บอร์ด รฟม.ตั้ง “รณชิต” รักษาการผู้ว่าฯ รฟม.แทน “ยงสิทธิ์” ที่ลาออก ด้าน “ยอดยุทธ” ยันงานไม่สะดุด ทุกโครงการเดินหน้าได้ตามแผน ดีเดย์ 30 ก.ย.ยื่นซองประมูลก่อสร้างสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-คูคต 2.65 หมื่นล้าน ส่วนเดินรถสีน้ำเงินรอ “คตร.” สรุปผลตรวจสอบก่อน เชื่อไม่นาน ยัน กก.มาตรา 13 มีอำนาจเต็มที่ทั้งแนวทางประมูลหรือเจรจา พร้อมปรับวิธีทำงานตั้งอนุ กก.กลั่นกรองเรื่องก่อนเสนอบอร์ดพิจารณา
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังประชุมบอร์ด วันนี้ (24 ก.ย.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบการลาออกของนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล จากตำแหน่งผู้ว่าฯ รฟม.ยื่นเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2557 ซึ่งมีผลทันทีแล้ว โดยได้ระบุเหตุผลเรื่องส่วนตัวว่ามีปัญหาสุขภาพ เบื้องต้นถือเป็นการลาออกที่ถูกต้องตามระเบียบ โดยบอร์ดได้มีมติแต่งตั้งนายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าฯ รฟม.ด้านบริหาร ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ รฟม. ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าฯ ที่ระบุว่ากรณีที่ไม่มีผู้ว่าฯ ลาออก หรือไม่มีผู้ว่าฯ ตัวจริง ให้แต่งตั้งรองผู้ว่าฯ รฟม.ที่มีอาวุโสสูงสุดรักษาการผู้ว่าฯ ซึ่งการที่นายยงสิทธิ์ลาออกไม่มีผลกระทบหรือทำให้งานสะดุดแต่อย่างใด เนื่องจากนายรณชิตเคยดำรงตำแหน่งรักษาการมาแล้วในช่วงปี 2543-2555 และทำงานใน รฟม.มานาน
ส่วนการสรรหาผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่จะดำเนินการตามระเบียบ ซึ่งมีเวลาดำเนินการภายใน 1 ปี โดยคาดว่าในการประชุมบอร์ด รฟม.ครั้งต่อไปวันที่ 14 ตุลาคมจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้ว่าฯ รฟม.ตามระเบียบต่อไป พร้อมกันนี้บอร์ดได้ตั้งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย ซึ่งมีผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นประธานขึ้นมาพิจารณารายละเอียดและเหตุผลของการลาออกกับสัญญาจ้างและการจ่ายชดเชย เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด และให้รายงานต่อบอร์ดครั้งต่อไปด้วย
พล.อ.ยอดยุทธกล่าวถึงการคัดเลือกเอกชนดำเนินการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ระยะทาง 27 กิโลเมตรว่า เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ทำให้คณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ต้องยุติการพิจารณาไว้ก่อนจนกว่า คตร.จะตรวจสอบเสร็จ ซึ่ง คตร.ตรวจสอบเพื่อความโปร่งใสตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเชื่อว่า คตร.จะใช้เวลาไม่นาน น่าจะสรุปแนวทางออกมา และเดินหน้าโครงการต่อไปได้
“กก.มาตรา 13 จำนวน 12 คน ซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงคมนาคม เชื่อว่าจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ กก.มาตรา 13 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอย่างเต็มที่ หากสรุปอย่างไรก็ส่งเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้เลย ส่วนบอร์ดและผู้ว่าฯ ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้เพราะไม่มีอำนาจหน้าที่” พล.อ.ยอดยุทธกล่าว
นอกจากนี้ บอร์ดยังรับทราบการเปิดประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา 26,569 ล้านบาท ซึ่งให้ผู้ที่ซื้อซองเอกสารทั้ง 31 รายยื่นข้อเสนอประกวดราคาในวันที่ 30 กันยายนนี้โดยไม่มีการปรับปรุงเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) หรือขยายเวลาออกไปอีก เนื่องจากเลื่อนยื่นข้อเสนอมาหลายรอบแล้วบอร์ดจึงได้สรุปแนวทางแล้ว โดยยึดประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ นั้นมีขั้นตอนการพิจารณา ซึ่งบอร์ดพยายามเร่งรัดให้เป็นไปตามแผนงานด้วยความรอบคอบ เป็นไปตามหลักความถูกต้อง โปร่งใส และตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งโดยภาพรวมทุกโครงการยังเดินไปตามแผน โดยโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ มีความคืบหน้าตามแผน ส่วนการเดินรถบอร์ดเคยมีมติให้ รฟม.ดำเนินการเอง ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลและแผนงาน ซึ่งหากพบข้อติดขัดไม่สามารถดำเนินการเอง อาจจะใช้การเจรจา Outsource งานให้เอกชนเข้ามาเดินรถได้เพื่อความสะดวก เพราะในอนาคต รฟม.จะเป็นผู้เดินรถเองทุกสาย โดยคาดว่าภายในปี 2557 รถไฟฟ้าสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จะได้รับการอนุมัติจาก ครม. เพื่อดำเนินการเปิดประกวดราคาได้ และตามแผนงานปี 2558 จะเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ได้
อย่างไรก็ตาม แนวทางการทำงานบอร์ดยึดความร่วมมือ หลักเหตุผลและประโยชน์ต่อส่วนรวม ซึ่งได้มีการปรับการทำงานใหม่ โดยตั้งคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและพิจารณาเสนอความเห็นแก่บอร์ด รฟม. โดยมี พล.ต.พิเชษฐ คงศรี เป็นประธานคณะอนุฯกรรมการฯ เพื่อให้งานเป็นระบบ มีการจัดลำดับความสำคัญในการนำเสนอที่ประชุมและกลั่นกรองเรื่องระเบียบและข้อกฎหมายเป็นแนวทางให้บอร์ดเพื่อความเข้าใจที่รวดเร็วและประหยัดเวลาในการประชุม