“ไก่อู” แจงปมข่าวลือ รัฐเวนคืนเขตเศรษฐกิจพิเศษ ย้ำใช้พื้นที่หลวง ไม่มีการเวนคืน เผย คำสั่ง หน.คสช. 17/2558 จัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ หวังสกัดปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ระหว่างรัฐกับชาวบ้าน ชี้ รัฐดูแลทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร ไม่อยากให้ประชาชนส่วนหนึ่งคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวมาก จนละเลยประโยชน์ของชาติ
วันนี้ (21 ต.ค.) มีรายงานว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงว่า ตามที่มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวกรณี นายกรัฐมนตรี และ หน.คสช. ใช้อำนาจตาม ม.44 ออกคำสั่ง หน.คสช. ที่ 17/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และก่อให้เกิดปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ระหว่างรัฐกับชาวบ้าน นั้น ขอเรียนชี้แจงให้พี่น้องประชาชนทราบ ดังนี้
1. รัฐบาลมีเจตนารมณ์ที่จะกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค และสร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยไปกว่าภาคการเกษตร จึงมีนโยบายจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เพื่อส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวก แก่ภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การบริการ หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ นอกเหนือจากนั้น ยังเป็นการช่วยจุนเจือธุรกิจในพื้นที่ ส่งเสริมการจ้างงาน ส่งเสริมการศึกษา เพื่อผลิตแรงงานให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ สนับสนุนให้ประชาชนได้ทำงานในท้องถิ่นของตน
2. การจัดหาที่ดินเพื่อกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ รัฐบาลมองผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นหลัก โดยเลือกจากพื้นที่ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ เน้นจัดหาจากพื้นที่ของรัฐ ทั้งที่ราชพัสดุ พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม และพื้นที่สาธารณะก่อนเป็นลำดับแรก โดยไม่มีการเวนคืนที่ดิน เว้นแต่จะมีการแลกเปลี่ยนที่ดินกับเอกชนเพื่อให้เขตเศรษฐกิจพิเศษมีพื้นที่ติดกัน อย่างไรก็ดี พื้นที่ของรัฐหลายแห่งถูกประชาชนบุกรุก ไม่มีเอกสารสิทธิ หรือยังไม่ได้รับการพิสูจน์สิทธิการครอบครอง ดังนั้น หัวหน้า คสช. จึงมีคำสั่งที่ 17/2558 โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งรัดกระบวนการทำงาน และผลักดันให้เกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจโดยเร็ว ซึ่งหมายรวมถึง การเร่งพิสูจน์สิทธิ การเจรจากับชาวบ้าน การจ่ายเงินช่วยเหลือ หรือหาที่ดินทำกินที่เหมาะสมให้ โดยมิได้ละเลยความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่
3. ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการบุกรุกพื้นที่สาธารณะมานานแล้ว การแก้ไขปัญหาก่อนหน้าที่รัฐบาลนี้จะเข้ามาก็มักไม่ค่อยมีผลเป็นรูปธรรม เนื่องจากภาคการเมืองต้องการรักษาฐานคะแนนเสียง หรือมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งชาวบ้านอ้างสิทธิการครอบครองพื้นที่โดยบางส่วนไม่มีเอกสารสิทธิ บางส่วนอ้างว่ามีเอกสารและยังไม่ได้รับการพิสูจน์สิทธิ นอกจากนี้ ยังมีนายทุนที่อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดิน เข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการเก็งกำไร จนเอกชนที่ประสงค์จะทำธุรกิจไม่สามารถเข้าไปลงทุนได้
4. รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจหรือละเลยความเดือดร้อนของชาวบ้าน ม.4 และ ม.7 ต.สายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก โดยจังหวัดตากได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง และดำเนินการสำรวจรายชื่อราษฎร ข้อมูลที่ดิน และจัดทำรายละเอียดของสิ่งปลูกสร้างและพืชผล เพื่อประกอบการพิจารณาหาทางช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนที่เหมาะสม จัดหาที่ดินทำกินแห่งใหม่ ส่งเสริมอาชีพ และกำหนดหลักเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่ขณะนี้ไม่ได้รับความร่วมมือจากราษฎรให้เจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บข้อมูล จึงขอวิงวอนประชาชนให้ยอมรับหลักการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นกติกาของสังคม หันหน้ามาพูดคุยกัน โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ
5. รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับมาตรการจูงใจนักลงทุนและมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น เปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การบริการ และอื่น ๆ อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุนรายใดเป็นพิเศษ เนื่องจากนักลงทุนจำเป็นต้องทำสัญญาซื้อขาย หรือเช่าที่ดิน และรับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยรัฐกำหนดอัตราค่าซื้อขายหรือเช่าที่ดินและสาธารณูปโภคอย่างเหมาะสม ไม่เอาเปรียบนักลงทุน และรายรับที่ได้ตกเป็นของแผ่นดิน ขณะเดียวกัน การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในรูปของนิคมอุตสาหกรรม จะดำเนินการตามหลักมาตรฐานสากล ทั้งการจัดทำระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ การจัดตั้งโรงงานที่ได้มาตรฐาน มีใบอนุญาตและการตรวจสอบที่ชัดเจน และมีระบบกำจัดของเสียและมลพิษอย่างถูกสุขลักษณะ
“รัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โดยดูแลทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร จึงไม่อยากให้ประชาชนส่วนหนึ่งคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตัวมากเกินไปจนละเลยประโยชน์ของชาติ ขณะที่สื่อมวลชนเองควรพิจารณาข้อมูลอย่างถ้วนถี่ก่อนนำเสนอข่าว ไม่รับข้อมูลด้านเดียว เพราะสื่อเปรียบเสมือนกระจกเงาสะท้อนสังคม จึงควรทำหน้าที่สะท้อนความถูกต้อง ดีงาม ไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม”
มีรายงานว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ชาวบ้าน อ.แม่สอด จ.ตาก และหมู่บ้านใกล้เคียง ได้เรียกร้องขอความเห็นใจ และเข้าพบผู้ว่าราชกรจังหวัดตากหลายครั้ง และมีการเข้ายื่นหนังสือให้ทางฝ่ายปกครองจังหวัดตากทบทวนการเวนคืนที่ดิน จุดที่จะมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - พม่า ข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 และพื้นที่ประกอบโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก หลัง คสช. มีคำสั่งที่ 17/2558 ลงวันที่ 15 พ.ค. 58 (ม.44) สั่งให้ที่ดินในท้องที่ ต.ท่าสายลวด เฉพาะภายในแนวเขตตามแผนที่หมายเลข 1/8 รวม 2,182 ไร่เศษ ถูกเพิกถอนเป็นของราชพัสดุ กรมธนารักษ์ เพื่อจัดสรรให้นิคมอุสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐหรือเอกชนเช่า เพื่อใช้ในเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก (แม่สอด - พบพระ - แม่ระมาด)
โดยกลุ่มชาวบ้านได้ระบุว่า ทางราชการนำที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยของราษฎรตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายไปเป็นที่ราชพัสดุ ราษฎรจะไปอยู่ที่ไหน ทำมาหากินอย่างไร ซึ่งแนวเขตป่าถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีทับบ้านเรือนชาวบ้าน ทั้งที่สร้างแล้วและยังไม่ได้ปลูกหลายร้อยครอบครัว ตอนนี้เครียดกันมาก จนเสียชีวิตจากเรื่องนี้แล้ว 1 ราย เพราะรัฐเวนคืนที่ดินไป โดยจะจ่ายชดเชยให้ไร่ละ 7,000 - 12,000 บาท จะนำเงินที่ได้ไปซื้อที่ดินได้กี่ตารางวา
มีรายงานด้วยว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ในเวทีประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่โรงแรมเซ็นทาราแม่สอดฮิลล์ รีสอร์ท อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ชาวบ้าน อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินกว่า 2,000 ไร่เพื่อสร้างเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ออกมาระบุว่า เคยยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีถึง 7 ครั้ง แต่กลับเพิกเฉย
โดยกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มคนรักษ์ถิ่นที่ทำกิน แม่สอด” ได้เรียกร้อง ประกอบด้วย
1. พื้นที่บริเวณนี้ไม่เหมาะสมในการรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากมีชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่น หากก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอาจก่อให้เกิดมลพิษสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนอย่างรุนแรง
2. การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นมูลเหตุที่นำไปสู่การรังวัดออกโฉนดในครั้งนี้ ปรากฏว่าไม่มีการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านไม่มีหลักประกันในการตรวจสอบผลกระทบในอนาคต
3. ไม่ให้การรังวัดพื้นที่ของกรมที่ดินจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติร่วมกัน
4. ให้มีการพิสูจน์สิทธิ์การทำประโยชน์ในที่ดินของชาวบ้านอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
5. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยกเลิกคำสั่งที่ 17/2558 หรือชะลอการดำเนินการใด ๆเกี่ยวกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจนกว่าจะได้ข้อยุติการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ต.ค. แกนนำชาวบ้าน ม.4 และ ม.7 บ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก (กลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่นที่ดินทำกิน) เดินทางมาชุมนุมบริเวณหน้าอาคารด่านศุลกากรแม่สอด และที่หน้าที่ว่าการอำเภอแม่สอด เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร ผ่านนายด่านศุลกากรแม่สอด เพื่อขอคัดค้านการก่อสร้างด่านศุลกากรฯ แห่งใหม่ บนพื้นที่จำนวน 319 ไร่ ใน ต.ท่าสายลวด เนื่องจากทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมเรียกร้องให้ไปสร้างที่อื่นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน