“คมนาคม” คาดชง ครม.5 เม.ย.นี้ขออนุมัติรถไฟฟ้าอีก 2 โครงการ โดยสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) รฟม.ได้ปรับลดค่าก่อสร้างลงกว่า 2.6 พันล้าน คาดเร่งเปิดประมูลได้ใน 3 เดือน ส่วนเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ เสนอจ้าง BEM รับงาน 2 ปี
นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งให้เร่งรวบรวมข้อมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ระยะทาง 21.2 กม. ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ทบทวนปรับลดกรอบเงินลงทุนงานโยธาโครงการลง และได้เสนอเรื่องมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว คาดว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะสามารถพิจารณาได้ในการประชุมวันที่ 5 เม.ย.นี้ ส่วน โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญา 5 (งานเดินรถ 1 สถานี) ช่วงเตาปูน-บางซื่อ ระยะทาง 1 กม. ซึ่ง รฟม.ได้เสนอการเจรจาของคณะกรรมการ มาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) กับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้นำเสนอ ครม.แล้วเช่นกัน
“เดิมคาดว่าจะเสนอรถไฟฟ้าสายสีส้มเข้า ครม.ได้เมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา แต่ รฟม.เพิ่งส่งรายละเอียดเข้ามา และตามขั้นตอนจะต้องส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พิจารณาก่อน ซึ่ง สนข.ได้ส่งเรื่องกลับมากระทรวงแล้ว คาดว่าจะสรุปเสนอ ครม.ได้ในอังคารหน้า โดยสายสีส้มเป็น 1 ใน 20 โครงการลงทุนของคมนาคมที่จะเปิดประมูลในปีนี้” ปลัดคมนาคมกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ครม.ได้มีมติเห็นชอบโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) วงเงิน 95,108 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนงานโยธาที่รัฐเป็นผู้ลงทุน โดยแบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 9,625 ล้านบาท ค่าก่อสร้างงานโยธารวม 85,483 ล้านบาท โดย ครม.ได้ให้ รฟม.ไปทำรายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องการออกแบบก่อสร้างนั้นจะต้องประหยัดและใช้วัสดุภายในประเทศ ส่วนระบบรถไฟฟ้า ระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณนั้นจะต้องสนับสนุนซูเปอร์คลัสเตอร์ เช่น ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศ และให้สนับสนุนผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมในประเทศโดยเฉพาะ SME ให้เข้ามามีส่วนร่วมและเสนอ ครม.อีกครั้ง
โดยที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ได้เห็นชอบการปรับลดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม ด้านตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) ลงอีก 1,620 ล้านบาท จากก่อนหน้านี้ที่ปรับลดไปแล้ว 1,028 ล้านบาท หรือเท่ากับปรับลดรวม 2,648 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินรวมลดลงจาก 95,108 ล้านบาท เหลือ 92,460 ล้านบาท โดยมีการปรับลดเกรดวัสดุบางส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการให้บริการและความปลอดภัย เช่น ฝ้าเพดานจากฝ้าปิดเป็นฝ้าเปลือย ลดค่าใช้จ่ายลง 200 กว่าล้านบาท ชะลองานเทพื้นศูนย์ซ่อมบำรุงฝั่งตะวันตกไว้ก่อน โดยสามารถปรับลดลงได้ 650 ล้านบาท เป็นต้น คาดว่าหลัง ครม.จะใช้เวลาในการจัดทำราคากลางและเปิดประมูลได้ภายใน 2-3 เดือน
ส่วนผลการเจรจาการเดินรถ 1 สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อ นั้น ได้ขยายเวลาจ้าง BEM จาก 1 ปี เป็น 2 ปี หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ไม่เห็นด้วยกับการจ้าง 1 ปี และต้องการให้การเดินรถ 1 สถานีสอดคล้องกับการเดินรถสายเฉลิมรัชมงคล และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ที่จะเปิดให้บริการประมาณปี 2562 ด้วยนั้น
กก.มาตรา 13 ได้ขยายเวลาจ้างเดินรถเป็น 2 ปี วงเงินค่าจ้างปีละ 52 ล้านบาท ซึ่งไม่รวมระยะเวลาในการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณ ระบบสื่อสารระบบตั๋วโดยสารที่สถานีเตาปูน ซึ่ง BEM จะเป็นผู้ลงทุน 693 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 15 เดือน จากนั้นจึงจะเป็นการบริหารการเดินรถ 24 เดือน