xs
xsm
sm
md
lg

วาจาทุพภาษิต : โอษฐภัยแก่ผู้พูด

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ 5 นับเป็นสุภาษิตไม่เป็นทุพภาษิต ผู้รู้ติเตียนไม่ได้คือ

1. วาจาที่กล่าว (ถูกต้อง) ตามกาล

2. วาจาที่กล่าวเป็นความจริง

3. วาจาที่กล่าวอ่อนหวาน

4. วาจาที่กล่าวประกอบด้วยประโยชน์

5. วาจาที่กล่าวประกอบด้วยเมตตา”

นี่คือพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับวาจา อันเป็นสุภาษิตหรือการพูดที่ดี

ส่วนวาจาที่ประกอบด้วยองค์ 5 โดยมีนัยตรงกันข้ามนับได้ว่าเป็นทุพภาษิตคือ

1. วาจาที่กล่าวผิดกาล

2. วาจาที่กล่าวเป็นความเท็จ

3. วาจาที่กล่าวก่อให้เกิดโทษ

4. วาจาที่กล่าวหยาบคายแข็งกระด้าง

5. วาจาที่กล่าวประกอบด้วยโทสะ

วาจาที่ประกอบด้วยองค์ 5 ดังกล่าวข้างต้น ประการใดประการหนึ่งให้โทษแก่ผู้พูดหรือที่เรียกว่า โอษฐภัยคือภัยที่เกิดจากปากในลักษณะที่โบราณเรียกว่า แกว่งเท้าหาเสี้ยนได้

วาจาทั้งที่เป็นสุภาษิตและทุพภาษิต ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญคือ

1. เนื้อหา

2. ภาษา

3. เจตนา

ส่วนสำคัญ 3 ประการนี้เองที่ทำให้วาจาสุภาษิต และทุพภาษิตแตกต่างกันใน 3 ลักษณะดังนี้

1. เนื้อหาของวาจาซึ่งเป็นสุภาษิตเป็นเรื่องจริง มีประโยชน์และสอดคล้องกับกาลเทศะ

2. ภาษาของวาจาสุภาษิต จะต้องเป็นภาษาสุภาพอ่อนโยน และถูกต้องตามหลักการใช้ภาษานั้นๆ

3. เจตนาของผู้พูดวาจาอันเป็นสุภาษิต จะต้องไม่มีความอาฆาตมาดร้ายแก่ผู้ฟัง หรือใครอื่นใดที่ผู้พูดพาดพิงถึงในการพูดนั้น

ส่วนลักษณะของวาจาอันเป็นทุพภาษิตมีนัยตรงกันข้ามกับลักษณะของวาจาอันเป็นสุภาษิตดังนี้

1. เนื้อหาไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ฟัง แถมยังก่อให้เกิดทุกข์เกิดโทษแก่ผู้ฟัง และสังคมโดยรวมด้วย

2. ภาษาหยาบคายไร้สาระ และไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของการใช้ภาษาด้วย

3. เจตนามุ่งให้ร้ายขยายความขัดแย้งให้เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากโทสจริตเป็นตัวกำหนด

วันนี้การพูดจาอันเป็นทุพภาษิตมีให้ได้ยินได้ฟังอย่างดาษดื่นจากผู้คนในสังคมระดับผู้นำ หรือแม้กระทั่งผู้นำทางการบริหารทั้งที่เกิดจากการพูดด้วยเจตนาและไม่เจตนา

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.ได้ตกเป็นจำเลยทางสังคมโดยมีสื่อมวลชนเป็นโจทก์ในกรณีที่ผู้ว่าฯ กทม.ได้พูดถึงเหตุการณ์น้ำท่วมถนน และพื้นที่ธุรกิจอันเนื่องมาจากฝนตกหนัก และกทม.ระบายน้ำไม่ทันเป็นเหตุให้น้ำท่วมถนนหลายสายทำให้จราจรติดขัด ผู้คนสัญจรลำบากในตอนหนึ่งทำนองว่า กลัวน้ำท่วมให้หนีไปอยู่บนดอย

จากคำพูดเพียงแค่นี้ ผู้ว่าฯ กทม.ก็ได้ตกเป็นจำเลยทางสังคม เมื่อมีสื่อสิ่งพิมพ์หลายฉบับนำไปพาดหัวข่าว และวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ

ทำไมผู้ว่าฯ กทม.จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ และจะมีแนวทางแก้ไขป้องกันอย่างไร เพื่อมิให้เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นอีก

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้มองเห็นประโยชน์แห่งปัญหา และเพื่อจะนำเหตุอันเป็นบ่อเกิดแห่งปัญหานี้มาเป็นแนวทางแห่งการวิเคราะห์ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูที่มาของผู้ว่าฯ กทม. โดยจะอนุมานจากเหตุปัจจัยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาระหน้าที่ในฐานะผู้ว่าฯ กทม.ดังต่อไปนี้

