xs
xsm
sm
md
lg

พณ.คาดยอดจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทครึ่งปีหลังดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายน 2557 ผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศจำนวน 5,199 ราย เพิ่มขึ้น 616 ราย คิดเป็นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีจำนวน 4,583 ราย และลดลง 554 ราย คิดเป็นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งมีจำนวน 5,753 ราย
สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนมิถุนายน 2557 มีจำนวน 1,286 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนมิถุนายน 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 17,601 ล้านบาท ลดลงจำนวน 2,682 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งมีจำนวน 20,283 ล้านบาท และลดลงจำนวน 12,951 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2556 ซึ่งมีจำนวน 30,552 ล้านบาท ประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ก่อสร้างอาคารทั่วไปจำนวน 552 ราย อสังหาริมทรัพย์จำนวน 262 ราย และขายส่งเครื่องจักร จำนวน 127 ราย ตามลำดับ
ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2557 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 564,904 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 10.79 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 394,178 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,059 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 169,667 ราย
อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ในครึ่งปีแรก 2557 มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศจำนวน 29,466 ราย ลดลง 1,454 ราย คิดเป็นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลัง 2556 และลดลง 6,916 ราย คิดเป็นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2556 สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในครึ่งปีแรก 2557 มีจำนวน 5,850 ราย ลดลงจำนวน 6,194 ราย คิดเป็นร้อยละ 51 เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลัง 2556 และเพิ่มขึ้น จำนวน 459 ราย คิดเป็นร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2556 มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในครึ่งปีแรก 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 118,761 ล้านบาทลดลง จำนวน 39,617 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลัง 2556 และลดลง จำนวน 101,653 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2556
สำหรับแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทในช่วงครึ่งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค.) คาดว่าน่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงต้นปี (ม.ค.-มิ.ย.) เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2557 ที่สูงที่สุดในรอบ 8 เดือน และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้เร่งดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันการใช้จ่ายจากทางภาครัฐ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟรางคู่ รถไฟฟ้า 10 สายมาตรการสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 8 แห่งการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2557 และจัดทำงบประมาณปี 2558 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นในการลงทุนกลับมาอีกครั้ง และผลักดันให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในครึ่งปีหลังมีทิศทางที่ดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น