สนข.เตรียมเสนอตั้งหน่วยงานบริหารตั๋วร่วมและรายได้กลาง (CTC) ภายใต้คมนาคมก่อนปรับเป็นบริษัทจำกัด รัฐถือหุ้น 40% ผู้ประกอบการระบบขนส่ง 20% และเปิดประมูลอีก 40% คาดทุนจดทะเบียน 700-800 ล้าน ส่วนระบบตั๋วร่วมเจรจากลุ่ม BTS สรุปแล้ว คาดเริ่มงานติดตั้งระบบ 1 ต.ค. 57
นายเผด็จ ประดิษฐ์เพชร ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.จะเสนอรูปแบบรายละเอียดการจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบตั๋วร่วมและศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (CTC) ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมที่มีนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ในวันที่ 19 สิงหาคม ซึ่งคณะทำงานฯ ได้สรุปรูปแบบจัดตั้งแล้วว่าจะเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงคมนาคมและปรับเป็นบริษัทจำกัดต่อไป โดยร่วมทุนกับเอกชนดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) คาดว่าจะมีทุนจดทะเบียนประมาณ 700-800 ล้านบาท โดยภาครัฐถือหุ้น 40% (ใช้ระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House หรือ CCH เป็นทุนส่วนนี้) เอกชน 40% (เปิดประกวดราคา) และผู้ประกอบการที่ให้บริการระบบขนส่งมวลชน เช่น BTS, BMCL เป็นต้น 20% โดยคาดว่าขั้นตอนจัดตั้งจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี
ทั้งนี้ ในการกำหนดเงื่อนไขคัดเลือก (TOR) เอกชนในสัดส่วน 40% นั้นจะกำหนดยื่นเอกสาร 3 ซอง คือ ด้านคุณสมบัติ ด้านเทคนิค และด้านราคา ซึ่งราคาจะแข่งขันที่ข้อเสนอค่าดำเนินงานเชื่อมระบบ (Transaction) ซึ่งระบบขนส่งโดยทั่วไป ค่า Transaction จะไม่เกิน 1% ส่วนร้านค้าที่ร่วมในบัตรระบบตั๋วร่วมนั้นค่า Transaction จะไม่เกิน 1.5% และใน TOR จะกำหนดด้วยว่า หากจำนวน Transaction เพิ่มขึ้นในระดับหนึ่งจะต้องลดค่า Transaction ลงด้วย
“รูปแบบของ CTC นั้นได้ผ่านการพิจารณามาหลายรอบและสรุปไว้แล้ว แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหาร จึงเสนอให้ปลัดคมนาคมคนใหม่รับทราบก่อนเดินหน้าจัดตั้ง ซึ่งตามแผนจะดำเนินการจัดตั้ง CTC คู่ขนานไปกับการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางระบบตั๋วร่วม (Central Clearing House หรือ CCH) เพื่อให้ CTC ได้ทันที” นายเผด็จกล่าว
สำหรับความคืบหน้าโครงการจัดทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลางระบบตั๋วร่วมนั้น เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม คณะกรรมการประกวดราคาฯ ได้สรุปผลการเจรจาต่อรองรับกลุ่มบีเอสวี (BSV) ประกอบด้วย บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพร่วม จำกัด (มหาชน) หรือ BTS กับกลุ่มบริษัท สมาร์ท แทรฟิค จำกัด และบริษัท วิกซ์ โมบิลิตี้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 339 ล้านบาทแล้ว โดยเอกชนยอมปรับลดราคาลงอีกเล็กน้อย และในขณะเดียวกันได้ขอให้เอกชนเพิ่มอุปกรณ์บางตัวให้ โดยจะนำผลเสนอกระทรวงคมนาคมและเพื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมทั้งส่งร่างสัญญาไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดแบบคู่ขนาน เพื่อเร่งลงนามในสัญญาจ้างและเริ่มงานได้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557
อย่างไรก็ตาม ข้อดีที่กลุ่ม BSV ซึ่งมี BTS ร่วมอยู่ด้วยจะทำให้การเชื่อมระบบรวดเร็วขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ BTS ได้ทำการพัฒนาระบบตั๋วร่วมกับบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าใต้ดินแล้วในระดับหนึ่ง ดังนั้นจะเหลือการเชื่อมระบบกับทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ซึ่งคงใช้เวลาไม่นาน