นครศรีธรรมราช - อธิการมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เผยเตรียมจบปัญหาผู้รับเหมาก่อสร้างคณะแพทยศาสตร์ใช้เอกสารปลอมทำสัญญา ส่อเป็นโมฆะตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมเสนอเรื่องเข้าสู่สภามหาวิทยาลัยเพื่อหาข้อยุติ คาดทุกปัญหาจบภายในเดือนกันยายนนี้ หวั่นการก่อสร้างล่าช้าเสียโอกาสนักศึกษาเข้าเรียน
วันนี้ (20 ส.ค.) ที่ จ.นครศรีธรรมราช สัญญาก่อสร้างศูนย์การแพทย์ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่พบว่า ผู้ที่ชนะการประกวดราคามูลค่าการก่อสร้างราว 2,165 ล้านบาท ซึ่งเป็นเพียงการก่อสร้างระแยะแรก จากทั้งหมดมีงบประมาณสูงถึงกว่า 6 พันล้านบาท โดยผู้รับจ้างได้ทำสัญญา และเข้าสู่การดำเนินงานโครงการไปแล้ว จนกระทั่งมีการทำหนังสือเพื่อขอเบิกเงินค่างวดแรกราว 300 ล้านบาท ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดตามระเบียบ เนื่องจากเป็นวงเงินสูง จึงพบว่ามีเอกสารที่ไม่ชอบ โดยเฉพาะเอกสารทางการเงินที่ระบุสถาบันการเงินแห่งหนึ่งเป็นผู้ออกให้
แต่พบว่า สถาบันทางการเงินแห่งเดียวกันนั้นยืนปฏิเสธอย่างเป็นทางการมาทางมหาวิทยาลัยว่า ไม่ได้เป็นผู้ออกให้ ตั้งแต่เอกสารในชั้นการเข้าประกวดราคา ประกอบสัญญา และเอกสารทางการเงินที่ยื่นมาเพื่อขอเบิกวงเงินค่าจ้างงวดแรก ดังนั้น สัญญาการก่อสร้างมูลค่ากว่า 2,165 ล้าน จึงส่อเป็นโมฆะตั้งแต่ต้น เนื่องจากเอกสารที่ใช้ประกอบนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหา ล่าสุด ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เรื่องนี้อยู่การพิจารณาของทีมนิติกรของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อย่างละเอียดรอบคอบ และจะสรุปแล้วนำกลับเข้าสู่สภามหาวิทยาลัยอีกครั้ง ยืนยันว่า ที่สุดแล้วเราต้องดำเนินการแน่ แต่ที่เป็นห่วงนั้นคือ เรื่องของงบประมาณในการก่อสร้างศูนย์การแพทย์และคณะแพทยศาสตร์ จะต้องดำเนินการอย่างไร ซึ่งหากล่าช้าออกไปอีกจะเสียโอกาสสำหรับนักศึกษาแพทย์ และประชาชนในภาคใต้ตอนบนเป็นอย่างมาก
“อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าไม่สามารถผลีผลามได้ เราต้องระมัดระวังเพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก ผู้รับเหมาท้องถิ่นที่รับเหมาหน้างานยังคงมีความพร้อมในการดำเนินงาน ส่วนระดับหุ้นส่วนในเรื่องนี้พบว่า มีปัญหาในเรื่องสภาพคล่อง และคาดว่าทุกอย่างจะจบในเดือนกันยายนนี้ นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยยังต้องเข้าชี้แจงงบประมาณในช่วงที่ 2 ของศูนย์การแพทย์ด้วย ดังนั้น ในงวดแรกนี้ต้องเร่งให้จบ” อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ กล่าว
ขณะที่รายงานเพิ่มเติมแจ้งว่า ในพื้นที่ก่อสร้างศูนย์การแพทย์ขณะนี้ทางผู้รับเหมาช่วงส่วนใหญ่เป็นผู้รับเหมาในพื้นที่ ได้เข้าปรับพื้นที่ ได้ถอนเครื่องจักร และกำลังคนออกจากพื้นที่หมดแล้ว ไม่มีการเคลื่อนไหวของการก่อสร้าง ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้เป็นสำนักงานการรักษาความปลอดภัยถูกยกออกไปจากพื้นที่ ขณะที่การจ้างงานก่อนหน้านี้ ตามการประสานว่าจ้างของโบรกเกอร์ที่รับผิดชอบการจ้างงานแต่ประเภท ทั้งงานขุด งานปรับพื้นที่ งานถม อยู่ในสภาพตึงเครียดอย่างหนักเนื่องจากถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหลายรายจากผู้ประกอบการค้าน้ำมัน เจ้าของเครื่องจักร และผู้รับเหมา ทั้งยังมีการติดตามทวงหนี้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับตาพื้นที่เป็นพิเศษ เนื่องจากเกรงว่าอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นได้