญหา และประเด็นปัญหาอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ระบุเอาไว้ด้วย

**นักวิชาการ-นศ.เภสัชฯมช.ลุกฮือ

ที่ จ.เชียงใหม่ คณะผู้บริหาร นักวิชาการ และนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด ได้รวมตัวบริเวณหน้าคณะเภสัชศาสตร์ถือป้ายคัดค้านร่าง พ.ร.ย.ยาฉบับใหม่ของคณะกรรมการอาหารและยา โดยแสดงสัญลักษณ์มือรูปกากบาท และเคลื่อนขบวนมาปักหลักแสดงจุดยืนริมถนนสุเทพ หน้าคณะ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบผลเสียที่จะเกิดจากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน ทอดทิ้งประชาชน พร้อมทั้งตะโกนว่าเป็นพระราชบัญญัติฉบับลักไก่

รศ.จักรพันธ์ ศิริธัญญาลักษณ์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มช.กล่าวว่า กลุ่มเภสัชกรออกมาเรียกร้องเพื่อให้รัฐบาล หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พิจารณาหรือทบทวนร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ซึ่งมี 7 ร่าง มีการสอดไส้หรือร่าง พ.ร.บ.ลักไก่ ที่เป็นอันตรายต่อประชาชน เช่น ยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพหลายสาขาไม่ต้องขออนุญาต ผลิตหรือขายและนำเข้ายา ไม่มีข้อห้ามการผลิตยา เปิดให้มีการโฆษณาทุกรูปแบบ และไม่มีการควบคุมการขาย ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยง และเป็นอันตรายต่อประชาชน เป็นต้น จึงอยากให้มีการพิจารณาทบทวน หรือให้ปรับแก้ หรือยกเลิก โดยจะยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป จากนั้นทั้งหมดแยกย้ายไปทำงานกันตามปกติ

**นศ.-เภสัชฯพะเยา-น่านรุมต้าน

ที่ จ.น่าน เภสัชกรหญิง ภัชรา ถาวลักษณ์ หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค และเภสัชสาธารณสุขจังหวัดน่าน เป็นแกนนำกลุ่มเภสัชกร ได้ออกมาแสดงพลังที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ยาดังกล่าวเช่นกัน โดยกลุ่มเครือข่ายเภสัชกรจังหวัดน่าน ได้ร่วมกันชูป้ายตีพิมพ์ประกาศข้อความไม่เอา พ.ร.บ.ยา ซึ่งระบุว่า เป็นฉบับลักไก่ที่ละเลยประชาชน อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการใช้ยาของผู้บริโภคและความเสียหายต่อระบบยาของประเทศไทย

ส่วนที่ จ.พะเยา นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมด้วยคณาจารย์ เครือข่ายเภสัชกร สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยากว่า 300 คน รวมตัวกันภายในมหาวิทยาลัยพะเยา ชูป้ายคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.ยาดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่ไม่เอื้อประโยชน์กับประชาชน ซ้ำส่งผลร้ายต่อสุขภาพประชาชนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น