เหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ หลังจากฝนเทกระหน่ำเพียงไม่ถึงสองชั่วโมง ทำให้ประชาชนตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของระบบระบายน้ำของเมืองหลวงของประเทศไทย โดยที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นบทเรียนที่ดีในการป้องกันน้ำท่วม
โครงการอุโมงค์ระบายน้ำยักษ์ เพื่อป้องกันน้ำท่วมเมืองหลวงของญี่ปุ่น ที่เรียกว่า 首都圏外郭放水路 shutoken gaikaku hosuiro หรือ G-Cans Project ถือเป็นระบบระบายน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ใช้เวลาสร้างนานถึง 17 ปี ตั้งแต่ปี 1992 และสร้างเสร็จในปี 2009 ด้วยเงินประมาณสูงถึง 2 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ
โครงการนี้เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่กรุงโตเกียว เมื่อกันยายน ปี 1991 ซึ่งเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 30 ปีของแดนอาทิตย์อุทัย ทำให้บ้านเรือนกว่า 30,000หลังจมน้ำ พื้นที่เมืองหลวงของญี่ปุ่นเสียหายมากกว่า 100 ตารางกิโลเมตร และมีผู้เสียชีวิต 52 คน
พื้นที่กรุงโตเกียวเต็มไปด้วยสิ่งก่อสร้างแออัด ทำให้ไม่สามารถสร้างระบบระบายน้ำบนผิวดินได้ ขณะที่ภูมิประเทศของกรุงโตเกียวที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล และยังเผชิญกับมรสุมเป็นประจำ ทำให้เมืองหลวงของญี่ปุ่นมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยมากถึง 1,530 มิลลิเมตร ซึ่งถือว่ามากที่สุดในโลก เป็นรองเพียงกรุงลอนดอนของอังกฤษเท่านั้น
ระบบระบายน้ำ G-Cans เชื่อมโยงกรุงโตเกียวเข้ากับเมืองคาสุคาเบะ จังหวัดไซตามะ ที่อยู่ใกล้เคียง โดยมีถังเก็บน้ำขนาดยักษ์ 5 ถัง เชื่อมต่อกับอุโมงค์ที่อยู่ลึกลงไปใต้ดิน 50 เมตร และมีความยาว 6.4 กิโลเมตร ความโดดเด่นของอุโมงค์นี้คือ มีเสาคอนกรีตขนาดยักษ์ 59 ต้นที่เชื่อมต่อกับเครื่องระบายน้ำ 78 ตัว ที่สามารถระบายน้ำ 200 ตันต่อวินาทีลงสู่แม่น้ำเอโดะ เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงโตเกียวในฤดูฝนหรือช่วงที่มีพายุไต้ฝุ่น
เจ้าหน้าที่ของระบบป้องกันน้ำท่วมเมืองหลวงของญี่ปุ่น ระบุว่า โครงการอุโมงค์ยักษ์ G-Cans สามารถช่วยให้กรุงโตเกียวรอดพ้นน้ำท่วมได้จริง แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าไม่ใช่ความใหญ่โตของโครงการ หากแต่เป็น “การเตรียมพร้อม” และ “การจัดระเบียบผังเมือง” โดยกรุงโตเกียวจะมีการซ้อมรับมือภัยพิบัติต่างๆ เป็นประจำ ขณะที่การก่อสร้างในเมืองของญี่ปุ่นถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ให้กีดขวางเส้นทางระบายน้ำ
นอกจากนี้ ระบบการจัดเก็บและคัดแยกขยะของญี่ปุ่นก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันน้ำท่วม โดยเมืองต่างๆของญี่ปุ่นมีระเบียบการคัดแยกขยะประเภทต่างๆ เพื่อทิ้งในแต่ละวันของสัปดาห์อย่างเคร่งครัด ผู้ที่ไม่คัดแยกขยะ,ทิ้งผิดประเภทผิดวัน หรือทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง ไม่เพียงแต่ขยะจะไม่ถูกเก็บไปเท่านั้น แต่ยังอาจถูกปรับเป็นเงินจำนวนมากอีกด้วย
ญี่ปุ่นเป็นดินแดนที่มีความเสี่ยงด้านภัยพิบัติสูง ทั้งแผ่นดินไหว, คลื่นยักษ์สึนามิ รวมทั้งอุทกภัย ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักดีว่าไม่มีระบบป้องกันใดที่สมบูรณ์แบบ หากแต่การเตรียมพร้อมของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งจิตสำนึกสาธารณะของประชาชน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้แดนอาทิตย์อุทัยรอดพ้นความเสียหายอันใหญ่หลวงของภัยพิบัติมาได้นับครั้งไม่ถ้วน.
อ่านข่าวย้อนหลัง: ระบบป้องกันน้ำท่วมญี่ปุ่น ดุจ “มหาวิหารพาร์เทนอน” ใต้กรุงโตเกียว