ร.ฟ.ท.ขีดเส้น 10 ก.พ.ต่อรองราคาสัญญา 3 (งานระบบรถไฟฟ้า) สายสีแดงไม่ยุติล้มประมูลเปิดใหม่ พร้อมปิดดีลเงินกู้ไจก้าใช้เงินจากแหล่งอื่นแทน ชี้ยืดเยื้อกว่านี้หวั่นปัญหาใหญ่ โครงสร้างเสร็จแต่ไม่มีรถไฟฟ้า พร้อมเร่งรัดประมูลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางในปี 58
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 13 มกราคม ได้มีการหารือถึงการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 27,926 ล้านบาท ซึ่งยังไม่สามารถสรุปผลการเจรจาต่อรองกับกลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) ในค่าก่อสร้างที่เอกชนเสนอมา 49,000 ล้านบาทได้ โดยล่าสุดทางเอกชนขอแจ้งกรอบราคาหลักในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558 และแจ้งราคาที่เป็นรายละเอียดในอีก 2 สัปดาห์หรือภายในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ดังนั้น หากพ้นกำหนดไม่มีการแจ้งราคาเข้ามา ร.ฟ.ท.จะยกเลิกการประกวดราคาครั้งนี้และขอดำเนินการเปิดประกวดราคาใหม่เพื่อไม่ให้โครงการล่าช้าไปกว่านี้
พร้อมกันนี้ได้ให้ ร.ฟ.ท.ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า เพื่อเชิญมารับทราบแนวทางการดำเนินงานของ ร.ฟ.ท.อย่างเป็นทางการ ซึ่งหากต้องเปิดประกวดราคาใหม่จะใช้แหล่งเงินกู้ภายในประเทศหรือต่างประเทศแทนเงินกู้ไจก้าด้วย โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อเปิดประกวดราคาใหม่ ทั้งเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) การกำหนดราคากลางใหม่ และการปรับปรุงร่าง TOR
“เดิมจะส่งราคาก่อนวันที่ 25 ธ.ค. 57 ก็ไม่มา ขอเป็น 10 ก.พ. 58 ร.ฟ.ท.รอมานานแล้วรออีกนิดแต่เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งน่าแปลกทางญี่ปุ่นแจ้งว่าอยากได้งานนี้ แต่ที่ทำอยู่ตรงกันข้าม ทั้งๆ ที่ผ่านมาก็แย้มไปแล้วว่าหากราคาสูงกว่าราคากลางและมีเหตุผลก็สามารถยอมรับได้แต่ ขณะที่สัญญา 3 สีแดงล่าช้ามากแล้วและหลังเซ็นสัญญาต้องใช้เวลาอีก 4 ปี ตอนนี้ยังไม่สรุป แล้วงานโยธาเสร็จไม่มีรถวิ่ง จะยิ่งเป็นการบีบให้ ร.ฟ.ท.ต้องยอมรับทุกข้อเสนอแบบไม่มีทางเลือก” นายออมสินกล่าว
ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟสายสีแดงสัญญา 1 (งานโยธาสำหรับสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง) มูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท และสัญญาที่ 2 (งานโยธาสำหรับทางรถไฟบางซื่อ-รังสิต) มูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท ยังเหลือการย้ายท่อน้ำมันของบริษัท Fuel Pipeline Transportation (FPT) ที่ล่าช้า ล่าสุดศาลได้มีคำสั่งให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินการได้ แต่ติดปัญหา FBT เสนอร่างข้อตกลงร่วมข้อ 1.3 และ 1.5 คือให้ ร.ฟ.ท.รับผิดชอบกรณีที่ความเสียหายขึ้นภายใน 2 ปีทุกกรณี ซึ่งยอมรับไม่ได้ และการย้ายท่อน้ำมันเป็นการดำเนินการตามคำสั่งศาลแล้ว ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะยื่นศาลเพื่อขอไต่สวนฉุกเฉิน และเดินหน้าบังคับคดีเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ล่าช้ามากไปกว่านี้ ซึ่งจะทำให้ผู้รับเหมาสามารถขอเคลมกรณีส่งมอบพื้นที่ล่าช้าได้ถึง 20 ล้านบาทต่อวัน ต้องเจรจาเพิ่มเติมเรื่องภาระค่ารื้อย้ายและการบรรจบท่อที่จะทำการวางตำแหน่งใหม่ FPT ดำเนินการ
สำหรับปัญหาโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง (Chord Lines) 3 แห่ง วงเงิน 11,348.35 ล้านบาทที่ยังไม่สามารถประกวดราคาได้นั้น ได้เร่งรัดให้ ร.ฟ.ท.สอบถามไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) หลังจากที่ ร.ฟ.ท.ได้ชี้แจงเรื่องที่ สตง.ท้วงติงประเด็นเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) ไปแล้ว เพื่อขอความชัดเจนและเป็นบรรทัดฐานในการประกวดราคาต่อไป แต่หาก สตง.ไม่เห็นด้วยเท่ากับต้องเริ่มประกวดราคาใหม่ และยังส่งผลกระทบต่อทุกสัญญาของโครงการรถไฟทางคู่อีกด้วย ซึ่งบอร์ดต้องเร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางให้สามารถดำเนินการในปีนี้ คือ 1. ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย อยู่ระหว่างรอความเห็น สตง. 2. จิระ-ขอนแก่น 185 กิโลเมตร วงเงิน 26,007 ล้านบาท อยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอ ครม. 3. ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 17,452.53 ล้านบาท, ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ วงเงิน 24,918.74 ล้านบาท, ช่วงนครปฐม-หัวหิน วงเงิน 20,145.59 ล้านบาท