กก.มาตรา 13 เดินรถสายสีน้ำเงินต่อขยายสะดุด เหตุ คตร.ตรวจสอบความโปร่งใสการคัดเลือกเอกชน “พีรยุทธ” ยอมรับ คตร.ตรวจสอบจริงแต่ไม่กระทบการพิจารณา เผย กก.มาตรา 13 แจงยังไม่ประชุมเพราะต้องรอที่ปรึกษาสรุปข้อมูลเปรียบเทียบ วิธีประมูลกับเจรจาตรง BMCL ก่อน ด้าน “ยอดยุทธ” ยันมติ กก.13 เป็นอย่างไรถือว่าสิ้นสุด เดินหน้ายื่นซองประมูลสีเขียวเหนือ 30 ก.ย. เมินเอกชนร้อง TOR สั่งแขวน “รณชิต” ดูแค่งานบริหาร
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด รฟม.วานนี้ (17 ก.ย.) ว่า ที่ประชุมยืนยันการประกวดราคาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต วงเงินค่าก่อสร้างงานโยธา 26,569 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้ผู้ที่ซื้อซองเอกสารทั้ง 31 รายยื่นข้อเสนอประกวดราคาในวันที่ 30 กันยายนนี้ โดยไม่มีการปรับปรุงเงื่อนไขการประกวดราคา (TOR) หรือขยายเวลาใดๆ พร้อมกันนี้ ได้มติแต่งตั้งรองผู้ว่าฯ รฟม. 2 คนแทนผู้เกษียณอายุ ส่วนการเดินรถส่วนต่อขยาย สายสีน้ำเงิน (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กม. นั้น บอร์ดได้มีมติชัดเจนแล้วว่าให้พิจารณาเรื่องการเดินรถต่อเนื่องเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) ว่าจะตัดสินใจอย่างไร และถือความเห็นของ กก.มาตรา 13 เป็นที่สิ้นสุด
รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เคยร้องเรียนว่าเงื่อนไข TOR ในการประมูลสายสีเขียวกำหนดเกณฑ์พิจารณาแต่ละสัญญา การกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขด้านเทคนิคไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ลักษณะกีดกันให้มีผู้ยื่นแข่งขันได้น้อยราย ไม่เป็นธรรม ซึ่งบอร์ด รฟม.ชุดก่อนหน้านี้ที่มีนางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล เป็นประธานเคยให้ รฟม.ปรับ TOR แต่กระบวนการยังไม่สิ้นสุด เมื่อมีการปรับเปลี่ยนบอร์ดชุด พล.อ.ยอดยุทธเข้ามา จึงได้มีมติให้ รฟม.จะเสนอเดินหน้าตามเดิมนั้น ปรากฏว่าทางยูนิคฯ ได้ร้องเรียนเข้ามาอีก ซึ่งบอร์ดได้หารือและยืนยันได้มติเดิมอีกครั้ง
นอกจากนี้ บอร์ดเห็นชอบแต่งตั้งนายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าฯ เป็นรองผู้ว่าฯ รฟม.ด้านกลยุทธ์และแผนงาน แทนนายชัยสิทธิ์ คุรุรัตน์ ที่เกษียณอายุ และแต่งตั้ง นายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง ผู้ช่วยผู้ว่าฯ เป็นรองผู้ว่าฯ ด้านปฏิบัติการ แทนนายรณชิต แย้มสอาด ที่ให้ย้ายไปเป็นรองผู้ว่าฯ ด้านบริหาร แทนนางกฤตยา สุมิตนันท์ ที่เกษียณอายุ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป ซึ่งมีกระแสข่าวว่าการโยกนายรณชิตจากรองผู้ว่าฯ ด้านปฏิบัติการไปเป็นด้านบริหารเพื่อไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างและการประกวดราคาใดๆ เนื่องจากก่อนหน้านี้คณะกรรมการมาตรา 13 ที่มีนายรณชิตเป็นประธาน ได้มีมติให้เดินหน้าประกวดราคาการเดินรถส่วนต่อขยาย สายสีน้ำเงิน ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งต่างจากบอร์ด รฟม. และนายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าฯ รฟม. ที่ต้องการให้ใช้วิธีการเจรจาตรงกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL จนนำไปสู่การปลดนายรณชิตออกจากประธานคณะกรรมการมาตรา 13 และประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าอีกหลายสัญญาก่อนหน้านี้
รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้เข้ามาตรวจสอบประเด็นการคัดเลือกเอกชนเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และ บางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กิโลเมตร เนื่องจากมีข้อครหาว่าอาจจะเกิดความไม่โปร่งใสและส่งผลให้คณะกรรมการมาตรา 13 ยังไม่สามารถประชุมพิจารณาใดๆ ได้ เช่นเดียวกับหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ คตร. จะต้องหยุดรอให้การตรวจสอบเรียบร้อยก่อนถึงจะดำเนินการต่อได้
ด้านนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าฯ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) รฟม. ในฐานะประธานคณะกรรมการตามมาตรา 13 พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ในการคัดเลือกเอกชนดำเนินการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ยอมรับว่า คตร.เข้ามาตรวจสอบเรื่องการคัดเลือกเดินรถจริงแต่ทาง กก.มาตรา 13 ยังไม่ได้รับการประสานเรื่องการชี้แจงใดๆ โดยได้รายงานความคืบหน้าต่อที่ประชุมบอร์ด รฟม.แล้วว่า ขณะนี้ กก.มาตรา 13 ยังไม่สามารถประชุมได้ เนื่องจากต้องรอผลการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากที่ปรึกษาโครงการก่อน ในเรื่องข้อดี ข้อเสีย ระหว่างการประกวดราคากับการเจรจาตรงกับ BMCL ซึ่งหลักในการพิจารณาคือ ต้องเดินรถต่อเนื่องตามมติบอร์ด รฟม. และยึดตาม พ.ร.บ. ซึ่งเป็นไปได้ทั้งการประกวดราคาและการเจรจาตรง โดยคาดสรุปผลศึกษาได้ใน 1-2 สัปดาห์นี้ จากนั้นจะเรียกประชุม กก.มาตรา 13 ได้
โดยประเด็นที่ กก.มาตรา 13 จะพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างวิธีประกวดราคากับการเจรจาตรงจะเป็นเรื่องความปลอดภัย ความสะดวกของผู้โดยสาร ค่าใช้จ่าย ระยะเวลา ข้อกฎหมายและความเป็นธรรมหากเปิดประกวดราคา ภายใต้เงื่อนไขการเดินรถต่อเนื่อง ซึ่งจะถูกมองว่า BMCL ได้เปรียบรายอื่น ซึ่งเชื่อว่าเมื่อมีข้อมูลครบถ้วนเพียงพอ กก.มาตรา 13 ที่มีผู้แทนจากหน่วยงานสำคัญ ทั้งอัยการ กฤษฎีกา คลัง จะพิจารณาในทุกแง่มุมได้อย่างรอบคอบ ซึ่งต้องเร่งพอสมควรเพราะตามกรอบเวลางานโยธาจะก่อสร้างเสร็จในกลางปี 2560 และเปิดเดินรถในเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งล่าช้ามาจากเดิมที่จะเปิดในปี 2560 หมายความว่าการคัดเลือกผู้เดินรถจะต้องแล้วเสร็จในต้นปี 2558 และมีเวลาในการจัดหาระบบ 36-40 เดือน ซึ่งการประกวดราคาจะไม่ทันตามกรอบเวลานี้
“หากสรุปว่าจะประมูลก็เดินหน้าไปได้เลย แต่ถ้า กก.มาตรา 13 เห็นว่าควรเจรจาตรง จะต้องเสนอไปที่กระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หากไม่เห็นด้วยก็ต้องกลับมาประมูล แต่หากทั้งสองหน่วยเห็นด้วยก็เสนอ ครม.ทบทวนมติเดิม ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะผลักดันให้รวดเร็วได้” นายพีรยุทธกล่าว