xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟม.อุ้ม BMCL เดินรถสีน้ำเงินต่อขยาย สั่งทำ TOR ประมูลต้องเดินรถต่อเชื่อมได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
บอร์ด รฟม.ยันเจรจา BMCL เดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายดีกว่าประมูล บีบ กก.มาตรา 13 หากเลือกประมูลต้องกำหนด TOR ให้เดินรถเชื่อมต่อได้ อ้างเพื่อผู้โดยสารสะดวก จับตา กก.มาตรา13 ประชุมรับรองอาจพลิกกลับมติให้เจรจา นอกจากนี้บอร์ดได้สั่งเดินหน้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-คูคต) โดยใช้ TOR เดิม ยันพิจารณารอบคอบแล้ว ให้ 31 รายยื่นซองประมูล 19 ก.ย.นี้ และมีมติให้ รฟม.เดินรถสีเขียวใต้ (สำโรง-สมุทรปราการ) เอง มีเวลา 2 ปีเตรียมบุคลากร



พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมวันนี้ (19 ส.ค.) ว่า ที่ประชุมได้หารือการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กม. ซึ่งคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ได้มีมติเบื้องต้นให้เปิดประกวดเพื่อความโปร่งใสและแข่งขันเสรีนั้น บอร์ด รฟม.กก.มาตรา 13 ควรคำนึงถึงเรื่องความสะดวกของผู้โดยสารด้วย ดังนั้นหากจะเปิดประมูลจะต้องกำหนดเงื่อนไขTOR ว่าจะมีการเดินรถต่อเชื่อมเป็นวงกลมกับสายสีน้ำเงินเฉลิมรัชมงคลที่เปิดให้บริการแล้ว ซึ่งในส่วนของบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL นั้นพร้อมให้ความร่วมมือกับผู้ที่เดินรถรายใหม่

“การประมูลเป็นอำนาจของคณะกรรมการมาตรา 13 แต่บอร์ด รฟม.เห็นว่าวิธีการเดินรถควรจะต่อเนื่องเพราะสีน้ำเงิน (บางซื่อ-หัวลำโพง) ระบบใต้ดินที่ทาง BMCLเดินรถอยู่แล้วจึงเห็นว่าถ้าสีน้ำเงินต่อขยาย BMCL เป็นผู้เดินรถก็จะเชื่อมต่อสะดวกมากขึ้น ถ้าเชื่อมต่อไม่ได้ผู้โดยสารจะต้องเปลี่ยนรถที่ท่าพระและเตาปูนจะไม่สะดวก ดังนั้นไม่ว่าจะเปิดประมูลหรือเจรจาตรงกับ BMCL ก็ต้องให้เดินรถเชื่อมต่อกัน บอร์ดเสนอแนวทาง ซึ่ง กก.มาตรา 13 ต้องมีการประชุมรับรองมติเรื่องประมูลอีกครั้ง หากเห็นว่าควรเจรจาก็ต้องนำเรื่องเสนอไปที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติเปลี่ยนจากประมูลแบบ PPP เป็นเจรจาตรง BMCL แต่เชื่อว่าวิธีการเจรจาจะเร็วกว่าการเปิดประมูลใหม่แน่นอนแม้ต้องขออนุมัติ ครม.ใหม่ ซึ่งขณะนี้งานเดินรถล่าช้าแล้วในขณะที่การก่อสร้างงานโยธาคืบหน้า 60% แล้วถ้ารางเสร็จไม่มีรถวิ่งประชาชนจะยิ่งเดือดร้อน” พล.อ.ยอดยุทธกล่าว

