“พาณิชย์” เบรกสายการเดินเรือปรับขึ้นค่าขนถ่ายสินค้า หลังจ้องขึ้นโหด 60-70% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 58 โดยให้ชะลอการปรับราคาออกไป 60 วัน พร้อมตั้งคณะทำงานดูราคาที่เหมาะสม ขู่หากไม่ยอมจะจับยัดบัญชีบริการควบคุม
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือกับตัวแทนบริษัทเดินเรือรายใหญ่ประมาณ 10 ราย เพื่อสอบถามถึงกรณีที่สายเดินเรือประกาศขึ้นค่าภาระการขนถ่ายสินค้าหน้าท่า (เทอร์มินัลแฮนด์ลิ่งชาร์จ) ในอัตรา 60-70% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 ว่า จากการรับฟังการชี้แจง พบว่ายังไม่มีเหตุผลชัดเจนในการปรับขึ้นค่าบริการในอัตราดังกล่าว จึงได้ขอให้ทางบริษัทเดินเรือชะลอการปรับขึ้นค่าบริการออกไปก่อน 60 วัน หรือจนถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2558 และในระหว่างนี้จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อข้อสรุปถึงอัตราที่เหมาะสมในการจัดเก็บค่าบริการดังกล่าวให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน เพราะการปรับขึ้น 60-70% ถือว่าสูงเกินไป และมีผู้ได้รับผลกระทบและร้องเรียนเข้ามายังกรมฯ มาก
“กรมฯ ได้ยืนยันว่า หากทางบริษัทเดินเรือไม่ยอมชะลอการปรับขึ้นราคาก็คงต้องนำเข้าบัญชีบริการควบคุม ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งทางตัวแทนที่เข้ามาร่วมประชุมจึงยินยอม และจะแจ้งไปยังบริษัทแม่เพื่อให้รับทราบถึงการชะลอครั้งนี้ต่อไป”
สำหรับคณะทำงานที่จะตั้งขึ้นจะหาข้อสรุปการเก็บค่าเทอร์มินัลแฮนด์ลิ่งชาร์จ ประกอบด้วย ตัวแทนจากกรมการค้าภายใน กรมศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย บริษัทเดินเรือ สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และสมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับมาตรฐาน (AEO) โดยจะมีการประชุมหารือเพื่อหาอัตราค่าบริการที่เหมาะสมช่วง ม.ค. หลังผ่านพ้นเทศกาลปีใหม่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน ตามช่วงระยะเวลาที่ขอความร่วมมือให้บริษัทเดินเรือชะลอการเก็บค่าบริการออกไปก่อน
แหล่งข่าวจากสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การคิดอัตราค่าบริการของสายการเดินเรือที่เพิ่มขึ้น 60-70% ถือว่าไม่เหมาะสม เพราะจากการสอบถามการท่าเรือแห่งประเทศไทย ไม่ได้มีการเพิ่มค่าบริการใช้ท่ากับบริษัทสายการเดินเรือ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องปรับค่าบริการในส่วนดังกล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า ก่อนหน้านี้ นายนพพร เทพสิทธา ประธาน สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ได้ออกมาระบุว่ามีสายเดินเรือ 7 บริษัท ส่งหนังสือมายังผู้ส่งออกไทยในการปรับขึ้นค่าเทอร์มินัลแฮนด์ลิ่งชาร์จสูงสุดในอัตรา 74.36% ประกอบด้วย บริษัท เอสไอทีซี จากฮ่องกง, บริษัท หยางหมิง จากไต้หวัน, บริษัท ฮานจิน จากเกาหลีใต้, บริษัท โอโอซีแอล จาก ฮ่องกง, บริษัท อีเวอร์กรีน จาก ไต้หวัน, บริษัท ไชน่า ชิปปิ้ง จากจีน และ บริษัท หวัน ไห จากไต้หวัน คาดว่าจะมีบริษัทเดินเรือรายใหญ่อีก 20 รายจากยุโรป และสหรัฐฯ เตรียมที่จะทำหนังสือต่อผู้ส่งออกไทยในการขึ้นราคาเรือเหมือนกัน
สำหรับอัตราการเก็บค่าใช้จ่ายใหม่ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่าย ตู้ขนาด 20 ฟุต จากอัตราเดิม 2,600 บาท เป็น 4,400 บาท หรือเพิ่มขึ้น 69.23% และตู้ขนาด 40 ฟุต จาก 3,900 บาทเป็น 6,800 บาท หรือเพิ่ม 74.36%, ค่าเอกสารในการขึ้นเงินจาก 800 บาทต่อชุด เป็น 1,200 บาทต่อชุด, ค่าปิดตู้คอนเทนเนอร์ จาก 150 บาทต่อตู้ เป็น 200 บาท, ค่ายกตู้ฯ จากไม่เก็บเป็น 280 บาทต่อตู้ขนาด 20 ฟุต และ 560 บาทต่อตู้ขนาด 40 ฟุต, ค่าตรวจสอบและติดตามตู้จากไม่เก็บเป็น 200 บาทต่อตู้ เป็นต้น ซึ่งค่าบริการใหม่ทำให้ผู้ส่งออกต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการส่งออกเพิ่มขึ้น 9,920 ล้านบาทต่อปี