xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.สูญปีละ 2 พันล้าน เหตุสัญญาเช่าขาดอายุ “ออมสิน” สั่งเร่งแก้ พร้อมขายฝันผุดคอมเพล็กซ์รอบสถานีบางซื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
“ออมสิน” จี้ ร.ฟ.ท.เคลียร์สัญญาเช่าที่ดินขาดอายุ พบสูญรายได้ถึง 2พันล้านต่อปี ยอมรับปี 58 ยังวิกฤต คาดขาดทุน 1.8 หมื่นล้าน เหตุรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายและมีภาระดอกเบี้ยและบำเหน็จบำนาญเกือบ 8 พันล้าน ปิ๊งพัฒนาที่ดินรอบสถานีกลางบางซื่อ ผุดคอมเพล็กซ์ โรงแรม หอบไอเดียหารือ “ผอ.สคร.” ขอไฟเขียวเปิดเอกชนร่วมทุนก่อน ส่วนปัญหาสัญญาเช่าที่ ปตท. ตั้ง “พล.ท.ชาญชัย” หัวหน้าทีมเจรจา และเห็นชอบโยกย้ายรองผู้ว่าฯ 2 คน และตั้ง ผอ.ทรัพย์สินคนใหม่



นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดวันนี้ (1 ต.ค.) ว่า ที่ประชุมได้รับรายงานผลการตรวจสอบการบริหารจัดการสัญญาเช่าทรัพย์สินและที่ดินทั่วประเทศ ซึ่งพบว่ามีที่ดินจำนวนมากที่สัญญาเช่าครบอายุสัญญาแล้วแต่ยังไม่มีการดำเนินการต่อสัญญาหรือทำการต่อสัญญาล่าช้าและไม่สามารถเก็บเงินค่าเช่าได้ คิดเป็นรายได้ที่หายไปในปี 2558 ประมาณ 2,000 ล้านบาท จึงเร่งรัดให้ ร.ฟ.ท.ไปตรวจสอบและบริหารจัดการใหม่ ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้คาดการณ์ว่าปี 2558 จะมีรายได้จากสัญญาเช่าที่ดินเพียง 1,502.12 ล้านบาท ซึ่งหากนำรายได้ที่สูญเสียนี้กลับมาจะช่วยทำให้มีรายได้จากที่ดินเพิ่มเป็น 3,500 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่มีการคาดการณ์ผลประกอบการในปี 2558 ว่าจะขาดทุนประมาณ 18,000 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 10,300 ล้านบาท มีรายจ่าย 17,278 ล้านบาท มีภาระบำเหน็จ บำนาญอีก 4,361 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ยเงินกู้อีก 3,434 ล้านบาท

“ร.ฟ.ท.ได้กลับมารายงานข้อมูลเรื่องสัญญาเช่าที่ดินต่างๆ แล้วเห็นว่ารายได้หายไปตั้ง 2,000 ล้านบาท สาเหตุส่วนใหญ่มาจากไม่ต่ออายุเมื่อสัญญาหมดจึงเก็บไม่ได้ หรือสัญญาที่ย่านจตุจักรที่มี 39 แปลง บางสัญญามีการฟ้องร้อง ศาลสั่งให้รถไฟชนะแล้วไม่ได้ไปบังคับคดี ปล่อยไว้ รายได้ก็หายไปด้วย เป็นต้น”

ส่วนการพัฒนาที่ดินแปลงใหญ่มีมูลค่าการลงทุนสูงนั้น จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ซึ่งที่ดินบริเวณสถานีมักกะสัน, สถานีแม่น้ำ และบริเวณพหลโยธินนั้นยังไม่คืบหน้า ทำให้ขณะนี้จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาที่ดินบริเวณสถานีกลางบางซื่อ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งสองฝั่งของตัวสถานีมีพื้นที่ว่าง 35 ไร่ และ 78 ไร่ และที่ดินบริเวณสถานีขนส่งกรุงเทพ (หมอชิตใหม่) อีก 105 ไร่ สามารถดำเนินการพัฒนาได้ทันทีเพราะมีการเคลียร์พื้นที่ไว้เพื่อก่อสร้างแล้ว ซึ่งได้มีการออกแบบคร่าวๆ ไว้เบื้องต้นว่าจะพัฒนาเป็นอาคารสำนักงาน โรงแรม ห้างสรรพสินค้า คอมเพล็กซ์ โดยมีทางเชื่อมเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อได้สะดวก ซึ่งในวันที่ 9 ตุลาคมนี้จะนำแผนเบื้องต้นไปหารือกับนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในส่วนของรูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน เพื่อนำมาเข้าสู่ขั้นตอนการศึกษารายละเอียดต่อไป

