xs
xsm
sm
md
lg

ผลักดันเขต ศก.ภาคตะวันออกเป็นศูนย์กลางดึงการลงทุน “คลัง” เตรียมเพิ่มสิทธิพิเศษจูงใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” เตรียมให้สิทธิพิเศษเพิ่มจูงใจลงทุนเขต ศก.ภาคตะวันออก เพื่อผลักดันให้เป็นศูนย์กลางหลักดึงดูดนักลงทุน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดการสัมมนาโครงการ CCO-MOF สัญจร พร้อมมอบนโยบาย และทิศทางดำเนินการให้แก่ข้าราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง โดยย้ำในที่ประชุมว่า เพื่อดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งใน และต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในเขตเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลกำหนด โดยกระทรวงเตรียมพิจารณาให้สิทธิพิเศษเพิ่มมากกว่ามาตรการเดิม เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านให้สิทธิพิเศษมากกว่าประเทศไทย ทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้น เพราะเป็นฐานการลงทุนขนาดใหญ่ หากสร้างแรงจูงใจมากขึ้น และให้สิทธิพิเศษเพิ่มมากกว่าเขตอื่น จึงต้องศึกษาเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากปัจจุบันการให้สิทธิพิเศษทางภาษีต้องให้สิทธิพิเศษด้านอื่นที่ไม่ใช่ภาษี เช่น การเช่าที่ราชพัสดุระยะเวลา 50 ปี ต่อสัญญาเพิ่มอีก 50 ปี โดยร่วมมือกับหลายหน่วยงานทั้งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง

สำหรับกระทรวงการคลังกำหนดภารกิจ 5 ด้านหลัก ประกอบด้วย 1.การดูแลการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ 2.ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ จึงต้องประคับประคองให้รายย่อยประกอบอาชีพได้ จึงเลือกช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายผ่านการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย 3.วางระบบ E-Payment เพื่อดึงผู้ประกอบการเข้าระบบ และอำนวยความสะดวกการใช้จ่ายของประชาชนผ่านออนไลน์ 4.การอำนวยความสะดวกการทำธุรกิจให้แก่ภาคเอกชน โดยต้องขยับอันดับให้ดีขึ้นจากปีก่อนด้วยการปรับวิธีการทำงานเพิ่มความสะดวกภาคเอกชน และประชาชน และบางส่วนต้องแก้ไขข้อกำหนดให้คล่องตัว 5.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องการลงนามโครงการเป้าหมายให้ได้ในช่วงรัฐบาลนี้ เพื่อให้การลงทุนเดินหน้าต่อไป นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญดูแลระบบธรรมาภิบาล หากทุกขั้นตอนโปร่งใสโครงการลงทุนจะเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็ว ต้องไม่ทำตัวเป็นนาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เจ้าของประเทศ มีความคิดริเริ่มสร้างสิ่งใหม่มาปรับใช้ในทางที่ดี โดยยึดหลักธรรมาภิบาลที่ดี

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับทราบนโยบาย และเปิดให้ผู้ประกอบการเอกชนสอบถามเกี่ยวกับการใช้ระบบติดตามทางศุลกากร (Tracking System) เพื่อควบคุม และตรวจสอบสินค้าผ่านแดนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้งานร่วมกับระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้การเปรียบเทียบภาพสินค้า และน้ำหนักสินค้าระหว่างท่าต้นทาง และท่าปลายทางทำได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยระยะแรกกรมศุลกากรจะนำระบบ e-Lock มาใช้กับสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และด่านศุลกากร รวม 16 แห่ง ที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังได้จัดทำโครงการปล่อยสินค้าล่วงหน้า ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีปริมาณการนำเข้า-ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของประเทศ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการสายการเดินเรือส่งข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือล่วงหน้าก่อนเรือมาถึงไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง เพื่อให้มีข้อมูลสำหรับเตรียมการจัดวางตู้คอนเทนเนอร์สินค้าล่วงหน้าก่อนเรือเทียบท่า ผู้นำของเข้าสามารถส่งข้อมูลใบขนสินค้า และปฏิบัติพิธีการศุลกากรล่วงหน้า ทำให้สามารถทำการตรวจปล่อยสินค้าได้ในทันทีที่สินค้ามาถึงด้วยการนำร่องการปล่อยสินค้าล่วงหน้า ณ ท่าเทียบเรือ A3 ท่าเรือแหลมฉบัง โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด และจะเริ่มดำเนินการวันที่ 18 เมษายน 2559 ระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น