xs
xsm
sm
md
lg

เร่งล้อมคอกทุจริตลงทุนเมกะโปรเจกต์ เน้นความโปร่งใส การจัดซื้อจัดจ้าง-การก่อสร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ จัดสัมมนารัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้าง หลังรัฐบาลมีแผนเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมาก

นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวในงาน สัมมนา “สร้างความเข้าใจแนวทางดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ” เพื่อทำความเข้าใจต่อผู้บริหารรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 56 แห่ง เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลมีแผนเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมาก เพื่อป้องกันการทุจริตจึงได้นำรูปแบบการติดตามจัดซื้อจัดจ้างด้วยความโปร่งใสใน 2 รูปแบบ ทั้งด้านการจัดซื้อจัดจ้าง และการลงทุนก่อสร้าง เพื่อติดตามการลงทุนของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ

โดยในส่วนของโครงการลงทุนก่อสร้าง ได้นำระบบของ (COST) Construction sector Transparency Initrative โดยเป็นองค์กรที่ประเทศอังกฤษร่วมกับธนาคารโลก มี 13 ประเทศสมาชิก และมีหลายประเทศทั่วโลกนำระบบดังกล่าวมาใช้ ขณะนี้ที่ประชุม COST ได้เห็นชอบให้ไทยเป็นสมาชิกแล้ว จึงเตรียมนำระบบดังกล่าวมานำร่องใช้กับการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 วงเงินลงทุน 62,000 ล้านบาท โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ มาร่วมติดตามการลงทุน โดยมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ มาร่วมคณะทำงานเพื่อติดตามดูการกำหนดราคากลาง การกำหนดเงื่อนไขการประมูล ป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้น

สำหรับโครงการหน่วยงานภาครัฐที่ใช้การจัดซื้อจัดจ้าง ได้สานต่อแนวทางของรัฐบาลที่ผ่านมา ด้วยการนำระบบ “สัญญาคุณธรรม” มาใช้หลังได้ทดลองใช้การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก. รัฐบาลนี้จึงนำมาใช้ในการจัดหาผู้ให้บริการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ด้วยการให้เจ้าของโครงการลงทุนทำสัญญาร่วมกับหน่วยงานกลาง โดยคณะกรรมการผู้สังเกตการณ์ มีตัวแทนจากส่วนต่างๆ เช่น กระทรวงคมนาคม คลัง สศช. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีอำนาจเรียกเอกสารข้อมูลในการกำหนดราคากลาง การจัดทำโอทีอาร์ ผู้เสนอราคา การตัดสินใจคัดเลือก การเจรจาต่อรอง เพราะได้ทำสัญญาร่วมกันแล้ว หากพบสิ่งผิดปกติให้เแจ้ง ป.ป.ช.ดำเนินคดี คาดว่าทั้ง 2 แผนดังกล่าวจะเริ่มใช้ได้ในเร็วๆ นี้ หลังจากซูเปอร์บอร์ดเห็นชอบแล้ว

สำหรับแนวทางแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจที่ต้องฟื้นฟูกิจการ เช่น การบินไทย, ทีโอที, กสท โทรคมนาคม, ไอแบงก์ เอสเอ็มอีแบงก์ ร.ฟ.ท. ยืนยันว่าจะไม่มีการยุบรวม หรือยกเลิกกิจการแต่อย่างใด เพราะไอแบงก์ และเอสเอ็มแบงก์ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินสภาพหนี้เสีย รายได้ทรัพย์สิน สำหรับทีโอที และ กสท โทรคมนาคม รัฐวิสาหกิจทั้ง 2 แห่งจะนำมาเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เมื่อปรับบทบาทภารกิจแล้วอาจไม่จำเป็นต้องยุบรวมกิจการเข้าด้วยกัน เพราะการควบรวบขอให้เป็นทางเลือกสุดท้ายในการตัดสินปัญหา ในส่วนของ ร.ฟ.ท.และ ขสมก.จะเสนอแผนฟื้นฟูให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์พิจารณาในครั้งต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น