xs
xsm
sm
md
lg

ทลฉ.เปิดเวทีรับฟังความเห็น ปชช.สู่การพัฒนาศูนย์กลางลอจิสติกส์อาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - ท่าเรือแหลมฉบัง เปิดเวทีฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ หาแนวทางพัฒนาท่าเรือฯ อย่างยั่งยืน พร้อมจับมือทุกภาคส่วนร่วมพัฒนาท่าเรือในระยะ 5 ปี ตั้งเป้าบูรณาการขนส่งสินค้าสู่ศูนย์กลางลอจิสติกส์ของอาเซีย ด้านชาวบ้านเรียกร้องให้ท่าเรือมีความจริงใจในการอยู่ร่วมกัน พร้อมขอสัญญา 5 ข้อ ถ้าทำได้พร้อมเปิดใจรับเฟส 3

วันนี้ (26 พ.ย.) ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธานเปิดงานเสวนาระดมความคิดเห็น ในหัวข้อ “การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นที่ห้องชลาลัย โรงแรมชลจันทร์ พัทยา รีสอร์ต จังหวัดชลบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอข้อมูลแผนการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมโดยรอบท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ โดยมีผู้สนใจทั้งจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชน และสื่อมวลชนในพื้นที่เข้าร่วมงานกว่า 300 คน

การเสวนาในครั้งนี้ได้นำเสนอแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบท่าเรือแหลมฉบังในทุกโหมดการเดินทาง ทั้งระบบราง ถนน และทางทะเล ภายใต้กรอบการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม ระยะเวลา 5 ปี ผ่านตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น นางสิริมา หิรัญเจริญเวช ผู้แทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งนำเสนอการพัฒนาการขนส่งระบบรางในพื้นที่ภาคตะวันออก เช่น โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-หนองคาย-มาบตาพุด

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอมุมมองของภาคประชาชนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง โดย ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ดำเนินรายการโดย นายสนธิ คชวัฒน์ เลขาธิการสมาคมอนามัยและสิ่งแวดล้อมไทย

ขณะที่ เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ได้นำเสนอสาระสำคัญเกี่ยวกับแผนการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะเวลา 5 ปี โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง และจัดหาเครื่องมือยกขน คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการได้ภายใน พ.ศ.2561 สามารถรองรับตู้สินค้าได้ 300,000 TEU/ปี โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ (Rail Transfer Terminal) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือในการยกตู้สินค้าขึ้นลงรถไฟ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี พ.ศ.2561 และจะพัฒนาโครงการในระยะที่ 2 ประมาณ พ.ศ.2564-2565

ส่วนโครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือแหลมฉบัง โดยเพิ่มช่องทางผ่านประตูตรวจสอบสินค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะทำให้มีจำนวนช่องทางผ่านประตูตรวจสอบสินค้ารวม 31 ช่องทาง สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ที่ระดับ 10-11 ล้าน TEU/ปี นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังในระยะยาว

ทั้งนี้ ท่าเรือแหลมฉบังได้รับการยอมรับให้เป็นท่าเรือที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยใน พ.ศ.2557 ท่าเรือแหลมฉบัง มีตู้สินค้าผ่านมากที่สุดถึง 6.45 ล้าน TEU ถือเป็นอันดับที่ 23 ของโลก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี ส่งผลให้ในปี พ.ศ.2565 จะมีปริมาณสินค้าสูงถึง 9 ล้าน TEU ซึ่งหากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยรอบท่าเรือแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2564 ท่าเรือแหลมฉบัง ก็จะสามารถรองรับการขยายตัวดังกล่าวได้ ที่สำคัญท่าเรือแหลมฉบังจะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และศูนย์กลางลอจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

ด้าน นายรังสรรค์ สมบูรณ์ ชาวบ้านรอบท่าเรือแหลมฉบัง เผยว่า การจัดเสวนาในครั้งนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทางท่าเรือจัดให้ประชาชนได้มีส่วนในการแสดงความคิดเห็นในการกำหนดทิศทางการพัฒนาท่าเรือ เนื่องจากประชาชนในพื้นที่คือ คนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายของรัฐและการท่าเรือ โดยที่ผ่านมา ภาครัฐคิดอยากจะทำอะไรก็ดำเนินการเลยไม่ได้คำนึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน ซึ่งหลายฝ่ายพยายามที่จะที่จะทำให้ประชาชน และท่าเรือ สามารถอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งที่ผ่านมา พวกเราได้พยายามปรับตัวแล้ว และก็เห็นถึงความตั้งใจของท่าเรือแหลมฉบังพยามยามทำให้ใช่ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ตนมองว่ามันยังไม่ตรงจุด และยังไม่ทั่งถึงชาวบ้านจริงๆ แต่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบังไม่เคยทำมาก่อน

สำหรับการพัฒนาเฟส 3 นั้น พวกเราเข่าใจว่าต้องมีการพัฒนาอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าพวกเราจะดึงดันที่จะคัดค้านโดยไม่เหตุผล แต่การท่าเรือ ต้องมีความจริงใจการเยียวยาชาวบ้าน ที่ผ่านมาตั้งแต่มีการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง จนถึงวันนี้ไม่ได้รับการดูที่ดี แต่จะมาบอกให้พวกเราลืมสิ่งที่ผ่านมามันคงจะยาก แต่ถ้าการท่าเรือฯ รับปากว่าจะดำเนินการดังนี้ คือ

1.ต้องมีการขุดลอกลำคลองบางละมุงทุกปี เนื่องจากการถมทะเลเพื่อขยายท่าเรือทำให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนไป และเกิดการตื้นเขิน 2.เรื่องของสิ่งแวดล้อมในทุกเรื่อง ทั้งน้ำเสีย กลิ่นอื่นๆ จะต้องมีการจัดการที่รอบคอบรัดกุม 3.เรื่องปากท้องของชาวบ้าน เพราะชาวประมงส่วนใหญ่ต้องสูญเสียอาชีพประมงไป พวกเขาจะไปประกอบอาชีพอะไร ดังนั้น ทางการท่าเรือจะต้องให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นพิเศษในการหาอาชีพให้ประชาชนรอบท่าเรือที่ได้รับผลกระทบ

4.การศึกษาของลูกหลานของชุมชนในพื้นที่จะต้องได้รับการดูแล เพราะเนื่องจากพวกเรามีอาชีพทำกินก็ไม่สามารถดูแลครอบครัวให้อยู่ดีกินดีได้ และ 5.โครงการพื้นที่เวนคืน 55 ไร่ ซึ่งพวกเราเรียกร้องมาเป็นเวลานานพอสมควรที่จะให้มีการจัดทำให้เป็นสวนสาธารณะ เพื่อให้เป็นปอดของชุมชน จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับการพิจารณา หากทางการท่าเรือสามารถดำเนินการได้พวกเราพร้อมที่จะอยู่ร่วมกับการท่าเรือได้อย่างมีความสุข




กำลังโหลดความคิดเห็น