“พาณิชย์” เรียกผู้ประกอบการตู้คอนเทนเนอร์หารือ สั่งปรับลดค่ายกตู้เปล่า 20-40 บาทต่อตู้ เริ่ม 15 ก.ย.-31 ธ.ค.นี้ หลังผู้ส่งออกร้องเรียนเก็บไม่เป็นธรรม ทำต้นทุนพุ่ง ขู่หากไม่ให้ความร่วมมือเตรียมงัดกฎหมายเข้าไปคุม
นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับผู้ประกอบการตู้คอนเทนเนอร์ ผู้ประกอบการเดินเรือ และสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยว่า ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้จัดเก็บอัตราค่าบริการยกตู้เปล่า (Lift on charge) กับผู้ส่งออก โดยตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุตเก็บค่าบริการ 280 บาทต่อตู้ จากเดิมที่เรียกเก็บ 300 บาทต่อตู้ และตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต เก็บค่าบริการ 560 บาทต่อตู้ จากเดิมที่เรียกเก็บ 600 บาทต่อตู้ โดยกำหนดให้เก็บในอัตราดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 โดยเป็นอัตราที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7%
ทั้งนี้ กรมฯ จะส่งหนังสือไปยังผู้ประกอบการตู้คอนเทนเนอร์ และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ให้รับทราบถึงอัตราค่าบริการยกตู้เปล่า ก่อนที่จะถึงกำหนดการเรียกเก็บค่าบริการใหม่นี้ และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่กรมฯ ขอความร่วมมือกับผู้ประกอบการแล้ว ก็จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือกันใหม่อีกครั้ง เพื่อพิจารณาการเรียกอัตราค่าบริการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจจะเรียกเข้ามาหารือกันในเดือนมกราคม 2558
“หากผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือ กรมฯ มีกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการดูแลอยู่ ซึ่งอาจจะนำกฎหมายนี้เข้ามาดูแลและกำหนดค่าบริการได้ โดยยังเป็นเรื่องของอนาคต แต่ขณะนี้ผู้ประกอบการทั้งหมดได้ให้ความร่วมกับทางกรมฯ อย่างเต็มที่”
นายสันติชัยกล่าวว่า การหารือครั้งนี้เป็นผลมาจากสภาผู้ส่งออกฯ เข้ามาร้องเรียนที่กรมฯ ว่ามีการเก็บอัตราค่าบริการยกตู้เปล่าไม่เป็นธรรมในท่าเรือแหลมฉบัง ทางผู้ประกอบการตู้คอนเทนเนอร์ ผู้ประกอบการเดินเรือ และสภาผู้ส่งออกฯ ไม่สามารถตกลงค่าบริการกันได้เพราะอาจจะไม่ไว้ใจกัน กรมฯ จึงเป็นตัวกลางเพื่อประสานกับผู้ประกอบการทั้งหมดเพื่อหาข้อสรุปอัตราค่าบริการยกตู้ที่ทั้งหมดยอมรับกันได้
นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นสัญญาณที่ดีที่ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือและดูแลการเก็บค่าบริการต่างๆ โดยเฉพาะค่าจ่ายในการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ และค่าบริการอื่นๆ ของบริษัทเดินเรือ ไม่ว่าจะเป็นค่าเอกสารค่าล้างตู้คอนเทนเนอร์ ค่ายกตู้ เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมาบริษัทเดินเรือทยอยเพิ่มการเก็บค่าใช้จ่ายในรายการต่างๆ มากขึ้น และบางรายการเก็บพร้อมกันเกือบทุกราย จนเป็นภาระต้นทุนแก่ผู้ส่งออกอย่างมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีต้นทุนเพิ่มจากวัตถุดิบและค่าแรง ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนผู้ส่งออกสูงขึ้น