xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ฝันประกอบรถไฟฟ้าเอง นำร่องใช้เดินรถสายสีเขียวใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
รฟม.ดันตั้งโรงงานประกอบและผลิตรถไฟฟ้าเอง ฝันนำร่องใช้ที่สายสีเขียวใต้ “ยงสิทธิ์” เผยเร่งเดินหน้าก่อสร้างรถไฟฟ้าให้ครบ 220 กม. วงเงินลงทุนกว่า 7 แสนล้านบาท หวังพัฒนาพื้นที่รอบสถานี (TOD) สร้างที่อยู่รวมศูนย์เพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้รถไฟฟ้า เชื่อทำได้มีรายได้เลี้ยงตัวเองและลงทุนสร้างเส้นทางเพิ่มได้โดยไม่ต้องกู้

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบ 22 ปีในวันคล้ายวันก่อตั้ง รฟม.ถึงปัจจุบัน รฟม.ได้ดำเนินการให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล หรือสายสีน้ำเงินด้านตะวันออก และขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้าอีก 3 สายทาง ประกอบด้วย สายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 2559 สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) และสายสีเขียวใต้ ต่อจากสถานี BTS แบริ่ง-สมุทรปราการ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณต้นปี 2561 ทำให้รถไฟฟ้ามีระยะทางรวมประมาณ 83 กิโลเมตร และในปี 2557 รฟม. อยู่ระหว่างเร่งรัดดำเนินการประมูลเส้นทางสำคัญ ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร

ส่วนเส้นทางที่มีการออกแบบและผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ หรือ EIA แล้วพร้อมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติภายในปี 2557 ประกอบด้วย สายสีส้มตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) รวมระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร โดยหากเป็นไปตามแผนจะสามารถประกวดราคาหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ภายในปี 2558 และจะทยอยเปิดให้บริการในปี 2562-2563 และขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างการออกแบบสายสีส้มด้านตะวันตก (ศูนย์วัฒนธรรม-ตลิ่งชัน) และสายสีม่วงด้านใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ รฟม.จะสามารถให้บริการได้ครอบคลุมพื้นที่ 220 กิโลเมตร ภายใต้งบลงทุนกว่า 700,000 ล้านบาท

โดยต่อจากนี้จะเป็นช่วงยุคที่ 2 ของ รฟม. ซึ่ง รฟม.มีแนวคิดที่จะพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการเดินรถไฟฟ้าให้บริการผู้โดยสารเองเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการแบบครบวงจรและเพิ่มรายได้ จากเดิมที่ให้สัมปทานบริษัทรถไฟฟ้า กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL เป็นผู้ให้บริการเดินรถ เพราะ รฟม.ยังไม่มีความพร้อม ซึ่งในสายสีเขียวใต้ และสีเขียวเนือ รฟม.จะจัดซื้อระบบรถไฟฟ้าเอง ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมแผนที่จะเริ่มทำการผลิตรถเองโดยเริ่มจากการซ่อมและประกอบเองก่อน ซึ่ง รฟม.มีศูนย์ซ่อมบำรุงถึง 8 แห่ง สามารถใช้พื้นที่เป็นโรงงานประกอบรถไฟฟ้าได้ เป็นการใช้ประโยชน์ในศูนย์ซ่อมที่คุ้มค่าที่สุด โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเข้ามาช่วยพัฒนา ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใน 2-3 ปีนี้

“จากนี้ รฟม.จะเป็นการก้าวเข้าสู่ยุคที่ 2 ซึ่งจะให้บริการรถไฟฟ้าครบวงจรมากขึ้น เป้าหมายเพื่อให้สามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสารเข้าสู่ระบบ โดยเน้นเรื่องการผลิตรถไฟฟ้าเองและพัฒนาพื้นที่และอสังหาริมทรัพย์ในบริเวณสถานีต่างๆ (TOD) เพื่อให้คนมาอยู่รอบๆ สถานีลดการใช้รถยนต์ ซึ่งจะทำให้มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากหลักแสนคนต่อวันเป็นล้านต่อวัน และทำให้ รฟม.มีรายได้เพิ่มสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และในอนาคตจะสามารถนำรายได้มาลงทุนก่อสร้างเส้นทางใหม่ๆ โดยไม่ต้องกู้เงินพื่อให้เป็นภาระหนี้สาธารณะอีกด้วย” นายยงสิทธิ์กล่าว















กำลังโหลดความคิดเห็น