“ผมได้นำแนวคิดการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อหารือกับนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งได้ให้พิจารณาในส่วนที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้มีการศึกษาแผนการพัฒนาพื้นที่ย่านพหลโยธินในภาพรวมด้วยเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งเห็นว่าการพัฒนาสถานีกลางบางซื่อมีความเป็นไปได้และทำได้รวดเร็ว โดยรถไฟไม่ต้องลงทุน เพียงแต่ศึกษากำหนดแนวทางในการให้เอกชนเข้ามาลงทุนให้ดีก็สามารถสร้างรายได้จากที่ดินในทำเลทองได้” นายออมสินกล่าว

ลดรองผู้ว่าฯ เหลือ 6 คน ตั้ง “สิริมา” ผอ.ทรัพย์สินลุยทวงหนี้ค้างชำระ

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายระดับรองผู้ว่าฯ 2 ตำแหน่ง คือ นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ หัวหน้าหน่วย ธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ไปดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าฯ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน 1 แทนนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว ที่เกษียณอายุ และโยกย้าย นายเทอดชัย เพ่งไพฑูรย์ หน่วยธุรกิจเดินรถ ไปดำรงตำแหน่ง หัวหน้าหน่วย ธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน และแต่งตั้งนางสิริมา หิรัญเจริญเวช ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบภายใน ไปดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างผู้บริหารให้มีรองผู้ว่าร.ฟ.ท. 6 คนจากเดิม 7 คน โดยลดความซ้ำซ้อนรองผู้ว่าฯด้านการเดินรถให้เหลือคนเดียว ส่วนระดับผู้ช่วยผู้ว่าฯ และผู้อำนวยการฝ่ายนั้นบอร์ดจะมีพิจารณาอย่างรอบคอบรัดกุมต่อไป โดยจะคัดสรรบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ตั้งใจทำงาน มีประวัติที่ดี เพื่อวางตัวให้สอดคล้องกับแผนฟื้นฟู และรองรับรองผู้ว่าฯ ที่จะครบเกษียณอายุอีก 3 คนในปี 2558 ด้วย

ส่วน พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ได้รายงานความคืบหน้าว่า จะให้ผู้สมัครที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติมาแสดงวิสัยทัศน์และสรุปผลการสรรหาฯ ภายในเดือนตุลาคมนี้ตามเป้าหมาย โดยจะรายงานความคืบหน้าต่อบอร์ดในการประชุมวันที่ 14 ตุลาคมนี้อีกครั้ง

พร้อมกันนี้ บอร์ดได้รับทราบกรณีการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เสนอจ่ายเงินค่าตอบแทนชดเชยการใช้ประโยชน์ในที่ดินของการรถไฟฯ ในการก่อสร้างโครงการทางด่วนสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกกรุงเทพมหานคร ก้อนแรกจำนวน 1,200 ล้านบาท ภายในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนที่เหลือจะมีการเจรจาต่อรองกันต่อไปเนื่องจาก ร.ฟ.ท.ได้ขอค่าชดเชยกว่า 1,500 ล้านบาท

ตั้ง “พล.ท.ชาญชัย” หัวหน้าทีมเจรจาสางปัญหาสัญญาเช่าที่ ปตท.

สำหรับกรณีปัญหาการเช่าที่ดินการรถไฟฯ ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ จำนวน 24 ไร่นั้น เบื้องต้นทางผู้บริหาร ปตท.ได้แจ้งว่าพร้อมที่จะเจรจาค่าเช่าหลังสัญญาเดิมหมดอายุตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 และยังไม่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งบอร์ดได้ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ไปเจรจากับ ปตท. โดยมี พล.ท.ชาญชัย ภู่ทอง บอร์ด ร.ฟ.ท.เป็นประธานคณะอนุฯ คาดว่าจะเจรจาได้ข้อยุติในเวลาไม่นาน เพราะเชื่อว่า ปตท.คงไม่ต้องการย้ายไปอยู่ที่อื่น ส่วน ร.ฟ.ท.มีข้อมูลจากการศึกษาก่อนหน้านี้พร้อมนำไปเจรจาร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อยุติ
กำลังโหลดความคิดเห็น