xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” เล็งตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน “ทอท.-กทท.-กทพ.” นำร่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม” ชู 3 รัฐวิสาหกิจเกรดเอ ทอท., การทางพิเศษฯ และการท่าเรือฯ นำร่องจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อรายได้อนาคตสดใส จูงใจนักลงทุนร่วมพัฒนาโครงการ ลดภาระรัฐบาล “สร้อยทิพย์” เร่งกรมทางหลวงชงแผนลงทุนมอเตอร์เวย์

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้เข้ามาหารือเพื่อทำความเข้าใจถึงการดำเนินโครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคม ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน (Public-Private Partnership : PPP) ซึ่งต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556) รวมถึงการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) และการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทำการศึกษาเพื่อจัดทำแผนการระดมทุนร่วมกับ สคร. เพื่อหารูปแบบการขายหน่วยลงทุนที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ทอท., กทท. และกทพ.เป็นหน่วยงายรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้จากการดำเนินงาน อยู่ในระดับที่น่าจะจูงใจนักลงทุนได้ เช่น ทอท.มีสนามบินภูมิภาค 4 แห่ง คือสนามบินเชียงใหม่, เชียงราย, ภูเก็ต, หาดใหญ่, กทพ.มีโครงการทางด่วน ส่วน กทท.มีรายได้จากการให้บริการ สามารถประเมินรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเพื่อจ่ายเป็นค่าตอบแทนให้แก่ผู้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนได้ ทำให้สามารถระดมทุนมาดำเนินโครงการต่างๆ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาล

ส่วนการใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 นั้น นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า สคร.ต้องการรับฟังความเห็นของหน่วยงานเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคของกฎหมายไม่ให้กระทบหรือทำให้การดำเนินโครงการต้องล่าช้า ซึ่ง สคร.กำลังทบทวนแก้ไขเพื่อลดอุปสรรครวมถึงพิจารณาในการออกระเบียบหรือกฎหมายลูกมารองรับเพื่อให้ขั้นตอนการทำงานง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้โครงการร่วมทุนกับเอกชนส่วนใหญ่ของกระทรวงคมนาคม ดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ส่วนโครงการที่คาดว่าจะเริ่มใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 นั้น คือ สัญญาบริหารสถานีแยกและบรรจุสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ลาดกระบัง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ของกรมทางหลวง ซึ่งได้เร่งรัดให้นำเสนอรูปแบบการลงทุนเพื่อให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาความเหมาะสม เนื่องจากมีทั้งวิธีการกู้เงิน, รูปแบบเอกชนร่วมลงทุน (PPP), ใช้กองทุน หรือจะใช้รูปแบบเทิร์นคีย์ ซึ่งเส้นทางบางปะอิน-โคราช, เส้นทางบางใหญ่-บ้านโป่ง ค่อนข้างมีความพร้อมแล้ว เพราะมีการออกแบบ เวนคืน และศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้ว

“กรมทางหลวงต้องเสนอมาว่าจะใช้รูปแบบใดในการลงทุนเพื่อพิจารณาไปคู่ขนาน หากใช้รูปแบบ PPP เมื่อ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ชัดเจน ก็สามารถเดินหน้าได้เลย” นางสร้อยทิพย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น