xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานคืนถิ่นบุรีรัมย์นำประสบการณ์มาทำอาชีพตี-ตัดทองคำเปลวสร้างรายได้งาม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุชาติ เพิ่มฤทธิ์ แรงงานชาว อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ อพยพหนีภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ปี’54 กลับภูมิลำเนานำประสบการณ์มาทำอาชีพรับจ้างตีและตัดทองคำเปลว สร้างงานสร้างรายได้งาม วันนี้ ( 14 ก.ย.)
บุรีรัมย์ - แรงงานชาวอำเภอกระสัง บุรีรัมย์ อพยพหนีภัยน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ปี 54 กลับภูมิลำเนานำประสบการณ์ทำงานกับนายจ้างมาทำอาชีพรับจ้างตีและตัดทองคำเปลวสำหรับปิดองค์พระและตกแต่งงานประณีตศิลป์เป็นรายได้เสริมเลี้ยงครอบครัว พร้อมถ่ายทอดให้คนในหมู่บ้านทำเป็นอาชีพเสริมช่วงว่างเว้นจากทำนา สร้างรายได้งาม

วันนี้ (14 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ เพิ่มฤทธิ์ ชาวบ้านบ้านโคกสูง ต.ศรีภูมิ อ.กระสัง จ.บุรีรัมย์ ที่เคยไปขายแรงงานที่กรุงเทพมหานคร แต่ต้องอพยพกลับภูมิลำเนาหลังประสบปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 ได้นำความรู้ประสบการณ์ที่เคยทำงานเกี่ยวกับการตีทองและตัดทองคำเปลวที่ใช้สำหรับปิดสักการะองค์พระหรือใช้ตกแต่งเกี่ยวกับงานประณีตศิลป์กับนายจ้างที่กรุงเทพฯ กว่า 10 ปี มาทำเป็นอาชีพเสริมเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว

พร้อมถ่ายทอดความรู้ให้ญาติพี่น้องและชาวบ้านในหมู่บ้านรับจ้างทำเป็นอาชีพเสริมช่วงว่างเว้นจากการทำนา โดยจะรับงานจากนายจ้างมาทำที่บ้าน โดยนายจ้างจะส่งแผ่นทองคำมาให้ที่บ้านตามออเดอร์คิดเป็นน้ำหนักทองแต่ละครั้ง ครั้งละ 10 บาท ใช้เวลาทำประมาณ 10 วัน เดือนหนึ่งจะส่งมาให้ทำ 3 ครั้ง รวมเป็นน้ำหนักทอง 30 บาท

ปัจจุบันมีชาวบ้านในหมู่บ้านโคกสูงสนใจหันมาทำอาชีพตีและตัดทองคำเปลวแล้วกว่า 10 ราย มีรายได้เฉลี่ยคนละ 5,000-6,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือเป็นรายได้เสริมเพียงพอเลี้ยงครอบครัว ทั้งลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ได้ในอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับกรรมวิธีการผลิตทองคำเปลว เริ่มจากการนำทองคำบริสุทธิ์ที่รีดเป็นแผ่นตัดที่นายจ้างส่งมาให้ไปตัดแบ่งเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร จากนั้นนำแผ่นทองที่ตัดไว้จัดวางใส่กระดาษแก้วเรียงซ้อนกัน บรรจุใส่กล่องที่ทำจากหนังวัว แล้วนำไปเข้าแท่นที่ทำจากหินแกรนิตพื้นเรียบ ใช้ค้อนทองเหลืองสำหรับตีทองตีกุบให้ได้แผ่นทองตามขนาดที่ต้องการ

โดยผู้ที่ตีจะต้องมีความชำนาญหรือประสบการณ์เป็นพิเศษ หลังจากตีกุบจะนำแผ่นทองไปใส่กระดาษแก้วแผ่นใหญ่ขึ้นที่เรียกว่าฝัก แล้วนำไปตีต่ออีกรอบ 6-7 ชั่วโมงให้ได้แผ่นทองที่แผ่บางที่สุด

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการตีทองแล้วก็จะนำไปใส่กระดาษสาเพื่อตัดให้ได้ขนาด โดยจะใช้ไม้ไผ่ที่เจียรขอบให้คม จากนั้นจะตัดแผ่นทองให้ได้ขนาดที่พอเหมาะ วางบนกระดาษที่เตรียมไว้ โดยจะมีทั้งแบบเต็มแผ่นประมาณ 4 คูณ 4 เซนติเมตร และแบบจิ้มไม่เต็มแผ่น เมื่อเสร็จแล้วจะทำการมัดรวมให้เรียบร้อยก่อนจัดส่งให้นายจ้าง

ส่วนเศษทองที่เหลือจากกระบวนการผลิตจะเก็บรวบรวมใส่กระปุกเพื่อส่งคืนให้ร้านทองนำกลับไปหลอมทองก้อนใหม่

นายสุชาติ เพิ่มฤทธิ์ ชาวบ้านบ้านโคกสูงที่รับงานจากนายจ้างมาทำที่บ้าน บอกว่า ปัจจุบันได้ถ่ายทอดความรู้วิธีการทำทองคำเปลวให้ญาติพี่น้องและชาวบ้านสนใจหันมาทำเป็นอาชีพเสริมแล้วกว่า 10 คน แต่ละคนจะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 5,000-6,000 บาท แต่ส่วนขั้นตอนการตีทองต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ ในหมู่บ้านจึงมีเพียงตนเองที่ตีได้คนเดียว ส่วนชาวบ้านคนอื่นจะมารับจ้างตัดทองคำเปลว

ปัจจุบันตนก็มีรายได้เดือนละกว่า 10,000 บาท เพราะเป็นคนรับงานมาจากนายจ้าง แต่หากชาวบ้านคนไหนอยากจะทำเป็นอาชีพเสริม หรือสนใจจะมาเรียนรู้วิธีการทำทองคำเปลวก็ยินดีจะถ่ายทอดให้

ด้าน นางจำเนียน พลเจริญ อายุ 47 ปี ชาวบ้านอีกราย ที่รับจ้างตัดทองคำเปลว บอกว่า ก่อนหน้านี้เคยทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ แต่หลังจากเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่จนต้องอพยพกลับบ้าน ปกติที่บ้านมีเพียงอาชีพทำนา จึงตัดสินใจหันมารับจ้างทำอาชีพตัดทองคำเปลว ปัจจุบันมีรายได้เสริมช่วงว่างเว้นจากการทำนา ถึงแม้จะเป็นรายได้ที่ไม่มากนัก แต่เพียงพอเลี้ยงครอบครัวโดยไม่ต้องอพยพไปทำงานต่างถิ่นได้







กำลังโหลดความคิดเห็น