xs
xsm
sm
md
lg

งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสีเขียวใต้เร็วกว่าแผน เปิดแน่ไม่เกินต้นปี 61

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายยงสิทธิ์  โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
รฟม.เผยงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสีเขียว (สำโรง-สมุทรปราการ) เร็วกว่าแผนเกือบ 4% คาดเปิดให้บริการได้ไม่เกินต้นปี 61 ยังไม่ตัดสินใจเจรจาจ้างบีทีเอสเดินรถ ชี้ข้อดีประชาชนสะดวกไม่ต้องต่อรถ แต่ไม่คุ้มค่าในการลงทุน พร้อมเตรียมขยายสถานีออกไปถึงบางปูอีก 7-9 กม. ซึ่งได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไว้แล้ว

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียวใต้ช่วงสำโรง-สมุทรปราการ ระยะทางทั้งหมด 23 กิโลเมตรว่า ขณะนี้การก่อสร้างความคืบหน้าในภาพรวม 35.03% โดยแผนงานที่กำหนด 30.15% เร็วกว่าแผนงาน 3.99% โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในประมาณปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 อย่างไรก็ตาม ในอนาคต รฟม.ยังมีแผนที่จะขยายสถานีออกไปถึงบริเวณบางปูอีกประมาณ 7-9 กิโลเมตร ซึ่งได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไว้แล้ว แต่หากจะก่อสร้างจริงจะต้องทำการศึกษารายละเอียดใหม่เพื่อพิจารณาอีกครั้ง คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลานานถึง 10 ปี เนื่องจากตามนโยบายของรัฐบาลต้องการให้ก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตเมืองที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นก่อน 

สำหรับสถานีซ่อมบำรุงขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว 47% นอกจากนี้ รฟม.ยังมีแนวคิดที่จะก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าที่บริเวณสถานีเคหะสมุทรปราการสำหรับประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยการดำเนินการจะมอบให้การเคหะแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการ

สำหรับแนวทางในการเดินรถสายสีเขียวใต้จะมีการพิจารณา 2 รูปแบบ กรณีแรกคือเจรจาให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอส) เป็นผู้เดินรถ ซึ่งวิธีนี้ประชาชนจะได้รับความสะดวก แต่ รฟม.จะไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน โดยคาดว่าหากเปิดให้บริการ รฟม.จะมีคนใช้บริการประมาณ 1.5-1.8 แสนคนต่อวัน ในขณะนี้บีทีเอสมีประชาชนใช้บริการ 1 ล้านคนต่อวัน ดังนั้น รฟม.เห็นว่าไม่คุ้มทุนจึงต้องพิจารณาอีกครั้ง

ส่วนวิธีที่สองคือ รฟม.จะลงทุนจัดหาบริษัทเอกชนเข้ามารับจ้างเดินรถเอง ซึ่งวิธีนี้มีข้อเสียคือ ประชาชนอาจจะต้องเปลี่ยนถ่ายรถที่บริเวณสถานีสำโรง ซึ่งได้วางแผนทำชานชาลาอยู่บริเวณตรงกลางมีรูปแบบคล้ายๆ สถานีสยามฯ เพื่อให้ประชาชนเดินไปขึ้นรถประมาณ 30 เมตร อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเลือกการเดินรถรูปแบบใดก็สามารถดำเนินการได้ทั้งสิ้น เนื่องจากระบบโยธาได้ออกแบบมาเพื่อรองรับไว้แล้ว และหากดำเนินการก่อสร้างด้านโยธาแล้วเสร็จจะต้องเร่งหาวิธีการเดินรถ ซึ่ง รฟม.จะไม่ใช้วิธีสัมปทานรูปแบบ PPP-Gross Cost เนื่องจากมีความล่าช้า
กำลังโหลดความคิดเห็น