xs
xsm
sm
md
lg

ท่าเรือลดค่าธรรมเนียมบริการตู้สินค้า-เรือลากจูง 18-20% หลังน้ำมันลดต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ด กทท.ไฟเขียวปรับลดค่าธรรมเนียมพิเศษบริการตู้สินค้าและเรือลากจูงในท่าเรือกรุงเทพ, แหลมฉบัง ลง 18-20% ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกและในประเทศที่ปรับลดลง มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 58 ช่วยลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์โดยรวมของประเทศ พร้อมแจงขึ้นค่าใช้จ่ายตู้สินค้าในบริเวณท่าเรือ (THC) มติร่วมให้ชะลอไป 2 เดือน ชี้เป็นบริการที่สายการเดินเรือหรือเจ้าของตู้สินค้าเรียกเก็บจากผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออก ไม่เกี่ยวกับ กทท.

เรือตรี ทรงธรรม จันทประสิทธิ์ ผู้อำนวยการท่าเรือกรุงเทพ รักษาการแทนผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.ได้มีมติเห็นชอบให้ฝ่ายบริหาร กทท.พิจารณาทบทวนอัตราการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของการให้บริการตู้สินค้าและการให้บริการเรือลากจูง ณ ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) โดยอ้างอิงจากราคาน้ำมัน ณ ปัจจุบันเป็นฐานในการคำนวณ เนื่องจากปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกและในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ซึ่งจากการพิจารณาทบทวนแล้ว กทท.ได้ปรับลดค่าธรรมเนียมฯ ลงประมาณ 18-20% โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558

“จากการที่ กทท.ทบทวนอัตราการเรียกเก็บธรรมเนียมพิเศษการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฯ และได้ออกประกาศ กทท.ฉบับใหม่ดังกล่าว นอกจากจะทำให้ผู้ใช้บริการจะได้ใช้ราคาน้ำมันที่ลดลง สอดคล้องกับราคาน้ำมัน ณ ปัจจุบัน อันจะเป็นการช่วยลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์ของประเทศไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังเป็นการคืนความสุขให้แก่ประชาชนตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย” รักษาการแทนผู้อำนวยการ กทท.กล่าว

ส่วนกรณีที่มีข่าวกลุ่มบริษัทสายการเดินเรือประกาศจะขึ้นค่าบริการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตู้สินค้าในบริเวณท่าเรือ (Terminal Handling Charge : THC) นั้น เรือตรี ทรงธรรมกล่าวว่า ค่า THC ดังกล่าวไม่ได้เป็นอัตราค่าภาระหรือค่าบริการที่ กทท.กำหนด แต่เป็นอัตราค่าบริการที่บริษัทสายการเดินเรือหรือบริษัทเจ้าของตู้สินค้าเรียกเก็บจากผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออก โดยรวมค่าใช้จ่ายบางส่วนที่ต้องชำระกับ กทท. เช่น ค่ายกตู้สินค้าขึ้นหรือลงเรือ (Lifting Charge) ค่าภาระการใช้ท่าของตู้สินค้า (Container Wharfage) และค่าเคลื่อนย้ายตู้สินค้าเปล่าภายในเขตท่าเรือ (Empty Container Lift on Charge) เป็นต้น

ทั้งนี้ กทท.ไม่ได้มีการปรับโครงสร้างอัตราค่าภาระมาตั้งแต่ปี 2543 โดยค่าภาระบางอัตรา เช่น ค่าภาระยกตู้สินค้าขึ้นหรือลงเรือ และค่าภาระการใช้ท่าของตู้สินค้านั้น เป็นอัตราที่ใช้มาก่อนปี 2543 และจากการประชุมร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการค้าภายใน กทท. บริษัทสายการเดินเรือ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับมาตรฐาน (AEO) เพื่อหาข้อยุติในการขึ้นค่า THC เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมฯ ได้มีมติให้ชะลอการปรับขึ้นค่า THC ออกไปอีก 60 วัน เพื่อตั้งคณะทำงานศึกษาในรายละเอียด เหตุผล และความเหมาะสมในการปรับราคาก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น