xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด ร.ฟ.ท.สั่งทบทวนค่าก่อสร้างแอร์พอร์ตลิงก์เชื่อม 2 สนามบิน ก่อนอนุมัติประมูล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ด ร.ฟ.ท.สั่งทบทวนเงินลงทุน “แอร์พอร์ตลิงก์” ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-ดอนเมือง 2.8 หมื่นล้านใหม่ เหตุเป็นค่าก่อสร้างประเมินไว้ตั้งแต่ปี 52 ก่อนเร่งอนุมัติเดินหน้าประมูลตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่คสช.เห็นชอบและให้สอดคล้องกับการก่อสร้างสายสีแดงในส่วนของสถานีบางซื่อ

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมามีมติเห็นชอบการดำเนินโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง)- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง (โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยาย ดอนเมือง-พญาไท) ระยะทาง 21.8 กม. วงเงินค่าก่อสร้าง 28,253.81 ล้านบาท โดยให้ ร.ฟ.ท.ทบทวนวงเงินค่าก่อสร้างใหม่เพื่อให้เป็นปัจจุบัน เนื่องจากตามการศึกษาได้ประเมินค่าก่อสร้างไว้ตั้งแต่ปี 2552 ในขณะที่คาดว่าจะประมูลก่อสร้างได้ต้นปี 2558 พร้อมกับนำเสนอการลงทุนในส่วนของตัวรถไฟฟ้าพร้อมกันด้วย โดยให้นำเสนอที่ประชุมบอร์ดอีกครั้งเพื่อเร่งรัดการก่อสร้างให้สอดคล้องกับการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2560 โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อ และให้เป็นไปตามแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบ

ด้านนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า บอร์ดได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.ทบทวนวงเงินค่าก่อสร้างงานโยธาใหม่ ในส่วนของค่าตัวรถไฟฟ้านั้นเบื้องต้นประเมินไว้ที่ 4,900 ล้านบาท โดยมีรถ 5 ขบวน ขบวนละ 7 ตู้ โดยเป็นรถสาย City Line 3 ขบวน และสาย Express Line 2 ขบวน ซึ่งจะมีการประเมินในส่วนนี้ใหม่ โดยเห็นว่า ควรปรับลดเหลือประมาณขบวนละ 4 ตู้เพื่อให้มีขบวนมากขึ้นสามารถวิ่งให้บริการได้ถี่ขึ้น โดยจะปรับปรุงแผนลงทุนในส่วนของตัวรถไฟฟ้าและนำเสนอบอร์ดขออนุมัติพร้อมกับการลงทุนงานโยธา ในการดำเนินโครงการระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานกรุงเทพ (ดอนเมือง)-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง (โครงการแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนต่อขยายดอนเมือง-พญาไท) ระยะทาง 21.8 กม. วงเงินค่าก่อสร้าง 28,253.81 ล้านบาท เนื่องจากเป็นราคาที่ประเมินไว้ตั้งแต่ปี 2552 พร้อมกับนำเสนอการลงทุนในส่วนของตัวรถไฟฟ้าพร้อมกันด้วย โดยให้นำเสนอที่ประชุมบอร์ดครั้งต่อไปเพื่อเร่งรัดการก่อสร้างให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบ

โดยปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2560 ทำให้ต้องเร่งรัดการก่อสร้างโครงการฯ เพื่อให้งานทั้งสองโครงการมีความสอดคล้องกันโดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อที่สามารถดำเนินการพร้อมกันได้

ทั้งนี้ สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด ดำเนินการออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 โดยโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนต่อขยายเชื่อมโยงระหว่างสนามบินดอนเมือง-สถานีมักกะสัน-สนามบินสุวรรณภูมิ ค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 28,253.81 ล้านบาท แบ่งเป็นค่างานโยธา 14,245.06 ล้านบาท ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 11,054.73 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาประกวดราคา (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) 10 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) 110.55 ล้านบาท ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมการก่อสร้าง 695.74 ล้านบาท ค่ารื้อย้ายและเวนคืนที่ดิน 290 ล้านบาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (7%) 1,847.73 ล้านบาท โดยให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายและให้สำนักงบประมาณและ/หรือกระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้ต่อไป

โดยระยะทางรวม 21.8 กม. เป็นทางวิ่งยกระดับประมาณ 18.3 กม. เป็นทางวิ่งใต้ดินประมาณ 3.5 กม. ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 48 เดือน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ 1. ช่วงพญาไท-บางซื่อ 2. ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โดยแต่ละระยะจะมี 2 สัญญา คือ สัญญางานโยธาและสัญญางานระบบรถไฟฟ้า โดยตลอดแนวสายทางจะมีการเวนคืนพื้นที่จำนวน 25 แปลง โดยเป็นที่ดินของรัฐ 4 แปลง (พื้นที่ของกรมทางหลวงและบ้านราชวิถี) และเอกชน 21 แปลง

อย่างไรก็ตาม จากผลการศึกษาเดิมประมาณการจำนวนผู้โดยสารสายสีแดงและแอร์พอร์ตลิงก์รวมกันเมื่อเปิดให้บริการในปี 2558 ที่ประมาณ 1,152,000 คนต่อวัน และ 3,173,100 คนในปี 2585 โดยในชั่วโมงเร่งด่วนจะมีผู้โดยสารที่ 5,600 คนต่อชั่วโมง ในปี 2558 และเพิ่มเป็น 16,300 คนต่อชั่วโมงในปี 2585 โดยมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 18.75% ผลตอบแทนทางการเงิน (FIRR) 16.84%
กำลังโหลดความคิดเห็น