xs
xsm
sm
md
lg

เผยพม่าให้สัมปทานท่าเรือยาว 70 ปี จูงใจญี่ปุ่นลงทุนพัฒนาเขต ศก.พิเศษติลาวา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.เผยพม่าเร่งดึงเอกชนลงทุนพัฒนาท่าเรือ ปรับเงื่อนไขให้สัมปทานยาว 70 ปี จับตาญี่ปุ่นลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจท่าเรือติลาวาพื้นที่กว่า 1.4 แสนไร่ ยังมั่นใจไม่ย้ายฐานผลิตรถยนต์และนิคมอุตฯ จากไทย โฟกัสด่านแม่สอด เผยมูลค่าการค้าเติบโตสูงปีละกว่า 10% คาดปี 57 ทะลุ 5 หมื่นล้าน เร่งขยาย 4 เลน หนุนแนว East-West Corridoor เชื่อมพม่าจากท่าเรือเมาะละแหม่ง-ไทย-เวียดนามที่ท่าเรือดานัง ขนส่งสะดวก ลดต้นทุนลอจิสติกส์

นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า ตามกรอบข้อตกลงอาเซียนในด้านการขนส่งสินค้าผ่านแดน ประเทศสมาชิกจะต้องเตรียมเส้นทางการขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับและอำนวยความสะดวก ซึ่งในแนว East-West Corridoor (ตะวันตก-ตะวันออก) จากท่าเรือเมาะละแหม่ง-แม่สอด จ.ตาก-สุโขทัย-พิษณุโลก-ขอนแก่น-มุกดาหาร-สะหวันนะเขต (สปป.ลาว)-ลาวบาว (เวียดนาม)-ท่าเรือดานัง มีความสำคัญ โดยมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านทั้งหมดมีกว่า 9 แสนล้านบาทต่อปี เฉพาะไทย-พม่ามีสัดส่วนกว่า 1.9 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งด่านแม่สอดมีประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี มีการเติบโตสูงปีละกว่า 10% ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนด่านสังขละบุรีมูลค่ากว่าแสนล้านบาทต่อปีแต่เป็นการนำเข้าพลังงาน จึงมีการสนับสนุนการค้าที่ด่านแม่สอด ซึ่งช่วง 6 เดือนแรกปี 57 มูลค่าการค้าถึง 2.8 หมื่นล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะสูงถึง 5-6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนใน 5 พื้นที่ 6 ด่าน รวมด่านแม่สอดอยู่ด้วย ซึ่งในส่วนของเส้นทางในประเทศไทยและเวียดนามค่อนข้างสมบูร์กว่าพม่า โดยไทยกำลังพัฒนาถนนเป็น 4 ช่องจราจรจากตาก-แม่สอด-ข้ามสะพานแม่สอด ฝั่งพม่าจะพัฒนาจากท่าตอน-กอกอแระ-เมาะละแหม่ง ระยะทาง 120 กม. เพื่อเชื่อมโยงกัน ซึ่งปัจจุบันเมื่อเข้าพม่าไปสู่ท่าเรือเมาะละแหม่ง รถขนส่งต้องใช้เวลา1 วัน ในขณะที่ตามกรอบข้อตกลงอาเซียนจะมีการพัฒนาเพื่อเชื่อมท่าเรือน้ำลึกสองฝั่ง คือ ท่าเรือดานัง (เวียดนาม) และท่าเรือเมาะละแหม่ง ซึ่งอนาคตพม่าจะมีการพัฒนาเป็นท่าเรือน้ำลึก ห่างจากจุดเดิมที่เป็นท่าเรือในแม่น้ำสาละวินออกไปปากอ่าวประมาณ 70 กม. โดยรอเงินลงทุนจากต่างประเทศ

โดยพม่าให้ความสำคัญกับท่าเรือ ตั้งแต่ด้านเหนือติดทางอินเดีย มีท่าเรือจ้าวเพียว จีนรับสัมปทานเพื่อขนส่งพลังงาน ก๊าซ และมีแผนพัฒนาอุตสาหกรรมครบวงจรในอนาคต, ท่าเรือติลาวา (ย่างกุ้ง) ปัจจุบันบริษัท ฮัทชิสัน จากฮ่องกงรับสัมปทาน และจะมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 1.4 หมื่นไร่เพิ่มเติม โดยให้สัมปทานญี่ปุ่นเข้ามาร่วม, ท่าเรือทวาย ให้สัมปทานบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ของไทย, ท่าเรือเมาะละแหม่ง กำลังหาผู้ลงทุน

“แม้ปัจจุบันโครงสร้างพื้นฐานของพม่ายังมีปัญหาแต่มีนักลงทุนเข้าไปจำนวนมาก ส่วนการพัฒนาท่าเรือของพม่าต่างจากไทยคือ พม่าเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาโดยให้สิทธิพิเศษดึงดูด เช่น ออกกฎหมายใหม่อายุสัมปทานบริหารท่าเรือถึง 70 ปี ส่วนไทยให้อายุ 30 ปี แต่ไทยได้เปรียบเรื่องความมั่นคง โดยประเมินการลงทุนจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ กำลังการผลิตในประเทศ การคาดการณ์ปริมาณสินค้านำเข้า-ส่งออก ซึ่งเห็นว่าเงื่อนไขการเชิญชวนเอกชนลงทุนของพม่าโดยเฉพาะท่าเรือติลาวาที่พม่าจะให้ญี่ปุ่นเข้ามาพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ คงต้องดูว่าญี่ปุ่นจะพัฒนาอุตสาหกรรมใดบ้าง ถึงจะทราบว่าจะมีกระทบต่อไทยในการพัฒนาท่าเรือปากบาราและแหลมฉบังเฟส 3 ในอนาคตหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาญี่ปุ่นยืนยันไม่มีแผนย้ายฐานการผลิตรถยนต์และนิคมฯ หลักๆ ในไทย แต่อาจจะมีบางส่วนที่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคของพม่าอาจจะมาลงทุนที่พม่าโดยตรง” นายพีระพลกล่าว

ด้านนายอโณทัย ถึกเกิด ผู้จัดการประจำพม่า บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ที่พม่าห่างจากเมืองเมาะละแหม่งประมาณ 60 กม. สัมปทาน 90 ปี ปัญหาที่พบขณะนี้คือการขนส่งมีต้นทุนสูงเพราะโครงสร้างพื้นฐานในพม่ายังไม่พร้อม ถนน สะพานเล็ก รับน้ำหนักบรรทุกใหญ่ไม่มาก จำกน้ำหนักรวมรถสิบล้อไม่เกิน 34 ตัน (น้ำหนักรถ 15 ตัน สินค้า 15-17 ตัน) การมีโรงงานในพม่าจะช่วยด้านลอจิสติกส์ และแข่งขันด้านราคาได้ เพราะปัจจุบันต้องขนส่งปูนถุงโดยลงเรือจากตรัง-ย่างกุ้ง ประมาณ 2-3 วัน และต่อรถมาที่เมาะละแหม่งระยะทางประมาณ 380 กม. มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 8-10 ด่าน เฉลี่ย กม.ละ 1 บาท ทำให้ราคาขายสูงกว่าปูนในพม่าประมาณ -15% แต่บริษัทได้เปรียบเรื่องคุณภาพดีกว่า โดยในพม่ามีโรงงานปูนประมาณ 10 แห่ง


ท่าเรือติลาวา ของพม่า มีแผนพัฒนา โดยร่วมทุนกับญี่ปุ่น


กำลังโหลดความคิดเห็น