ด้านนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯ รฟม.กล่าวว่า ที่ต้องการให้เดินรถต่อเชื่อมกันนั้นเพราะสถานีเชื่อมต่อที่เตาปูนมี 3 สายมาเจอกันอยู่คนละชั้น ผู้โดยสารต้องเสียเวลาลงจากสายหนึ่งไปต่อสายหนึ่ง ถ้าตารางเวลาเดินรถไม่ตรงกันก็จะยิ่งเสียเวลาในการรอขบวนใหม่มากขึ้น และเห็นว่าการเจรจากับ BMCL รับจ้างเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หรือ PPP Gross cost ซึ่งเป็นสัญญาคนละรูปแบบกับสัมปทานเดินรถสีน้ำเงินสายเฉลิมรัชมงคล (PPP-Net Cost ไม่ใช่ปัญหา รวมถึงการเจรจากับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC ผู้รับเหมาสีน้ำเงินส่วนต่อขยายสัญญา 4 งานก่อสร้างทางรถไฟฟ้ายกระดับจากช่วงท่าพระ-หลักสอง ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร รวมศูนย์ซ่อมบำรุงบริเวณถนนเพชรเกษม 47 กับถนนเพชรเกษม 80 วงเงิน 13,330 ล้านบาท เพื่อให้ปรับลดเนื้องานศูนย์ซ่อมบำรุงลง ในส่วนของการจัดซื้ออุปกรณ์ซึ่งมีวงเงินส่วนนี้ประมาณ 1,700 ล้านบาทท ซึ่งเชื่อว่า ซิโน-ไทยฯ จะไม่มีปัญหาในการปรับแก้สัญญาเพราะทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาถึงการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) วงเงิน 29,225 ล้านบาท ซึ่งบอร์ดได้พิจารณาอย่างรอบคอบ โดยยึดผลประโยชน์ส่วนรวมแล้วเห็นว่าไม่ควรมีการปรับแก้เงื่อนไขและหลักเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติ และการให้คะแนนการประกวดราคา (TOR) แต่อย่างใด เพราะ TOR เดิมที่ทำได้ตั้งเกณฑ์ไว้สูงเพื่อความมั่นใจว่าบริษัทที่เข้ามาจะไม่ทิ้งงาน ซึ่งหลังจากนี้จะให้ยื่นเอกสารประมูลได้ประมาณวันที่ 19 กันยายนนี้ และเริ่มเดินหน้าก่อสร้างได้ เดิมขายซองประมูลมีเอกชนมาซื้อถึง 31 ราย แต่มี 1 รายขอให้ปรับแก้ TOR ถ้าปรับให้แล้วอีก 30 รายร้องเรียนจะมีปัญหาอีก

“บอร์ดเห็นว่าเกณฑ์ที่ รฟม.กำหนดไว้มีความเหมาะสมแล้ว เพราะโครงการมีมูลค่าสูงเป็นหมื่นล้าน ผลงานของผู้ยื่นข้อเสนอก็ต้องระดับ 5,000 ล้านบาท จะให้ผ่านงานแค่ 500 หรือ 1,000 ล้านบาทมารับงาน ก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงว่าเขาจะทำงานไม่ได้ เราต้องตั้งเกณฑ์ให้สูงไว้ก่อน เพื่อให้ได้บริษัทที่มีมาตรฐาน และยืนยันว่าเราไม่ได้ล็อกสเปกให้รายใหญ่ เพราะรายเล็กกว่าจะมาก็ได้ โดยรวมตัวกันเป็นจอยต์เวนเจอร์เพื่อให้มีเงินทุนมั่นคงขึ้น ไม่มีการปิดกั้นใดๆ” พล.อ.ยอดยุทธกล่าว
ส่วนสายสีเขียวใต้ (สำโรง-สมุทรปราการ) บอร์ดเห็นชอบให้รฟม.เดินรถเอง ในรูปแบบ PSC (รัฐลงทุนจะซื้อระบบและตัวรถไฟฟ้าเอง) วงเงินประมาณ 9,000 ล้านบาท (รถไฟฟ้า 13 ขบวนๆละ 3 ตู้ รวมทั้งสิ้น 39 ตู้) โดยให้รฟม.เร่งเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรองรับในการเดินรถเอง ซึ่งยังมีเวลาประมาณ 2 ปี ทั้งนี้การเดินรถเองจะส่งผลดีต่อรฟม.และรองรับการเดินรถไฟฟ้าในอนาคตที่สัญญาสัมปทานหรือสัญญาจ้างเอกชนครบอายุ รฟม.จะต้องรับผิดชอบการเดินรถเอง โดยหลังจากนี้จะเร่งนำเสนอกระทรวงคมนาคมและครม.เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป
นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
กำลังโหลดความคิดเห็น