BMCL เดินเกมกินรวบผูกขาดเดินรถไฟฟ้าสีน้ำเงินส่วนต่อขยายโดยไม่ต้องประมูล ล็อบบี้ผ่าน คสช.อ้างเปิดประมูลต้นทุนสูง และกระบวนการล่าช้า ด้าน รฟม.รับลูกกลับลำกลางทาง เลิกแนวทางประมูลตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 เป็นเจรจาตรง BMCL จับตารัฐได้ไม่คุ้มเสีย เชื่อ “ซิโน-ไทย” จ่อเรียกค่าชดเชยสัญญา 4 เหตุถูกลดเนื้องานเดปโป้ที่หลักสอง
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยถึงที่มาของการปรับเปลี่ยนแนวทางการคัดเลือกเอกชนดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ จากเดิมที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะใช้วิธีเปิดประกวดราคาแข่งขันโดยคณะกรรมการมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 อยู่ระหว่างร่างเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) มาเป็นการเจรจาตรงกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ว่า เกิดขึ้นหลังจาก BMCL มีหนังสือถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2557 เสนอให้พิจารณาแนวทางการคัดเลือกเอกชนดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ-เตาปูน (เชื่อมกับสายสีม่วงช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ซึ่ง BMCL ได้รับสัญญาเดินรถไปแล้ว) ด้วยวิธีการเจรจาตรงกับบริษัทฯ ตามกฎหมายเอกชนร่วมทุน พ.ศ. 2535 มาตรา 16 เพื่อให้ BMCL เป็นผู้มีสิทธิเดินรถไฟฟ้าในโครงการ
จากนั้น เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการ รฟม.ได้นำเรื่องดังกล่าวเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ชุดเก่า ซึ่งที่ประชุมได้เลือกให้นายชูศักดิ์ เกวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมในครั้งนั้น และบอร์ดได้มีมติรับทราบแนวทางการเจรจากับ BMCL ตามที่ รฟม.เสนอ พร้อมกับให้สัมภาษณ์สื่อว่าการเจรจาตรงกับ BMCL จะเป็นประโยชน์มากกว่าการเปิดประกวดราคาใหม่ เพราะใช้เวลาน้อยกว่าการประมูลประมาณ 1 ปี ซึ่งจะสอดคล้องกับกำหนดการเปิดเดินรถในปี 2560 อีกทัั้งการมีผู้เดินรถรายเดียวทั้งสายเฉลิมรัชมงคล ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง, สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย จะทำให้ประหยัดค่าก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (เดปโป้) เนื่องจากใช้ร่วมกับเดปโป้ พระราม 9 และปรับเดปโป้ที่หลักสองลงเหลือเพียงการใช้งานเป็นศูนย์ซ่อมแบบ Storage และ Light Maintenance ลดค่าก่อสร้างเดปโปหลักสองได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท
ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลที่ BMCL ได้อ้างในหนังสือที่ยื่นถึงหัวหน้า คสช.ที่ระบุการเจรจาตรงกับบริษัทฯ ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 มาตรา 16 ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย โดยแจงถึงประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนและส่วนรวมที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย เวลา และเดินรถต่อเนื่องครบวงจร (Loop) และหากใช้วิธีประมูลจะล่าช้าไม่ทันกับการก่อสร้างงานโยธาที่คืบหน้า 50% คาดว่าจะแล้วเสร็ตในเดือนมีนาคม 2560
ทั้งนี้ นายยงสิทธิ์กล่าวยอมรับว่า หากแนวทางการเจรจาตรงกับ BMCL ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) รฟม.จะต้องเจรจากับบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) ซึ่งเป็นผู้รับเหมาในสัญญาที่ 4 โครงการก่อสร้างสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย วงเงิน 13,380 ล้านบาท เพื่อปรับลดเนื้องานในส่วนของเดปโป้ลง
แหล่งข่าวกล่าวว่า ท่าทีของ รฟม.ในขณะนี้ขัดแย้งจากเดิม ซึ่งนายยงสิทธิ์ยืนยันมาตลอดว่า รฟม.และบอร์ดต้องการให้มีการแข่งขันในการประมูลเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายอย่างเต็มที่ โดยกำชับให้คณะกรรมการมาตรา 13 ปรับปรุง TOR ให้เปิดกว้างเพื่อให้มีผู้แข่งขันหลายราย และการให้ BMCL ผูกขาดเดินรถไฟฟ้าเพียงรายเดียว ไม่เป็นไปตามแนวทางที่ต้องให้มีผู้ให้บริการรถไฟฟ้าหลายราย เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่สมบูรณ์ ส่วนข้ออ้างรายเดียวเดินรถต่อเนื่องไม่ถูกต้อง เพราะในต่างประเทศมีผู้ให้บริการเดินรถหลายรายการต่อเชื่อมไม่มีปัญหา เพราะสามารถให้ผู้โดยสารเปลี่ยนระบบหรือเส้นทางได้แทนการให้วิ่งทะลุ
“ต้องไม่ลืมว่าสัมปทานเดินรถสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่ BMCL ได้ไปแล้วนั้นมีข้อครหาเรื่องราคาอย่างมาก จนถูกกดดันให้ยอมลดลงเหลือ 82,625 ล้านบาท ซึ่งยังสูงกว่าราคาประเมินของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ถึง 17,980 ล้านบาท ที่สำคัญ การปรับลดเนื้องานสัญญา 4 (เดปโป้ สีน้ำเงินส่วนต่อขยาย) สุ่มเสี่ยงที่บริษัท ซิโน-ไทยฯ จะเรียกชดเชยค่าเสียหายเนื่องจากได้ทำงานไปแล้ว มีเงินลงทุนที่จ่ายล่วงหน้าสำหรับสต๊อกวัสดุอุปกรณ์ ว่าจ้างคนงาน ในขณะที่่ได้ผลงานลดลง แต่อาจต้องจ่ายเหมือนเดิมจะยังทำให้เสียหาย สูญเสียมากกว่าได้ประโยชน์แน่นอน” แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับความคืบหน้าในการร่าง TOR ของคณะกรรมการ มาตรา 13 พ.ร.บ. ร่วมทุนฯ 35 ได้ประชุมพิจารณาผลการวิเคราะห์ของที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งพิจารณาตามข้อเสนอของ BMCL เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557 โดยสรุปว่าการดำเนินการโดยวิธีการประมูลจะเหมาะสมกว่าการดำเนินการเจรจาตรง โดยให้ที่ปรึกษาศึกษาวิเคราะห์เชิงตัวเลขในประเด็นต่างๆ ให้ครบถ้วน เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ มาตรา 13 ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 13 สิงหาคม 2557
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมบอร์ด รฟม.ชุดใหม่ ที่มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 ได้แจ้งให้คณะกรรมการ มาตรา 13 เร่งรัดพิจารณาข้อเสนอของ BMCL ที่ขอเป็นผู้เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายให้แล้วเสร็จในวันที่ 13 สิงหาคม 2557 เพื่อนำผลการพิจารณาเสนอบอร์ด รฟม. ในการประชุมวันที่ 19 สิงหาคม 2557