“ยงสิทธิ์” รับลูกบอร์ด รฟม.ลงนามคำสั่งเปลี่ยนตัว กก.มาตรา 13 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 เหตุขวางเจรจา BMCL รับสัญญาเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายโดยไม่ต้องประมูล ทั้งที่ข้อมูลชัดเจรจารัฐเสียประโยชน์เอกชน เอื้อให้ผูกขาดเดินรถ ไม่โปร่งใส จับตา กก.มาตรา 13 เตรียมถกกลับมติเจรจาประเคนงานเดินรถให้ BMCL โดยไม่ต้องประมูลเร็วๆ นี้
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า การคัดเลือกเอกชนดำเนินการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กม. ส่อถีงความไม่ชอบมาพากลมากขึ้น หลังจากล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่มี พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ เป็นประธานเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ได้มีความเห็นไปยังคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ที่มีนายรณชิต แย้มสอาด รองผู้ว่าฯ รฟม.เป็นประธาน ว่าหากยืนยันเปิดประกวดราคาคัดเลือกจะต้องพิจารณาเงื่อนไขTOR ให้มีการเดินรถต่อเชื่อมเป็นวงกลมกับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเฉลิมรัชมงคลที่บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL รับสัมปทานเดินรถอยู่ โดยอ้างถึงความสะดวกของผู้โดยสาร แต่ กก.มาตรา 13 ไม่รับข้อเสนอดังกล่าว ทำให้ล่าสุดมีกระแสข่าวว่า เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯ รฟม. ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งประธานคณะกรรมการมาตรา 13 ใหม่ เป็นนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าฯ รฟม. (วิศวกรรมและก่อสร้าง) แทนนายรณชิต และเปลี่ยนกรรมการและเลขานุการจากนายสุชิน ศศิประภากุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม. เป็นนายภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานก่อสร้าง 1 รฟม.
ทั้งนี้ กก.มาตรา 13 ได้ประชุมเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม และมีมติไม่เห็นควรให้เจรจาตรงโดยวิธีพิเศษตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 มาตรา 16 ให้ BMCL เป็นผู้มีสิทธิเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เนื่องจากไม่เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นและให้เดินหน้าประกวดราคาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และที่ประชุมได้มีการรับรองมติดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ส่วนความเห็นเพิ่มเติมของบอร์ด รฟม.กรณีให้กำหนดเงื่อนไขประมูลให้ต้องสามารถเดินรถต่อเชื่อมเป็นวงกลมได้ด้วยนั้น กก.มาตรา 13 จะประชุมในวันที่ 31 สิงหาคม เพื่อพิจารณาข้อดีข้อเสีย ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงประธานและกรรมการมาตรา 13 ในขณะนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีการแทรกแซงการทำงานของ กก.มาตรา 13 เกิดขึ้นแล้วโดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนมติจากประกวดราคาเป็นเจรจาตรง
แหล่งข่าวกล่าวว่า ได้มีการประเมินเบื้องต้นกรณีประกวดราคาและให้การเดินรถเชื่อมต่อนั้นเข้าข่ายล็อกสเปกอย่างแน่นอน ซึ่งการให้ผู้ให้บริการรายเดียวกันเดินรถต่อเนื่อง ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกจากการไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถ เนื่องจากในบางเวลาผู้ให้บริการก็จะไม่เดินรถจากสถานีต้นทางถึงสถานีปลายทาง (ท่าพระ-บางซื่อ-หัวลำโพง-หลักสอง) ทุกขบวน เพราะมีความแตกต่างของจำนวนผู้โดยสารในแต่ละช่วงของเส้นทาง และการเดินรถตลอดเส้นทางด้วยความถี่เดียวกันทำให้ต้องใช้ขบวนรถมากกว่า
นอกจากนี้ โครงการสายเฉลิมรัชมงคลเป็นสัญญาสัมปทานแบบ PPP- Gross Cost ขณะนี้ทรัพย์สินเป็นของ BMCL แต่ในส่วนต่อขยายเป็นสัญญา PPP-Net. Cost ซึ่งทรัพย์สินเป็นของ รฟม. เป็นการใช้ทรัพย์สินรัฐร่วมกับเอกชน เป็นการเอาเงินหลวงไปใช้ในทรัพย์สินของเอกชนโดยไม่สามารถตรวจสอบบัญชีของ BMCL ได้ และขณะนี้โครงสร้างศูนย์ซ่อมและอุปกรณ์ของ BMCL ในสายเฉลิมรัชมงคลถึงวาระที่ต้องซ่อมบำรุงแล้วทำให้ BMCL ได้เปรียบรัฐอย่างมาก
แหล่งข่าวกล่าวว่า หาก กก.มาตรา 13 มีการกลับมติเดิมจากประกวดราคาเป็นเจรจาตรงกับ BMCL จะต้องกำหนดเงื่อนไขใหม่ พร้อมทั้งเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลังเพื่อขอความเห็นชอบก่อน หาก 2 หน่วยไม่เห็นด้วยก็เท่ากับเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ กรอบเจรจาจะต้องมีการศีกษารายละเอียดใหม่ เพราะไม่มีข้อมูลตัวเลขอ้างอิง ในขณะที่การประกวดราคามี TOR แล้ว พร้อมประกวดราคาในเดือนกันยายนนี้ อีกทั้งแนวทางเดิมได้มีการออกแบบชานชาลาให้มีการเชื่อมต่อกันผู้โดยสารสามารถข้ามไปต่ออีกขบวนได้สะดวก และลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมสีน้ำเงินส่วนต่อขยายไปแล้ว ดังนั้นการดึงไม่ให้เปิดประกวดราคายิ่งนานเท่าไรจะยิ่งเข้าทางฝ่ายที่ต้องการให้เจรจาตรงเพราะจะอ้างเหตุงานโยธาเสร็จแล้ว ระบบรถไฟฟ้าไม่มี จึงเท่ากับเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ BMCL เพื่อจะทำให้เกิดการผูกขาดระบบรถไฟฟ้าซึ่งเป็นการขัดต่อนโยบาย คสช.
“มีการตั้งข้อสังเกตสาเหตุที่ BMCL ไม่ต้องการให้ รฟม.ประกวดราคาแข่งขันทั้งๆ ที่มีความได้เปรียบเอกชนรายอื่นในหลายเรื่อง และสามารถเสนอราคาที่ต่ำกว่าได้ ว่าอาจจะเป็นเพราะความจริงไม่มีใครรู้ตัวเลขการลงทุนที่แน่นอน ที่ผ่านมาราคาที่ BMCL รับงานเดินรถสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ก็ถูกตรวจสอบว่าสูงมาก ดังนั้นจึงเกรงว่า หากประกวดราคาแข่งขันอาจมีเอกชนรายอื่นเสนอราคาที่เป็นจริงซึ่งต่ำกว่าฐานที่ BMCL ทำไว้ก็ได้” แหล่งข่าวกล่าว