1. ผู้ว่าฯ กทม.เป็นตำแหน่งทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งนี้จะต้องได้รับเลือกจากประชาชน และได้คะแนนเหนือคู่แข่ง และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งในลักษณะนี้มาเช่นกัน ดังนั้น จึงถือได้ว่าเป็นคนของประชาชน และต้องทำงานเพื่อประชาชน

2. กทม.กับปัญหาน้ำท่วมขังมิใช่สิ่งใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แท้จริงแล้วเมืองหลวงแห่งนี้เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมตลอดเวลา จากน้ำ 4 ประเภทซึ่งเกิดขึ้นในเวลาเดียวกันคือ

2.1 น้ำฝน

2.2 น้ำเหนือ

2.3 น้ำทะเลหนุน

2.4 น้ำทิ้ง

เมื่อไหร่ก็ตามเมื่อน้ำ 4 ประเภทเกิดขึ้นพร้อมกันหรือมาบรรจบพบกันในเวลาเดียวกับกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ลุ่ม และคูคลองรวมไปถึงท่อไม่มีสภาพพร้อมที่จะระบายน้ำออกไปได้อย่างทันท่วงที

แต่โอกาสที่น้ำ 4 ประเภทนี้จะเกิดขึ้นพร้อมกันมิได้มีทั้งปี จะมีก็ต่อเมื่อถึงฤดูฝนปีละครั้ง

ส่วนนอกฤดูฝนเหตุปัจจัยที่จะทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ มีเพียงประการเดียวคือ ฝนนอกฤดูที่ตกลงมามาก และผสมกับน้ำทิ้งที่ขังอยู่ในคูคลองจนเต็ม และไม่สามารถรองรับน้ำฝนที่ตกลงมาได้ หรือแม้น้ำในคูคลองได้ถูกทำให้พร่องเพื่อรองรับน้ำฝนได้เพียงพอ แต่ถ้าท่อระบายน้ำตันเนื่องจากมีสิ่งกีดขวางทางเดินของน้ำ น้ำก็ท่วมขังได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา

3. เมื่อปัญหาน้ำท่วมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติประจำ เมื่อมีฝนตกลงมาในปริมาณมาก เหตุใด กทม.มิได้เตรียมการให้พร้อมที่จะรองรับปัญหานี้ ซึ่งดำเนินการได้โดยการลอกท่อ และกำจัดสิ่งกีดขวางทางเดินน้ำ รวมไปถึงการดูแลรักษาเครื่องสูบน้ำ และประตูระบายน้ำให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน

แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างจะบอกได้ชัดเจนว่า การเตรียมพร้อมเพื่อป้องกันปัญหานี้ มิได้ดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบจึงเป็นเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังดังกล่าวแล้ว

4. เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้น และสื่อพากันลงข่าวพร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กทม.ในทางลบ ผู้ว่าฯ กทม.ในฐานะเป็นคนของประชาชน แทนที่จะออกมาแสดงความเห็นใจในความเดือดร้อนที่ประชาชนได้รับ พร้อมกับกล่าวคำขอโทษและให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ให้เกิดปัญหาในทำนองนี้ขึ้นอีก กลับพูดในทำนองทีเล่นทีจริงว่า ถ้ากลัวน้ำท่วมก็ให้หนีไปอยู่บนดอย

จากคำพูดนี้ ถ้าดูจากเนื้อหาแล้วก็เป็นความจริง เนื่องจาก กทม.เป็นที่ลุ่มโอกาสที่จะถูกน้ำท่วมเกิดขึ้นได้ทุกครั้งที่ฝนตกลงมา แต่ไม่สอดคล้องทันกาลเนื่องจากในขณะที่พูดเป็นเวลาที่ประชาชนเดือดร้อน

ยิ่งกว่านี้ คำพูดในลักษณะนี้ยังไม่สอดคล้องกับภาวะผู้นำที่ประชาชนคาดหวัง และเลือกเข้ามาจึงถูกมองในทางลบว่า พูดด้วยความน้อยใจ และเป็นสำนวนกระแหนะกระแหนมากกว่าการพูดเพื่อความขบขัน

ในกรณีของผู้ว่าฯ กทม.เกี่ยวกับเรื่องน้ำท่วมเป็นตัวอย่างของการพูดที่ไม่สอดคล้องหรือไม่ถูกต้องตามกาลเวลา ถึงแม้ว่าเนื้อหาจะเป็นความจริงก็ให้โทษแก่ผู้พูดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้พูดที่มีสถานะทางสังคมเป็นบุคคลสาธารณะ

จากกรณีของผู้ว่าฯ กทม.ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบเพราะพูดเรื่องจริงแต่ผิดกาล เป็นบทเรียนให้รู้ว่าผู้นำแม้กระทำผิดหรือพูดผิดในเรื่องเล็กน้อย ก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ในสายตาของสื่อมวลชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งคาดหวังว่าผู้นำควรจะเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องในทุกเรื่อง โดยมองข้ามสัจธรรมว่าไม่มีใครสมบูรณ์หรือ No One is Perfect ยกเว้นพระอรหันต์
กำลังโหลดความคิดเห็น