xs
xsm
sm
md
lg

ลดเต็มที่แล้ว! รฟม.ปรับค่าก่อสร้างสีส้มลง 2.6 พันล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พลเอกยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
บอร์ด รฟม.เห็นชอบหั่นราคาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มลงอีกกว่า 1.6 พันล้านจากเดิมลดไปแล้วพันล้าน รวมลดราคาลงได้ 2,648 ล้านบาท เตรียมเสนอ คค. คาดหลัง ครม.เห็นชอบเปิดประมูลได้ใน 2-3 เดือน พร้อมยืนยันรูปแบบโมโนเรลสายสีชมพูและเหลือง เปิดประมูลสัญญาเดียวรับผิดชอบก่อสร้างและเดินรถ เผยตามแผนเปิดประมูลใน มิ.ย. 59

พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 9 มี.ค. ได้มีมติเห็นชอบการปรับลดกรอบเงินลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ระยะทาง 21.2 กม. ลงอีก 1,620 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่ปรับลดไปแล้ว 1,028 ล้านบาท หรือเท่ากับปรับลดรวม 2,648 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินลดลงจาก 95,108 ล้านบาท เหลือ 92,460 ล้านบาท โดยมีการปรับลดเกรดวัสดุบางส่วนลงเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการให้บริการและความปลอดภัย

เช่น ฝ้าเพดานเดิมเป็นฝ้าปิด ปรับเป็นฝ้าเปลือย ซึ่งจะเห็นโครงหลังคา สามารถลดค่าใช้จ่ายลง 200 กว่าล้านบาท ส่วนผนังสถานีใต้ดินเดิมเป็นกระเบื้องแกรนิต ปรับลดเกรดลงหรือฝ้าเพดานสถานีใต้ดิน จากความหนา 3 มม. ลดเหลือ 2 มม. รวมถึงชะลองานเทพื้นศูนย์ซ่อมบำรุงฝั่งตะวันตกไว้ก่อน โดยสามารถปรับลดลงได้ 650 ล้านบาท ซึ่งเดิมรวมงานส่วนนี้ไว้กับการก่อสร้างด้านตะวันออกเพื่อความสะดวก

ทั้งนี้ การปรับลดดังกล่าวไม่กระทบความปลอดภัย แต่อาจไม่คงทนหรือไม่สวยงาม โดยจะสรุปรายละเอียดและเหตุผล รวมถึงกรณีการใช้วัสดุจากต่างประเทศเนื่องจาก ในประเทศไม่สามารถผลิตได้ และราคาที่ปรับตามความเป็นจริงตามภาวะค่าน้ำมันในปัจจุบัน และเสนอกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าหาก ครม.เห็นชอบประมาณปลายเดือน มี.ค.นี้จะใช้เวลาในการจัดทำราคากลางและเปิดประมูลได้ภายใน 2-3 เดือน

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี 34.5 กม. วงเงินลงทุน 56,691 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. วงเงินลงทุน 54,644 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) ขอความชัดเจนใน 4 ประเด็น คือ รูปแบบระบบรถ, ปรับกรอบวงเงินให้เป็นปัจจุบันและเหมาะสมมากขึ้น, ปรับลดค่าใช้จ่ายเผื่อเหลือเผื่อขาด (Provisional Sums), แนววิธีการคัดเลือกเอกชนที่ชัดเจน นั้น บอร์ดยืนยันรูปแบบโมโนเรลในการประกวดราคา โดยเป็นสัญญาเดียว เอกชนรายเดียว ก่อสร้างงานโยธา ระบบราง จัดหาขบวนรถไฟฟ้า รวมถึงบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง ซึ่งรูปแบบโมโนเรลมีข้อดีคือสามารถก่อสร้างได้เร็ว ใช้พื้นที่น้อย เพิ่มตู้โดยสาร เพื่อเพิ่มความจุผู้โดยสารได้และสามารถไต่ระดับทางลาดได้ดี โดยตามแผนที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กำหนดจะเปิดประมูลในเดือน มิ.ย. 2559

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าฯ รฟม. กล่าวว่า คณะกรรมการ PPP ต้องการความชัดเจนเรื่องการสนับสนุนเอกชน ซึ่งผลศึกษาคือ จะสนับสนุนหลังเปิดเดินรถเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปีขึ้นไป โดยวงเงินรวมต้องไม่เกินวงเงินค่างานโยธา โดยจะเสนอบรรจุรายละเอียดนี้ไว้ในทีโออาร์ประกวดราคา โดยพิจารณารายที่เสนอให้รัฐอุดหนุนน้อยที่สุด ซึ่งเป็นไปได้ที่รัฐอาจไม่ต้องอุดหนุนเลย ซึ่งข้อดีในการอุดหนุนรูปแบบนี้คือ เป็นการผ่อนจ่ายเงินอุดหนุน รัฐไม่ต้องจ่ายเป็นก้อน

นอกจากนี้ บอร์ดยังอนุมัติตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 8 กม. จำนวน 4 สถานี ค่างานโยธา 14,790 ล้านบาท โดยจะเสนอโครงการไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.ขออนุมัติแผนงาน โดยตามแผนจะแล้วเสร็จในปี 2564 พร้อมกันนี้ได้วิเคราะห์รูปแบบการลงทุนในส่วนของการเดินรถที่เหมาะสม คือ PPP Net Cost เนื่องจากรัฐไม่ต้องรับความเสี่ยงอีกด้วย

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน นั้น ครม.ได้อนุมัติงบสำหรับก่อสร้างอาคารจอดรถที่คลองบางไผ่ จาก 4 ชั้นเป็น 10 ชั้น วงเงิน 160 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้ใช้บริการให้เพียงพอ โดยอยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการคัดเลือกผู้รับจ้างว่าจะใช้วิธีพิเศษให้ผู้รับเหมาที่ทำการก่อสร้างอาคารจอดรถดำเนินการหรือเปิดประมูลใหม่ รวมถึงการก่อสร้างท่าเทียบเรือพระนั่งเกล้าเพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า ซึ่ง ครม.อนุมัติวงเงินดำเนินการ 90 ล้านบาทไว้แล้ว อยู่ระหว่างพิจารณารูปแบบการคัดเลือกผู้รับจ้างว่าจะใช้วิธีพิเศษให้ผู้รับเหมางานสัญญา 2 สายสีม่วงหรือเปิดประมูลใหม่ โดยให้สรุปเสนอบอร์ดในเดือน เม.ย.
กำลังโหลดความคิดเห็น