xs
xsm
sm
md
lg

“อาคม” ไฟเขียวนำร่องท่าเรือระบบปิด ยกระดับบริการปิ่นเกล้า-นนทบุรี ใน 6 เดือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“อาคม” รับลูกให้เรือด่วนเจ้าพระยาฯ ลงทุนยกระดับบริการท่าเรือปิ่นเกล้าและนนทบุรีนำร่อง เป็นท่าเรือระบบปิดและใช้ระบบตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ คาด 6 เดือนเห็นเป็นรูปธรรม ด้านเรือด่วนสบช่องขอสัญญาต่างตอบแทนบริหารท่าเรือ 22 ท่าเรือ เร่งปรับปรุงได้ใน 1 ปีครึ่ง ลงทุน 80 ล้านบาท



นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่สำรวจท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ท่าเรือปากเกร็ด จ.นนทบุรี ถึงท่าเรือสาทร กรุงเทพมหานคร วันนี้ (15 ต.ค.) ว่า กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายในการยกระดับการให้บริการเรือโดยสารทั้งเรือด่วน เรือข้ามฟาก เรือท่องเที่ยว ซึ่งจะมีการปรับปรุง 2 ส่วน คือ ด้านกายภาพของอาคารท่าเรือให้มีความทันสมัย มีรูปแบบบริการให้เหมือนสนามบิน แยกผู้โดยสารขึ้นและลง ส่วนด้านบริการจะใช้ระบบตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้า รฟม., บีทีเอส และเชื่อมต่อกับรถ ขสมก.ในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาคุณภาพเรือให้ทันสมัย สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้นเพื่อรองรับการเดินทางจากชานเมืองเข้ามา และเร่งฝึกอบรมพนักงานให้มีบริการที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงภายในปี 2558

ทั้งนี้ ในการปรับบริการท่าเรือบริการเป็นระบบปิดนั้น เบื้องต้นจะให้บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัดเข้ามาทดลองปรับปรุงนำร่องก่อน ซึ่งเท่าที่ดูต้นแบบทางกายภาพท่าเรือปิ่นเกล้าสามารถเริ่มเป็นต้นแบบที่มีบริการสมบูรณ์ได้ภายใน 6 เดือน ซึ่งยอมรับว่าการทำระบบปิดจะต้องมีการลงทุนระบบอิเล็กทรอนิกส์และตั๋วอัตโนมัติ (E-Ticket) ในขณะที่ผู้โดยสารเรือมีจำนวนจำกัด เพราะถือเป็นทางเลือกในการเดินทาง ทำให้อาจจะไม่สามารถเปิดประมูลทั่วไปได้เพราะจะไม่มีผู้เข้ามาลงทุนนอกจากผู้ประกอบการเรือ นอกจากนี้ จะต้องหารือร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อร่วมกันปรับป้ายรถเมล์ให้เชื่อมต่อกับท่าเรือเพื่อให้การเดินทางเข้าออกท่าเรือสะดวกยิ่งขึ้น

สำหรับแผนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาของกรมเจ้าท่า ระยะแรก 19 แห่ง จากทั้งหมด 39 แห่ง โดยในปี 2558-2559 จะเริ่มดำเนินการท่าเรือ 9 แห่ง ได้รับงบประมาณแล้ว 70 ล้านบาท ที่เหลือ 10 แห่งปรับปรุงในปี 2560-2561โดยมีท่าเรือที่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้ารวม 4 แห่ง คือ ท่าเรือปากเกร็ด เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีชมพู ท่าเรือพระนั่งเกล้า เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง ท่าเรือบางโพ เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และท่าเรือสาทร เชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส

ในส่วนการปรับปรุงท่าเรือปากเกร็ดนั้น มีเป้าหมายเพื่อต้องการมีพื้นที่สาธารณะบริเวณท่าเรือและเพื่อสร้างความปลอดภัยการให้บริการของผู้โดยสาร โดยมีพื้นที่ที่จะพัฒนา 400 เมตร และต้องการแก้ไขปัญหาการรุกล้ำลำน้ำของผู้อยู่อาศัยริมน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ ยังจะมีการออกแบบเรื่องของเขื่อนป้องกันตลิ่งด้วยเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยการก่อสร้างดังกล่าวนั้น ความสูงจะวัดจากระดับของค่าเฉลี่ยระดับน้ำ คือ 2.50 เมตร และยังมีมาตรการสำรองหากระดับสูงกว่าเหมือนช่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2554

นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) กล่าวว่า ปริมาณผู้โดยสารเรือด่วนเจ้าพระยามีประมาณ 5 หมื่นคนต่อวัน เรือข้ามฟากประมาณ 1 แสนคนต่อวัน และเรือคลองแสนแสบประมาณ 1 แสนคนต่อวัน ส่วนการปรับปรุงท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยานั้น คาดว่าจะเริ่มได้ในเดือน เม.ย. 2558 โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 6 เดือน

นาวาโท ปริญญา รักวาทิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้เสนอแผนลงทุนยกระดับบริการท่าเรือนำร่อง 2 ท่าก่อน คือ ท่าปิ่นเกล้า และท่านนทบุรี ซึ่งจะเริ่มดำเนินงานในเดือนธันวาคมนี้ แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน และจะปรับปรุงครบทั้ง 22 ท่าเรือภายใน 1 ปีครึ่ง คาดว่าจะใช้เงินลงทุนทั้งหมด 80 ล้านบาท โดยจะกู้เงินมาดำเนินการจัดหาและติดตั้งระบบเทคโนโลยีต่างๆ โดยเสนอทำสัญญาสัมปทานระยะ 20 ปีรูปแบบต่างตอบแทน โดยขอพื้นที่ประมาณ 30% ในแต่ละท่าเรือพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้ โดยส่วนหนึ่งจะนำมาเป็นค่าซ่อมบำรุงท่าเรือเพื่อช่วยรัฐประหยัดงบประมาณ

“ปัจจุบันผู้โดยสารเรือด่วนมีประมาณ 3.5 หมื่นคน/วันเท่านั้น หรือเท่ากับ 9.5-10.5 ล้านคน/ปี ซึ่งลดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับ 10 ปีก่อน ขณะที่ราคาน้ำมันกลับเพิ่มขึ้นสวนทางกัน ทำให้บริษัทมีรายได้เพียง 180 ล้านบาท/ปี ขาดทุนกว่า 10 ล้านบาท ที่ผ่านมาขอปรับขึ้นค่าโดยสารแต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ การปรับบริการยกระดับท่าเรือเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มความสะดวกและจะทำให้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น”


กำลังโหลดความคิดเห็น